กาแฟจักรยาน ‘ความสุขเคลื่อนที่’ ของแบฮา

หลังจากใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับการทำงานในเมืองหลวงมากว่า 30 ปี จนวันที่ตัดสินใจกลับบ้าน เพื่อมาดูแลบุพการี กระทั่งพวกท่านจากไป ชีวิตของ ‘แบฮา’ ก็ย่างเข้าสู่วัยเกษียณ วัยที่แบฮามองว่า จะได้เริ่มต้นใช้ชีวิตไปตามความฝันของตนเอง… .

‘เพราะอายุไม่ใช่เพดานกำหนดเกณฑ์ว่าเราทำอะไรได้ ไม่ได้ ไม่ว่าคุณอายุเท่าไหร่ก็สามารถทำทุกสิ่งได้ตามที่อยากทำครับ’

มนุษย์ต่างวัยพาลงใต้ไปยังเมืองปัตตานี ทำความรู้จัก ‘แบฮา’ อัษฎา อิสเฮาะ วัย 60 ปี บาริสต้าวัยเกษียณ เจ้าของร้าน ‘กาแฟจักรยาน’ ที่ขายเพียง ‘อเมริกาโน่ร้อน’ เมนูเดียวเท่านั้น

ความสุขเคลื่อนที่ของแบฮา

ท่ามกลางการแข่งขันของร้านกาแฟที่เปิดใหม่เรื่อยๆ ในทุกหัวระแหงของจังหวัดปัตตานี แต่แบฮาก็ยังเลือกที่จะเปิดร้านขายกาแฟเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งร้านในจังหวัดนี้ แม้คู่แข่งส่วนมากจะเป็นคนวัยหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยพลัง แต่แบฮาก็พอใจกับการขายกาแฟในแบบฉบับของตนเองบนรถจักรยานสีแดงคู่ใจ ที่แบฮาเรียกว่า ‘ความสุขเคลื่อนที่’

ร้านกาแฟของคนอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ร้านกาแฟของแบฮา อยู่บนหลังจักรยานที่แบฮาออกแบบให้พอดีกับตัวเอง ตั้งแต่เคาน์เตอร์กาแฟที่ไม่ต่างอะไรจากร้านกาแฟสโลว์บาร์ทั่วไป โครงสร้างหลังคาจากท่อพีวีซี เพื่อความเบา พื้นที่ใช้สอยที่ได้รับการจัดวางอย่างลงตัว ไม่ว่าจอดอยู่ตรงไหน หรือปั่นไปที่ใด ก็สามารถดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นได้เสมอ . “ที่เลือกทำร้านกาแฟจักรยาน เพราะเรามองว่าเป็นการลดต้นทุน แถมยังได้ออกกำลังกาย บางวันที่ขายไม่ได้ เราก็คิดเสียว่าเราได้พาร่างกายมาออกกำลัง”

สำหรับเมนูที่แบฮาเลือกขายคืออเมริกาโน่ร้อน ภาษาชาวบ้านคือ กาแฟดำ คือการนำเมล็ดกาแฟคั่วมาบดด้วยเครื่องบดมือ แล้วใช้วิธีการดริป (Drip) ด้วยการเทน้ำร้อนผ่านเนื้อกาแฟที่บดละเอียด จนค่อยๆ สกัดรสชาติของกาแฟออกมาทีละนิดๆ ซึ่งทุกขั้นตอนยันเสิร์ฟกาแฟถึงมือลูกค้า แบฮาทำเองทั้งหมด เรียกว่าใช้พลังงานคนอย่างเดียว แม้จะใช้เวลา แต่ลูกค้าทุกคนก็ยินดีที่จะรอ ค่อยๆ ทำไปแบบ ‘สโลว์ไลฟ์’

เหตุผลที่ขายแค่อเมริกาโน่เมนูเดียวแบฮาบอกว่า “เพราะเมนูเดียวเพียงพอแล้วสำหรับจักรยานคันนี้ และอยู่ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ เราเลือกทำการตลาดแบบ Niche market คือเฉพาะกลุ่ม ปั่นจักรยานลัดเลาะไปตามซอยต่างๆ ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร ทำไปตามกำลังของเราก็พอ”

ก่อนจะมาปั่นจักรยานขายกาแฟ

ชีวิตบาริสต้าวัยเกษียณคนนี้เพิ่งจะเริ่มต้นได้ประมาณ 3 เดือนกว่าๆ หากย้อนกลับไปสักประมาณ 30 ปี แบฮาเล่าว่า เขาคือหนุ่มต่างจังหวัดคนหนึ่งที่พอเรียนจบก็มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวง ใช้ชีวิตเป็นหนุ่มออฟฟิศอยู่ในกรุงเทพฯ ทำงานพัฒนาตัวเอง จนมีโอกาสได้ทำหน้าที่ดูแลโปรเจกต์ใหญ่ๆ ให้กับบริษัทหลายบริษัท จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชีวิตของแบฮาก็มีเหตุให้ต้องกลับบ้านเกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากพ่อแม่ที่อยู่ในวัยชราเกิดเจ็บป่วยและเริ่มติดเตียง ทำให้แบฮาตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ จากนั้นชีวิตในฐานะลูกชายก็เริ่มต้นขึ้น แบฮาทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่จนวาระสุดท้ายของท่านทั้งสอง

หลังจากนั้นแบฮาก็เริ่มต้นใช้ชีวิตของตนเองอย่างเต็มที่ แต่เขาไม่คิดกลับไปทำงานเดิม “เราอายุขนาดนี้แล้ว หลายๆ บริษัทอาจจะไม่เลือกคนวัยนี้เข้าทำงาน แต่เรามีสิทธิ์ที่จะทำงานของตนเอง งานที่เราอยากทำ หรือเป็นความฝันที่เราอยากทำ”

แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่นี่คือประกายความหวังของชายคนนี้

ปัจจุบันกาแฟจักรยานของแบฮาเป็นที่รู้จักของคนอำเภอเมือง ปัตตานี มาร่วมเกือบ 3 เดือนแล้ว ทุกๆ 7 โมงเช้า แบฮาจะเริ่มปั่นจักรยานออกมาขายกาแฟ จุดที่หนึ่งคือแถวถนนกะลาพอ ห่างจากบ้าน 500 เมตร ขายราว 2 ชั่วโมง แล้วค่อยขยับไปแถวศูนย์ราชการจังหวัด การหาจุดจอดขายกาแฟของแบฮาจะเน้นทำเลที่ผู้คนพลุกพล่าน เป็นศูนย์รวมของหน่วยงาน หรือว่าร้านค้า เพราะเป็นจุดที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่าย พอตกบ่ายก็จะปั่นจักรยานกลับบ้านเพื่อกลับมาคั่วเมล็ดกาแฟ ไว้เป็นวัตถุดิบในวันต่อไป

สำหรับการขายกาแฟของแบฮา “ตอนนี้มองว่ายังเป็นแค่การเริ่มต้น หลังจากนี้ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าติดใจในกาแฟของเรา พอลูกค้ายอมรับได้ เราก็ค่อยมาคิดว่าแล้วเราจะมีการคั่วเมล็ดกาแฟอย่างไรให้รสชาติออกมาดียิ่งขึ้น จากนั้นก็ค่อยๆ ตั้งเป้าหมายให้ตนเองไปเรื่อยๆ”

เป้าหมายที่แบฮาพูดถึงคือการทำกาแฟให้เป็นแบรนด์ของตนเอง แต่ ณ วันนี้แบฮาบอกว่า ขอเสาะหาตลาดก่อน สุดท้ายแล้วจะไปถึงเป้าหมายนั้นหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าวันนี้ แบฮาได้นำประสบการณ์และความชอบมาลงมือทำแล้ว

Credits

Author

  • อชิตา พุ่มแจ้

    Author & Drawมนุษย์เป็ดที่กำลังฝึกหัดภาษาจีน ฝันอยากเป็นนักร้องเสียงเพราะ แต่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักร้องเสียงเพี้ยน

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ