รู้จัก ‘จี้เพ็ก’ ยูทูบเบอร์รุ่นคุณย่าที่ส่งต่อเคล็ดลับความอร่อยให้รุ่นลูกหลานผ่านโลกออนไลน์

สถานะยูทูบเบอร์ของ ‘จี้เพ็ก’ ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความตั้งใจของตัวเอง แม้จะหลงรักการทำอาหารมาแต่เด็กก็ตาม

การเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ของหญิงวัย 76 เริ่มจากการที่ลูกชายของเธอบันทึกขั้นตอนการทำเมนูหมูฮ้องแล้วอัปโหลดทิ้งไว้ใน YouTube ก่อนจะมาดูอีกที 3 ปีให้หลัง ถึงได้รู้ว่ามีคนเข้ามาชมคลิปนั้นหลายหมื่นคน

นั่นคือที่มาของการเป็นยูทูบเบอร์รุ่นใหญ่ที่เปลี่ยนอาหารทำกินเองในครอบครัวให้เป็นสูตรลับความอร่อยที่คนทั่วประเทศเข้าถึงได้

ของมีค่าที่รอการค้นพบ

ปราณี มานะจิตต์ หรือที่ฟอลโลเวอร์หลักแสนรู้จักกันในนามของ ‘ จี้เพ็ก ’ เป็นคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน เกิดและเติบโตในอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

ครอบครัวของเธอมีลูกทั้งหมด 7 คน โดยจี้เพ็กเป็นลูกคนที่ 5 และเป็นลูกเพียงคนเดียวที่ชื่นชอบการทำอาหาร เมื่อครั้งยังเด็กเธอจะคอยเป็นลูกมือของแม่ซึ่งทำขนมสดขาย รวมไปถึงเวลาที่แม่ทำอาหารให้ทุกคนในบ้านกิน

“คำว่า ‘จี้’ เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่าพี่สาว ความหมายเดียวกับคำว่าเจ๊นั่นแหละ แต่แทนที่จะเรียกเจ๊เพ็กก็เรียกจี้เพ็กแทน ส่วนผู้ชายแทนที่จะเรียกว่าเฮีย คนที่นี่จะเรียกว่าโก

“สมัยเด็กๆ จี้เพ็กจะคอยเป็นลูกมือแม่ แม่มีอาชีพทำขนมสด จำพวกข้าวเหนียวหน้าต่างๆ ขนมเปียกปูน ข้าวต้มมัด ถั่วแปบ ขนมลูกตาล รวมทั้งเกี่ยมโก้ย ซึ่งเป็นขนมถ้วยพื้นเมืองของคนภูเก็ต แม่ขายที่บ้านแล้วก็ไปฝากวางขายตามร้านกาแฟในภูเก็ตด้วย พี่น้องคนอื่นๆ ไปเรียนกันหมด บางคนไปเรียนถึงกรุงเทพฯ ส่วนเราอยู่ช่วยแม่แล้วก็ใช้ชีวิตอยู่ที่ภูเก็ตตลอด เลยได้วิชาแล้วก็เคล็ดลับในการทำอาหารจากแม่มาเยอะ”

จี้เพ็กบอกว่าการทำขนมสดขายเป็นการวัดฝีมือคนทำพอสมควร เนื่องจากขนมเก็บได้ไม่นาน ต้องทำวันต่อวัน หากไม่อร่อย ขายได้น้อย ขนมเหลือเยอะ แม่ค้าก็จะขาดทุน แต่สำหรับขนมสดฝีมือแม่ของจี้เพ็กแล้วน้อยครั้งที่จะเหลือ

หลังเรียนจบ มศ.3 จี้เพ็กเรียนต่อ ปวช. ที่โรงเรียนการช่างสตรีภูเก็ต โดยเลือกเรียนด้านคหกรรมเกี่ยวกับการเย็บปักถักร้อยและทำอาหาร เมื่อจบมาก็ประกอบอาชีพเป็นทั้งช่างเย็บผ้า ช่างเสริมสวย ขณะที่ในยามว่างก็ทำขนมขายไปด้วย

“เราชอบทำอาหารนะ แต่ว่าไม่ได้เปิดร้านรวงใหญ่โตอะไร ชอบทำกินเองมากกว่า เพราะคนอื่นทำไม่ค่อยถูกปาก ไปกินที่ไหนก็ไม่ถูกใจเหมือนทำเอง อย่างเกลือเคยซึ่งเป็นของกินเล่นของคนภูเก็ตที่นำสับปะรด แตงกวา แล้วก็เลือดหมูมากินด้วยกันพร้อมกับน้ำราด ซึ่งคนสมัยนี้เขาจะใช้น้ำตาลปี๊บในการทำน้ำเกลือเคย ทำให้รสชาติมันเพี้ยน ถ้าจะทำให้ถูกต้องหรืออร่อยจริงๆ ตามสูตรโบราณเขาจะใช้น้ำตาลอ้อยกับน้ำตาลแดง

“หรือเมนูง่ายๆ อย่างไก่ผัดขิง บางคนเขาจะเอาไก่ลงไปผัดก่อน เสร็จแล้วถึงจะเอาขิงโรยหน้าซึ่งมันทำให้ขิงไม่สุก เคล็ดลับจริงๆ เราจะเอาขิงลงไปผัดพร้อมกับกระเทียมก่อนแล้วค่อยเอาไก่ลง จากนั้นผัดให้เข้ากัน ทำแบบนี้มันจะหอมกว่า ”

ด้วยความที่ไม่ได้เปิดร้านอาหารเป็นกิจจะลักษณะทำให้ฝีมือและเคล็ดลับในการทำอาหารของจี้เพ็กเป็นเหมือนกับของมีค่าที่ยังไม่ได้รับการค้นพบ และคงน่าเสียดายหากเคล็ดลับอาหารอร่อยๆ จะถูกเก็บไว้และสูญหายไปโดยไม่มีใครรับรู้เลยสักคน

จะรุ่นเล็กหรือรุ่นใหญ่ ใครๆ ก็กดติดตาม ‘จี้เพ็ก’

โกหนุ่ม’ – ศุภฤกษ์ ทีปะปาล เป็นลูกคนเดียวของจี้เพ็ก ช่างภาพหนุ่มใหญ่วัย 48 มีความฝันอยากเป็นยูทูบเบอร์ด้านอาหาร โดยโกหนุ่มถึงขั้นซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ในการถ่ายทำเตรียมเอาไว้ แต่พอต้องลงมือทำจริงๆ เจ้าตัวกลับเกิดประหม่าและอายเวลาอยู่หน้ากล้องจนทำให้ต้องพับโปรเจกต์ในฝันเอาไว้ก่อน

“เราชอบดูคอนเทนต์ของ Mr. Hotsia ซึ่งถือเป็นยูทูบเบอร์คนไทยรายแรกๆ ที่ไปรีวิวอาหารตามที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พอดูแล้วอยากทำตามก็เลยซื้ออุปกรณ์ถ่ายทำมา แต่พอจะทำจริงๆ เรากลับอาย ไม่กล้า เลยได้แต่เก็บอุปกรณ์เอาไว้อยู่อย่างนั้น”

อย่างน้อยตอนนั้นโกหนุ่มก็ได้เรียนรู้ว่าหากจะผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ ตัวเขาไม่เหมาะกับการเป็นคนหน้าฉาก แต่ตอนนั้นเขาก็นึกไม่ออกว่าจะหาคนที่ ‘ใช่’ มาจากไหน จนกระทั่งวันหนึ่งถึงได้รู้ว่าที่จริงแล้วคอนเทนต์ครีเอเตอร์และคนหน้าฉากที่ดีที่สุดนั้นอยู่ใกล้ตัวชนิดที่คาดไม่ถึง

“แทบทุกครั้งที่เราพาแม่ออกไปกินข้าวนอกบ้าน แม่จะบ่นว่าเมนูนี้ไม่อร่อย ถ้าจะให้ดีต้องทำแบบนี้หรือต้องใส่วัตถุดิบตัวนี้เข้าไป แรกๆ เราคิดว่าแม่เรื่องมาก แต่พอกลับมาบ้านแล้วเขาทำให้เรากิน เราถึงได้รู้ว่าทุกเมนูที่แม่บ่นเขาทำได้อร่อยกว่าจริงๆ ที่สำคัญ แม่อธิบายวิธีการทำแล้วก็บอกเคล็ดลับได้ทุกเมนู”

โกหนุ่มคิดว่าหากไม่มีการถ่ายทำหรือบันทึกเอาไว้ สูตรอาหารอร่อยๆ หลายอย่างจะสูญหายไปพร้อมแม่ ว่าแล้วเขาก็เลยทดลองทำคลิปแล้วอัปโหลดลงในยูทูบช่อง Neophuket Food Channel ของตัวเองทันที

“เมนูแรกที่เราอัปลงยูทูบคือหมูฮ้อง ซึ่งเป็นอาหารของคนภูเก็ต ต้องบอกว่าครั้งแรกเป็นเหมือนการทดลองทำดูเล่นๆ ไม่ได้คิดว่าจะมีคนมาติดตามดูอะไรมากมาย เราก็เลยอัปทิ้งไว้แล้วก็ไม่ได้ดูเลยว่ามีใครเข้ามาดูบ้างหรือเปล่า เราปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นร่วม 3 ปี พอกลับมาดูอีกทีปรากฏว่ามีคนเข้ามาดู 30,000 กว่าวิว เรานี่งงเลย

“จากนั้นเราเลยลองชวนแม่ทำเมนูที่ 2 เป็นแกงตูมี้แบบภูเก็ต ซึ่งเป็นแกงที่ได้รับอิทธิพลมาจากมาเลเซีย ลักษณะจะคล้ายๆ แกงส้ม แต่ทางบ้านเราจะใส่กระเจี๊ยบเขียวกับผักแพวด้วย ก็ปรากฏว่ามีคนเข้ามาดูกันเยอะอีก พอเมนูต่อมาเราลองให้แม่ทำขนมกล้วย คราวนี้คนแห่เข้ามาดูกันเป็นแสนวิว เราเห็นแล้วตกใจ ไม่คิดว่าคนจะติดตามมากมายขนาดนี้”

หลังจากนั้นโกหนุ่มจึงชวนจี้เพ็กเริ่มทำคอนเทนต์กันอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ โดยแนวคิดในการทำคอนเทนต์ของแม่ – ลูกคู่นี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะมันคือการนำสูตร วิธีทำ และเคล็ดลับของอาหารที่ทำกินกันในบ้านตามปกติมาถ่ายทอดให้กับผู้ชมทางบ้านได้ดูด้วยเท่านั้นเอง

“คอนเซปต์ไม่มีอะไรมากเลย ก็แค่ว่าเราทำอะไรกินที่บ้าน เราก็ทำโชว์ให้คนอื่นเขาได้ดูด้วย พอทำเสร็จเราก็เอามากินจริงๆ นั่นแหละ ในแต่ละคลิปแม่ก็จะบอกเคล็ดลับของแต่ละเมนูว่าสูตรตามแบบฉบับโบราณแท้ๆ เขาทำกันอย่างไร ต่างจากปัจจุบันตรงไหน ใช้วัตถุดิบแบบไหนถึงจะอร่อย แล้วทำไมถึงต้องใช้วัตถุดิบชนิดนี้

โกหนุ่มยอมรับว่า ช่วงแรกๆ ที่ทำคลิปเขากังวลอยู่พอสมควรว่าจะเป็นที่ยอมรับไหม เพราะเรื่องการทำอาหารนั้นหากว่ากันตามจริงแล้วเป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละคน ไม่มีอะไรตายตัวที่จะบอกว่าแบบไหนดีที่สุด

“อาหารที่แม่ทำส่วนใหญ่จะเป็นสูตรโบราณแบบดั้งเดิม เราเลยกังวลว่าบางทีคนรุ่นใหม่เขาอาจจะไม่ยอมรับ หรือรู้สึกว่าวัตถุดิบบางอย่างมันหายาก ขั้นตอนบางขั้นตอนใช้เวลานาน เปลืองเวลา ขณะที่คนรุ่นเก่าอาจจะแย้งว่าไอ้ที่เราทำอยู่นั่นมันไม่ถูกเนื่องจากเขาอาจจะมีสูตรหรือวิธีในการทำในแบบของเขา

“แต่ปรากฏว่าถึงตอนนี้เกือบ 3 ปีแล้วที่เราทำคลิปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีคอมเมนต์ที่เป็นไปในทางลบเลย คนรุ่นใหม่โดยมากจะบอกว่าลองเอาไปทำตามแล้วอร่อยดี อยากให้ลงเมนูใหม่อีกเรื่อยๆ ขณะที่คนรุ่นเก่าเวลามีลูกหลานมาถามเรื่องอาหาร เขาก็บอกว่าให้ไปดูจี้เพ็ก นั่นแหละสูตรที่อร่อยและถูกต้อง นั่นก็แสดงให้เห็นว่าแม่เราได้รับการยอมรับจากคนทั้งสองรุ่น”

จากความกังวลใจในช่วงแรกมาจนถึงวันนี้ หญิงวัย 76 ปี ได้เป็นยูทูบเบอร์ชื่อดังที่ทุกวันนี้มียอดผู้ติดตามกว่า 3 แสนคน

ทีมงาน 3 เจเนอเรชัน

ปัจจุบันครอบครัวของจี้เพ็กมีสมาชิกทั้งหมด 4 คน ประกอบไปด้วยจี้เพ็ก โกหนุ่ม ลูกสะใภ้ และหลานชายวัย 19 ปี ลูกชายของโกหนุ่ม

แต่ละคนล้วนมีหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง จี้เพ็กเองเมื่อว่างเว้นจากการเป็นยูทูบเบอร์ก็จะทำงานจิตอาสาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม . อย่างในช่วงโควิด -19 นี้ จี้เพ็กกับกลุ่มเพื่อนๆ ก็จะช่วยงานบุคลากรทางการแพทย์เท่าที่พอทำได้ อย่างเช่นการช่วยวัดความดันให้กับผู้ป่วย หรือการช่วยกันเย็บหน้ากากอนามัยส่งให้กับทางสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล ขณะที่ตัวโกหนุ่มก็มีงานประจำเป็นช่างภาพ ลูกสะใภ้เป็นครูอยู่ที่จังหวัดติดกันอย่างพังงา ส่วนหลานชายยังเรียนอยู่

แม้ต่างคนจะมีหน้าที่เป็นของตัวเอง แต่การผลิตคลิปลงยูทูบได้กลายเป็นกิจกรรมของครอบครัวที่ทุกคนต่างมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อย

หากจี้เพ็กเป็นเหมือนตัวแสดงหลักที่ทำให้คอนเทนต์ชวนติดตาม ลูกชายก็คือคนที่คอยทำหน้าที่อยู่เบื้องหลัง ทั้งกำกับการแสดง ถ่ายทำ และตัดต่อออกมาให้น่าสนใจที่สุด ขณะที่ลูกสะใภ้มีหน้าที่คอยหาวัตถุดิบ โดยเฉพาะพวกของสดต่างๆ ส่วนหลานชายก็จะทำหน้าที่คอมเมนเตเตอร์ติชม รวมทั้งคิดเมนูใหม่ๆ ให้กับจี้เพ็ก

“การที่เราทำคลิปลงในยูทูบไม่ใช่แค่แม่หรือเราเท่านั้นนะที่รู้สึกดี แต่ทุกคนในครอบครัวต่างก็รู้สึกดีและมีความสุขไปด้วย ปกติต่างคนต่างทำงานของใครของมันตามหน้าที่ของตัวเอง แต่การเป็นยูทูบเบอร์ของแม่เหมือนเป็นสิ่งที่หลอมรวมทุกคนเข้าด้วยกัน

“ลูกชายเราถ้าเขาอยากกินอะไรเป็นพิเศษ เขาก็จะบอกแม่ว่าให้ทำเมนูนี้ให้กินหน่อย แม่เขาจะไม่ค่อยขัดใจหลาน อย่างเมนูราดหน้าที่แม่เคยทำให้หลานกินตอนเด็กๆ ซึ่งเป็นกุศโลบายของแม่ในการทำให้เด็กชอบกินผัก โดยซอยผักเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาผัดให้เป็นเนื้อเดียวกับเส้น พอหลานบอกว่าอยากกิน เราก็ถ่ายทำทันที ส่วนภรรยาเราก็จะช่วยเรื่องการหาวัตถุดิบที่เป็นของสด เนื่องจากเขาทำงานอยู่ที่พังงา ที่นั่นจะมีอาหารทะเลสดๆ เยอะ พอทำเสร็จทุกคนก็กินด้วยกัน บรรยากาศของครอบครัวก็จะเกิดขึ้น ทุกคนมีความสุข”

โกหนุ่มบอกว่าเมื่อจี้เพ็กมีเมนูอยู่ในหัวว่าจะทำอะไรก็จะมาบอกกับเขา แล้ววันต่อมาทั้งคู่ก็จะตื่นแต่เช้าเพื่อถ่ายทำ เมื่อถ่ายทำเสร็จแล้วโกหนุ่มก็จะออกไปทำงาน พอเลิกงานก็จะกลับบ้านมาตัดต่อแล้วอัปโหลดลงยูทูบแบบวันเว้นวัน

“ทุกคลิปที่เราทำนอกจากเคล็ดลับในการทำอาหารแล้ว สิ่งที่สำคัญมากไม่แพ้กันเลยก็คือการที่แม่จะมีเรื่องเล่าแล้วก็ที่มาเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำ เราว่าเรื่องเล่าเหล่านี้เป็นเสน่ห์ที่ทำให้คนติดตามแม่มากขึ้น เนื่องจากคนเดี๋ยวนี้เขาไม่ได้นิยมบริโภคอาหารที่ความอร่อยอย่างเดียวแล้ว แต่เขายังเสพสตอรีด้วย

“เมื่อเรารู้ถึงเรื่องราว คุณค่า ที่มาที่ไป อาหารจากที่อร่อยอยู่แล้วก็จะอร่อยขึ้นไปอีก”

เคล็ดลับและเรื่องราวเหล่านี้คือสิ่งที่จี้เพ็กยินดีเปิดเผย เธอไม่ต้องการให้มันสูญหายหรือตายไปพร้อมกับตัวเธอ

ส่งต่อความสุขด้วยเคล็ดลับความอร่อย

“เชื่อไหมว่าคนในสมัยก่อนบางคนหรือบางครอบครัวเขาถือว่าสูตรหรือเคล็ดลับการทำอาหารเป็นสิ่งของที่ต้องหวงแหน เป็นความลับ บางคนเขาหวงถึงขนาดที่ว่าไม่ยอมเปิดเผยกับใคร และยินดีที่จะให้สูตรตายไปพร้อมกับตัวเขาเลย แต่เราไม่ใช่คนแบบนั้น เราไม่รู้จะหวงไว้ทำไม หวงไปก็ไม่มีประโยชน์ เราคิดว่าเอาสูตร เอาเคล็ดลับให้คนอื่นหรือคนรุ่นใหม่ก็เหมือนกับให้ลูกให้หลานเพื่อที่เขาจะได้เอาไปต่อยอด หรืออย่างน้อยที่สุดเขาก็ได้ทำของอร่อยกิน

“ทุกวันนี้จี้เพ็กภูมิใจมากนะเวลาที่มีคนมาบอกว่าดูรายการของเรา ไปลองทำกินแล้วอร่อยมาก ฟังแล้วมันอิ่มใจนะที่ทำให้เขาได้กินอาหารอร่อย ได้ทำให้เขามีความสุขในชีวิต”

จี้เพ็กยังบอกต่อด้วยว่าการที่ผู้ติดตามได้ทำอาหารกินด้วยความสุขและความอร่อย นับเป็นความสุขและกำลังใจอย่างมหาศาลที่ทำให้เธออยากที่จะผลิตคอนเทนต์ดีๆ อย่างนี้อยู่ต่อไป ทั้งๆ ที่อีกไม่กี่ปีก็จะถึงวัยเลข 8 แล้ว

“ตอนที่มีผู้ติดตามถึง 100,000 คน ทางยูทูบเขาก็ส่งโล่เงินมาให้ที่บ้าน ลูกชายเองก็ยังแบ่งเงินรายได้จากการทำรายการให้เราทุกเดือน เดือนละไม่น้อยเลย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นกำลังใจในการทำงานของเราเหมือนกัน

“แต่ถ้าถามว่าอะไรที่เป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เรายังอยากทำงาน อยากเป็นยูทูบเบอร์อยู่ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว สิ่งนั้นก็คือคุณผู้ชมทุกคนที่เข้ามาให้กำลังใจเรา และการที่เราได้รับรู้ว่าสิ่งที่เราทำในคลิปทำให้ผู้ชม ผู้ติดตามของเรามีความสุขไปด้วย”

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ