ชวนชมชีวิตของราชาชวนชม

       

มนุษย์แต่ละคนมีวิธีหลีกหนีความวุ่นวายในชีวิตแตกต่างกันไป บางคนเล่นกีฬา บางคนเข้าวัดทำบุญ บางคนทำอาหาร ขณะที่บางคนเลือกแก้ปัญหาด้วยการนอน ฯลฯ

ท่ามกลางความเหนื่อยล้า มีเรื่องให้ต้องสะสางมากมายจากการงาน คุณลุงสง่าชัย ชัยกิจไทย เลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่กับการตกแต่งต้นไม้มากมายหลายชนิดจากบอนไซ ไปสู่ต้นตะโก ต้นข่อย จนกระทั่งมาถึงต้นไม้ที่สร้างรายได้อย่างงดงามให้กับเขาอย่างชวนชม

จากที่แค่ตกแต่งเพื่อแก้เครียดไปวันๆ กลายเป็นความจริงจัง ดูแลประคบประหงม ก่อนจะพัฒนาไปสู่การแข่งขันส่งเข้าประกวดในระดับประเทศ จากต้นไม้แค่ไม่กี่สตางค์ ลุงสง่าชัยแปลงโฉมชวนชมของเขาให้กลายเป็นต้นไม้ที่มีราคาหลักล้าน ก่อนจะขึ้นหิ้งกลายเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจของวงการคนเล่นชวนชมในประเทศไทย

ชีวิตของชายวัย 71 ปีผู้นี้ เริ่มต้นอย่างไร เขาเป็นใคร มาจากไหน แล้วทำไมจึงทำให้ต้นไม้ชนิดหนึ่งกลายเป็นต้นไม้เงินล้านไปได้

นับจากบรรทัดนี้ไปชวนชมชีวิตของราชาชวนชมเมืองไทยกันได้เลย

ลูกพ่อค้าแห่งเมืองชาละวัน

แม้พ่อแม่จะมีอาชีพค้าขายพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ แต่จุดเริ่มต้นของลุงสง่าชัยก็นับได้ว่าอยู่ห่างไกลจากการเป็นคนปลูกหรือนักตกแต่งต้นไม้อยู่หลายปีแสง

“เราเกิดในครอบครัวคนค้าขาย พ่อแม่มีอาชีพขายพืชไร่หลายๆ ชนิด อย่างเช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วดำ นุ่น ฯลฯ โดยรับซื้อจากเกษตรกรแล้วมาขายต่อ ไม่ได้เป็นคนปลูกหรือผลิตเอง คือถึงสินค้าที่ขายจะเป็นผลผลิตทางการเกษตร แต่ต้องบอกว่าตัวเรากับการปลูกหรือตกแต่งต้นไม้นี่แทบไม่เกี่ยวข้องกันเลย เรามีความรู้เกี่ยวกับต้นไม้น้อยมากๆ”

คุณลุงสง่าชัย ชัยกิจไทย เล่าถึงพื้นเพดั้งเดิมของตนเอง ซึ่งไม่น่าจะกลายเป็นนักเล่นชวนชมระดับประเทศไปได้

เด็กชายสง่าชัยเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่มีลูกมากถึง 10 คนในอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร แม้จะเป็นลูกพ่อค้า หากแต่ฐานะทางบ้านของหนุ่มน้อยก็หนักไปทางยากจนมากกว่าจะมั่งมี ยิ่งเมื่อมาเจอเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่ทั่วทั้งตลาดพิจิตร ครอบครัวของเขาก็แทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว

“เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ทั่วทั้งตลาดพิจิตร แล้วบ้านเราที่อยู่ในตลาดก็ไหม้ไปด้วย เอาอะไรออกมาจากบ้านไม่ได้เลย บ้านก็ไม่มีอยู่ ต้องมาอาศัยนอนที่พักที่ทางศูนย์ราชการเขาเตรียมไว้ให้ เขาเอาสังกะสีมาตอกตะปูแล้วก็ทำเป็นบ้านให้ พอได้ซุกหัวนอน”

ครอบครัวของสง่าชัยอาศัยอยู่ในบ้านสังกะสีอยู่นานหลายปี ก่อนที่ผู้เป็นพ่อจะทำงานเก็บเงินจนซื้อบ้านหลังใหม่ได้ในราคา 2 หมื่นบาท สง่าชัยจบการศึกษาชั้นสูงสุดที่ชั้นมัธยมปลาย ก่อนจะมาเป็นเซลล์ขายเครื่องไฟฟ้ายี่ห้อ SINGER ไต่เต้าจากลูกจ้างธรรมดาไปจนถึงผู้จัดการเขต

“เราเป็นเซลล์อยู่พักหนึ่งทำไปทำมาก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตลูกจ้างมันก็เหมือนหมาล่าเนื้อ ถ้าเกิดวันหนึ่งเราแก่ตัวไป หมดเขี้ยวเล็บออกล่าให้เขาไม่ได้ ทำยอดไม่ได้ตามที่เขาต้องการก็คงไม่มีประโยชน์ เราก็เลยคิดว่าออกมาทำของเราเองดีกว่าพอดีพอเก็บเงินได้เลยพอมีทุน”

ลูกพ่อค้าแห่งเมืองชาละวันออกมาทำธุรกิจเปิดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นของตัวเอง จากเงินลงทุนก้อนเล็กๆ เพียงแค่ไม่กี่หมื่นในช่วงแรกคุณลุงสง่าชัยซึ่งในเวลานั้นยังมีอายุแค่ 20 กว่าๆ  ขยายกิจการของตัวเองจนเติบโตมั่นคง อย่างไรก็ตามการงานที่ดีขึ้นก็แลกมาด้วยความยุ่งยากวุ่นวายในหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องคน ฯลฯ

เจ้าของกิจการร่างเล็กเริ่มคิดว่าหากเขาไม่หากิจกรรมสักอย่างทำเพื่อช่วยผ่อนคลาย บางทีเขาอาจเครียดตายก่อนจะได้พบกับความแก่

“มันต้องทำงานกับคนเยอะไม่ว่าจะเป็นเซลล์ เป็นลูกค้า เป็นพนักงานตรวจบัญชี ฯลฯ ไหนจะปัญหาอื่นๆ มากมายทั้งปัญหาเรื่องเงิน เรื่องเอกสาร เซลล์ของเราก็ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามอีก แล้วบางทีอยู่กับตัวเลขมากๆ เราก็เครียดยิ่งตอนหลังเราเลิกกิจการแล้วหันมาหุ้นกับพี่น้องทำคอนกรีตผสม มีเรื่องต้องประมูลงาน ยื่นซองแข่งกัน มีเรื่องโดนลูกค้าเบี้ยว ฯลฯ ชีวิตมันสับสนวุ่นวายไปหมด จนเราทั้งเครียดและเบื่อ ถ้าเราไม่หาอะไรทำเพื่อคลายเครียดสักอย่างเราแย่แน่ๆ

คุณลุงสง่าชัยไม่รู้จะหาทางผ่อนคลายจากความวุ่นวายทางการงานอย่างไรดี จนกระทั่งวันหนึ่งเขาไปเดินดูต้นไม้ตามงานเกษตร ก่อนที่จากนั้นไม่นานจะเริ่มมีความสนใจมากขึ้นด้วยการไปดูการประกวดต้นไม้ที่จัดขึ้นตามที่ต่างๆ

จากต้นไม้ธรรมดาๆ ทั่วไป ทุกต้นกลายเป็นไม้ที่สวยงามแปลกตาและหาดูได้ยาก

“เราเห็นคนที่เขาเล่นต้นไม้เขานำต้นไม้ที่ตกแต่งมาประกวดแล้ว เราเดินดูเพลินไปเลย แต่ละต้นมันสวยงามสะดุดตามาก มันทำให้เราลืมเรื่องเครียดทุกอย่างไปหมดเลย ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานจากคนดูเฉยๆ เราก็เปลี่ยนมาทดลองเล่นเสียเอง”

ลุงสง่าชัยเลือกหนทางที่จะหลุดพ้นจากความวุ่นวายทางการงานด้วยตัวเอง ด้วยการหันมาทดลองตกแต่งต้นไม้ให้สวยงามแปลกตา

แต่ชวนชมยังไม่ใช่พันธุ์ไม้ชนิดแรกที่เขาเลือกเล่น


เรียนรู้

“เราเริ่มเล่นจากบอนไซก่อน จากนั้นก็มาเป็นพวกว่าน พวกบอนสี ฯลฯ แต่ก็ยังไม่ได้ชำนาญ ส่วนใหญ่เป็นการเล่นแบบคลายเครียดพักสมองจากการทำงาน ไม่ได้คิดจะส่งประกวดล่ารางวัลแบบคนอื่นเขา”

ในเวลานั้นลุงสง่าชัยยังอยู่ไกลจากความคิดเรื่องการประชันขันแข่งอยู่มาก เนื่องจากเขาต้องการแค่หากิจกรรมฆ่าเวลา หลีกหนีจากความวุ่นวายในการทำงานมากกว่า อีกประการเลยก็คือเขารู้ตัวเองดีว่าฝีมือของเขายังไม่ถึงขั้น

“เรายังทำราก แต่งกิ่งไม่เป็นเลย ถ้าไปประกวดก็คงยังสู้ใครเขาไม่ได้ อีกอย่างเรายังไม่มีเวลาเพราะยังทำธุรกิจควบคู่ไปด้วย แล้วพืชอย่างบอนไซนี่เขาต้องการการเอาใจใส่มาก ถ้าเราลืมรดน้ำวันเดียวทุกอย่างก็จบแล้ว ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุที่ภายหลังเราหันมาสนใจชวนชมมากกว่า เนื่องจาก เป็นพันธุ์ไม้ที่สวยงาม แล้วก็มีความแข็งแรงในตัวเองมากกว่าไม่ต้องรดน้ำเลย 1 อาทิตย์เขาก็ไม่ตาย”

ลุงสง่าชัยตัดสินใจหันมาเล่นชวนชมในตอนอายุราว 40 จากที่แค่เล่นคลายเครียดเพลินๆ ในเวลาว่างจากงานก็เริ่มศึกษาหาความรู้จากคนในวงการถึงวิธีทำราก แต่งกิ่ง เปลี่ยนดิน ให้ปุ๋ย เคลื่อนย้าย ไปจนถึงเคล็ดลับต่างๆ ว่าทำอย่างไรให้ชวนชมออกดอกแดงเต็มต้น ในขณะที่ใบยังคงเขียวสดไม่ร่วงหล่นเมื่อดอกสมบูรณ์ ฯลฯ

“เรากับชวนชมถ้าเปรียบเป็นคนก็เหมือนกับคนที่ถูกชะตากัน นั่งพูดคุยกันได้ทั้งวันไม่มีเบื่อ เชื่อไหมบางวันเรานั่งแต่งกิ่งเขาเพลินๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เที่ยงคืนแล้ว มันเหมือนอยู่กับเขาแล้วเราไม่ต้องคิดอะไรมันลืมความเครียด ลืมปัญหาที่มีไปหมด แล้วจากที่ไม่เคยคิดจะประกวดแข่งขันเราก็เริ่มเปลี่ยนใจ”

การพาตัวเองเข้าสู่เวทีการแข่งขันประกวดชวนชมมีข้อดีอย่างน้อยๆ อยู่ด้วยกัน 2 ประการ หนึ่งคือได้สังคมเพื่อนฝูง ได้มิตรภาพจากคนที่เล่นและตกแต่งชวนชมด้วยกัน ส่วนอีกหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการสร้างมูลค่าให้กับชวนชมของตัวเองในกรณีที่ชวนชมต้นดังกล่าวได้รางวัลจากการประกวดในรายการต่างๆ

“พอเราได้ลองไปประกวดแข่งขันกับคนอื่นๆ ก็รู้สึกสนุกดี ได้เพื่อนฝูง ได้พูดคุยเฮฮาแลกเปลี่ยนความรู้กัน ขณะเดียวกันถ้าได้รางวัล ชวนชมต้นนั้นก็จะมีราคาสูงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว เพราะการได้รางวัลในแต่ละเวทีการประกวดถือเป็นการการันตีว่าชวนชมของคุณสวยจริงดีจริง มีคนให้การยอมรับ”

จากวันแรกที่อ้าแขนรับชวนชมเข้ามาในชีวิต ถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่ลุงสง่าชัยอยู่ในวงการชวนชมเมืองไทย จากคนที่ไม่เคยคิดจะประชันขันแข่งกลายเป็นนักล่ารางวัลที่ผ่านการชนะมาแล้วหลายเวที

“ทุกครั้งที่ลงแข่งเราแทบไม่เคยหลุดจาก 1 ใน 3 เลย” ชายวัย 71 ปี กล่าวด้วยความปลื้มใจ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางถ้วยรางวัลนับร้อยที่ได้มาทั้งหมดไม่น่าจะมีถ้วยรางวัลใดที่น่าจะทำให้เขาภาคภูมิใจได้เท่ากับรางวัลหนึ่งซึ่งทำให้เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นราชาแห่งชวนชม

เป็นรางวัลที่ใครหลายคนในวงการชวนชมปรารถนาจะได้รับสักครั้งในชีวิต ทว่าลุงสง่าชัยกลับทำได้ถึง 3 ปีติดต่อกันซึ่งถึงวันนี้ยังมีคนแรกและคนเดียว

รางวัลที่ว่าคือการประกวดชวนชมชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

แชมป์ถ้วยพระราชทาน 3 ปีซ้อน

หากเปรียบการประกวดชวนชมในประเทศไทยเป็นโลกลูกหนัง การประกวดชวนชมชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ก็แทบไม่ต่างอะไรจากฟุตบอลโลก

ชวนชมสวยงามกว่า 200 ต้นจากเซียนชวนชมทั่วประเทศไทย จะมารวมตัวกันเพื่อประชันความเป็นหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าทุกๆ คนล้วนเตรียมพร้อมกันมาอย่างดี

“งานประกวดชวนชมชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ถือได้ว่าเป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศแล้ว พูดได้เลยว่าถ้าชนะเลิศชวนชมต้นนั้นก็คือเบอร์ 1 ของประเทศ ซึ่งก็จะมีการประกวดเป็นรุ่นๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็นรุ่นขนาดความสูงจากขอบกระถางถึงปลายยอดไม่เกิน 20 เซนติเมตร ขนาดความสูงไม่เกิน 40 เซนติเมตร ฯลฯ แต่รุ่นที่ผู้คนให้ความสนใจและถือเป็นไฮไลท์ในการแข่งขันมากที่สุดก็คือการแข่งขันในรุ่น OPEN ซึ่งไม่มีการจำกัดขนาดความสูงเรียกว่าถ้าเป็นมวยนี่ก็คือรุ่นเฮฟวี่เวทเลย

“ขณะที่กฎกติกากรรมการเขาก็จะตัดสินโดยดูตั้งแต่ความเรียบร้อยของกระถางว่าเรียบร้อยดีไหม ต้องไม่แตกไม่เปื้อน ต่อมาก็ดูที่ราก รากจะต้องเรียงให้สวย จากนั้นมาที่ผิวต้องสวยเรียบออกขาวอมเขียวเล็กน้อย ทรงพุ่มต้องได้สัดส่วนผู้ประกวดต้องทำการตกแต่งให้เท่ากันไม่ใช่ว่ามีบางพุ่มยาวชี้ออกมา แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดเลยก็คือดอก ถ้าใครมีดอกหรือดอกสวยกว่า คนนั้นก็จะได้คะแนนสูง ยิ่งถ้าเกิดว่าสมบูรณ์ครบถ้วนทั้งดอกทั้งใบ กรรมการก็จะพิจารณาให้คะแนนมากเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งผู้ประกวดหลายๆ คนจะมีปัญหาในเรื่องนี้”

สำหรับลุงสง่าชัยเคล็ดลับของการคงดอกทั้งดอกและใบเอาไว้ให้สมบูรณ์ที่สุดเมื่อถึงวันประกวด ไม่มีอะไรมากไปกว่าการปล่อยให้กระบวนการเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช้เคมีเร่งสีเร่งโต แต่ให้น้ำในเวลาที่เหมาะสมรวมทั้งคอยดูแลใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

“หลายๆ คนเขาจะใส่สารเคมีเพื่อเร่งดอกเร่งใบ แต่เราไม่ทำแบบนั้น เราอยากให้มันโตของมันตามธรรมชาติมากกว่าแต่สิ่งที่เราจะให้ความสำคัญเลยก็คือเรื่องช่วงเวลาในการให้น้ำเพื่อให้ดอกและใบสวยงามพอดีในวันแข่ง เราจะรอจังหวะ รอจนปลายดอกบานเล็กน้อยจึงค่อยอัดน้ำในช่วงเวลานั้น ถ้าเราให้น้ำก่อนหรือหลังจากนั้นดอกจะร่วง พอถึงวันแข่งขันจะไม่มีดอกหรือถ้ามีก็ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเรื่องตรงนี้ต้องอาศัยประสบการณ์

“ขณะเดียวกันช่วงก่อนถึงวันประกวด 3 เดือนเป็นช่วงเวลาที่เราจะต้องประคบประหงมเขาให้ดี ในช่วงนี้เราจะไม่ให้เขาโดนน้ำค้างเลยเนื่องจากมันจะกัดใบ ทำให้ใบเสีย เราจะเข็นเขาออกมาโดนแดดในตอนเช้าพอตะวันตกดินก็เอากลับเข้าร่มการดูแลเขา อยู่ใกล้ชิดกับเขา เราว่ากระบวนการตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะมันจะทำให้เราดูเขาออกว่าเขาเป็นยังไง ต้องการอะไร ซึ่งถ้าเราดูแลเขาอย่างดีที่สุดเขาก็จะให้สิ่งที่ดีที่สุดกลับคืนมาให้เราเหมือนกัน”

ไม่ใช่แค่ ‘ รู้เรา ’ หากแต่ลุงสง่าชัยยังทำการ ‘รู้เขา’ ด้วยการเดินทางออกสืบเสาะหาข้อมูลของคู่แข่งที่จะลงประกวดด้วยเพื่อที่จะได้ประเมินสถานการณ์ความได้เปรียบ-เสียเปรียบได้อย่างถูกต้องเมื่อถึงวันชิงชัย

“อย่างถ้างานจัดขึ้นที่นครปฐม เราจะเดินทางไปสวนที่มีชวนชมแถบนครปฐม ราชบุรีให้หมด เพื่อเช็คข้อมูลแล้วก็ดูว่าเขาน่าจะส่งชวนชมต้นไหนลงแข่ง ข้อดีของเขาคืออะไร แล้วเราควรทำอย่างไรส่งต้นไหนลงจึงจะสู้กับเขาได้ ซึ่งพอเรารู้และมีข้อมูลอยู่ในหัวจะทำให้เราประเมินสถานการณ์ได้

“ที่เราต้องเลือกเดินทางไปดูในพื้นที่ที่เป็นเจ้าภาพก็เพราะว่าเจ้าภาพจะมีความได้เปรียบ เนื่องจากไม่ต้องเดินทางไกลการขนย้ายในระยะทางใกล้ๆ จะทำให้ชวนชมของเขามีความเสี่ยงน้อยที่จะเกิดความเสียหาย เราเองก็ต้องมาต้องมาวางแผนตรงนี้ด้วยว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ชวนชมของเราเสียหายน้อยที่สุดในระหว่างเดินทาง

“มันไม่ได้สู้กันแค่การตกแต่งหรือดูแล ตรงนั้นเป็นปัจจัยภายใน แต่ยังมันยังสู้กันในเรื่องของปัจจัยภายนอกด้วย ถ้าใครจัดการรายละเอียดตรงนี้ได้ดีก็จะได้เปรียบ หรือถ้าเสียเปรียบความเสียเปรียบก็จะถูกลดทอนลงมา”

ด้วยการวางแผนอย่างรอบคอบรัดกุม ศึกษาจุดแข็ง-จุดอ่อนของทั้งตนเองและคู่แข่ งทำให้ลุงสง่าชัยประกาศศักดาคว้ารางวัลชนะเลิศงานประกวดชวนชมชิงถ้วยพระราชทานถึง 3 ปีซ้อนคือใน พ.ศ. 2558 2559 และ 2560 ซึ่งถึงวันนี้ยังไม่มีใครเคยทำได้

ด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นหากจะบอกว่าเขาคือราชาชวนชมเมืองไทยก็คงจะไม่เกินเลยนัก ที่สำคัญต้นชวนชมที่เขานำลงแข่งขันชิงชัยถึงวันนี้มันไม่ใช่ชวนชมธรรมดาอีกต่อไป มันไม่ได้มีราคาหลักหมื่นหลักแสน

ราคาของมันอยู่ที่ 1 ล้านบาทถ้วน


ชวนชมต้นละล้าน

“ในชีวิตของเราตั้งแต่เล่นชวนชมมา ถ้าถามว่าเรารักและผูกพันกับต้นไหนมากที่สุดก็ต้องบอกว่าเป็นต้นนี้แหละ เขาอยู่กับเรามาไม่ต่ำกว่า 25 ปีแล้ว เป็นต้นที่ทำให้เราได้แชมป์ถ้วยพระราชทานเป็นครั้งแรกในปี 2558 เราซื้อมาที่นนทบุรีตั้งแต่ยังเล็กในราคา 2,000 บาท ถึงตอนนี้ราคาของเขาจะอยู่ที่ 1 ล้านบาทแล้ว”

ลุงสง่าชัยพูดพลางชี้ไปทางชวนชมต้นใหญ่ยักษ์ในกระถาง ดอกของมันสีชมพูหวาน ใบเขียวสด ทรงพุ่มแข็งแรงขณะที่รากก็แผ่กระจายไปทั่ว ชายวัย 71 ยืนยันว่าน้ำหนักของชมต้นนี้เมื่อบวกดินและกระถางแล้วไม่ต่ำกว่า 500 กิโลกรัมอย่างแน่นอน รวมทั้งมั่นใจว่าในสายพันธุ์เดียวกันไม่มีชวนชมต้นไหนจะใหญ่ไปกว่านี้

“เขาเป็นชวนชมสายพันธุ์เพชรบ้านนา ซึ่งผมมั่นใจเลยว่าต้นนี้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากตั้งแต่อยู่ในวงการชวนชมมายังไม่เคยเห็นชวนชมสายพันธุ์นี้ที่ไหนใหญ่เท่าต้นนี้มาก่อน เฉพาะปริมาณดินที่ใช้ก็ 40 ถุงแล้ว ส่วนกระถางก็ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.80 เมตร”

ชวนชมต้นดังกล่าวเป็นต้นชวนชมที่ลุงสง่าชัยถูกชะตาตั้งแต่แรกเห็น เป็นชวนชมที่แปลกจากต้นอื่นๆ โดยปกติชวนชมสายพันธุ์เพชรบ้านนาจะโตช้าผู้คนในวงการจึงมักไม่ค่อยที่จะให้ความสนใจ แต่ต้นนี้เป็นอะไรที่ต่างออกไปมันเติบโตด้วยตัวเองอย่างรวดเร็ว ขณะที่ดอก ใบ รากก็สมบูรณ์สวยงาม เมื่อราว 20 ปีก่อนเคยมีคนมาขอซื้อในราคาถึง 40,000 บาทซึ่งถือว่าแพงมากสำหรับชวนชมที่มีอายุไม่กี่ปี แต่ลุงสง่าชัยเลือกที่จะปฏิเสธ

“เคยมีคนมาขอซื้อไม่ต่ำกว่า 3 คน แต่เราไม่ขาย เราบอกเลยว่าซื้อได้ทุกต้น แต่ต้นนี้เราขอ จนถึงตอนนี้ราคาเขาเป็นล้านแล้ว ซึ่งเราก็คิดว่าก็จะให้เขาอยู่กับเราไปจนตายนี่แหละ”

แม้จะอยู่ด้วยกันมา 20 กว่าปีแต่ลุงสง่าชัยบอกว่าชวนชมยักษ์ต้นนี้เป็นต้นที่เขาแทบไม่ต้องดูแลอะไรมาก แค่ให้น้ำให้อาหารตามปกติแล้วก็ปล่อยให้เขาเติบโตตามธรรมชาติด้วยตัวเอง

“เราอยู่กับเขาจนรู้นิสัย รู้ใจว่าเขาต้องการอะไร คือเขาไม่เหมือนกับชวนชมต้นอื่นๆ ที่ต้องการการเอาใจใส่มาก เขาต้องการแค่เรื่องพื้นฐาน ขอให้ให้อาหารเขาตามเวลา อยู่กับเขาให้ความรักกับเขาบ้างแล้วเขาจะเติบโตตามเส้นทางของเขาเอง”

ลุงสง่าชัยบอกว่าอันที่จริงชวนชมแต่ละต้นนั้นก็แทบไม่ต่างอะไรจากคนสักเท่าไหร่ ที่หากเรามีความเข้าใจ รู้ว่าแต่ละคนต้องการอะไรก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

“ชวนชมก็เหมือนคนนั่นแหละคนเรามีนิสัยแตกต่างกันอย่างไร ชวนชมแต่ละต้นเขาก็มีนิสัยมีความต้องการแตกต่างกันไปแบบนั้น บางต้นต้องการอาหารมาก บางต้นต้องการอาหารน้อย บางต้นต้องดูแลตลอด บางต้นปล่อยไว้เดี๋ยวก็โตเอง ฯลฯ คนก็เหมือนกัน บางคนอารมณ์ร้อน บางคนอารมณ์เย็น บางคนพัฒนาตัวเองได้เร็ว บางคนก็พัฒนาตัวเองได้ช้า ฯลฯ

“สำหรับเราสิ่งสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเป็นอย่างไร แต่มันอยู่ที่ว่าเราพยายามที่จะทำความเข้าใจกันแค่ไหน ถ้าเราใส่ใจและเข้าใจกันมากพอเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าจะอยู่ร่วมกับคนหรือต้นไม้อย่างชวนชมก็ตาม” 


Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลงสักหน่อย ค่อยๆ มองเห็นความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ