‘ลินจง โกยะวาทิน’ ช่างภาพหญิงวัย 76 ปี แห่งห้องภาพนครศิลป์ ผู้บันทึกความทรงจำแห่งจังหวัดสตูล

  

ห้องภาพนครศิลป์เป็นห้องภาพที่เปิดให้บริการผู้คนในจังหวัดสตูลมาเป็นเวลาเกือบ 100 ปี ดำเนินกิจการมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ต่อมาถึงพี่ชาย กระทั่งปัจจุบัน ลินจง โกยะวาทิน ลูกสาวคนเกือบสุดท้องวัย 7 6 ปี เป็นเจ้าของกิจการทั้งหมด

แม้ในปัจจุบันกิจการร้านถ่ายรูปจะไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องเพราะในสมัยนี้ ใครๆ ต่างก็มีเครื่องมือทันสมัย แค่มีโทรศัพท์มือถือ ทุกคนก็สามารถที่จะบันทึกภาพเองได้ ไม่ต้องมาเสียเวลาผ่านกระบวนการเข้าห้องมืด ล้างรูป แต่งรูปดังเช่นในสมัยก่อน หากแต่ห้องภาพแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดสตูล ที่นี่ยังคงเปิดให้บริการรับถ่ายรูปครอบครัวเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต หากจะมีบางอย่างที่ไม่เหมือนเดิม ก็คงเป็นเรื่องของอุปกรณ์ในการบันทึกภาพที่ล้ำสมัยขึ้นตามกาลเวลา อย่างไรก็ตาม ป้าลินจงยังคงเก็บอุปกรณ์และบรรยากาศของห้องภาพเมื่อครั้งสมัยก่อนตั้งแต่รุ่นคุณพ่อเอาไว้ด้วย รวมทั้งภาพต่างๆ มากมาย ที่เคยเก็บบันทึกเอาไว้

“ภาพทุกภาพเต็มไปด้วยเรื่องราวและความทรงจำ รวมทั้งมีความหมายในตัวของมันเอง” ช่างภาพหญิงรุ่นเก๋า พูดพร้อมกับกำลังแต่งรูปถ่ายด้วยปลายพู่กัน จนถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้วที่เธอยังลั่นชัตเตอร์ เพื่อบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้งภาพครอบครัวให้กับผู้คนในจังหวัดสตูล

ป้าลินจงไม่ได้เรียนจบหลักสูตรการถ่ายภาพในมหาวิทยาลัยหรือจากที่ไหนๆ เธอเรียนรู้จากการทำงานจริง และการศึกษาชั้นสูงสุดในชีวิตของเธอก็คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ช่างภาพ ป.4

“เราไม่ได้เรียนจบการถ่ายภาพมาจากที่ไหน จะเรียกว่าไม่เคยเรียนถ่ายภาพเลยก็ว่าได้ เราจบเพียงแค่ ป.4 ที่ต้องเรียนแค่นี้ก็เพราะต้องเสียสละให้โอกาสกับพี่น้องที่เขาเรียนเก่งกว่า ส่วนเราออกมาช่วยงานที่บ้าน คอยเฝ้าร้านถ่ายรูป เวลามีคนจะมาถ่ายรูป เราก็ไปเรียกพี่ชาย ซึ่งเขามักจะไปนั่งคุยกับเพื่อนที่ร้านกาแฟใกล้ๆ

“จำได้ว่าตอนที่เราเด็กๆ เป็นยุคที่พี่ชายรับช่วงต่อแล้ว เป็นยุคที่เริ่มมีไฟฟ้าเข้ามา ห้องถ่ายรูปของพี่ชายจะมีโคมไฟ 2 ดวง แสงจะออกนวลๆ เหลืองๆ ขณะที่ของพ่อจะอยู่ในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้า แต่จะใช้แสงจากธรรมชาติ ที่ลอดผ่านเพดานที่เจาะรูไว้เข้ามา จากนั้นก็จะใช้ผ้าโปร่งที่มีอยู่ 2 ผืนในการเกลี่ยแสง หากแสงจ้าจะใช้ผ้าผืนสีเทา แต่ถ้าแสงน้อยจะใช้ผืนสีขาว แล้วก็จะบังคับให้แสงตกตามที่ต้องการ ซึ่งแสงธรรมชาติจะมีความนุ่มนวลมากกว่า แต่ด้วยความที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ในยุคของพ่อก็จะเปิดให้บริการได้แต่เฉพาะในช่วงกลางวัน”

ลินจง โกยะวาทิน บอกเล่าเรื่องราวการถ่ายภาพในยุคแรกเริ่มของห้องภาพนครศิลป์ ห้องภาพเก่าแก่ในจังหวัดสตูลที่มีอายุเกือบ 1 ศตวรรษ ซึ่งถึงวันนี้ในวัย 76 ปี เธอคือเจ้าของและเป็นผู้ดูแลกิจการที่รับช่วงต่อมาจากพี่ชาย

แม้จะเรียบจบแค่ชั้น ป.4 แต่ป้าลินจงก็สามารถเรียนรู้ศาสตร์แห่งการถ่ายรูปได้ด้วยตัวเอง เธอแอบเข้าไปในห้องมืด เรียนรู้การอัดรูปตั้งแต่ยังเด็ก หัดแต่งฟิลม์แต่งรูปเองตั้งแต่วัยรุ่น ก่อนจะมาจับกล้องออกถ่ายงานนอกสถานที่แบบเป็นจริงเป็นจัง เมื่อเข้าสู่วัยเต็มสาว

“เวลามีลูกค้ามาที่ร้าน เราจะเป็นคนรับหน้า เวลาลูกค้าถามว่าได้รูปวันไหน พี่ชายก็จะบอกว่าได้พรุ่งนี้ และบางทีก็ผลัดไปเรื่อยๆ เหมือนรับปากแล้วไม่ทำให้ เราเลยคิดว่าถ้าโตขึ้น เราจะทำเองทุกอย่างเลย อีกอย่างเราเองก็เรียนน้อย ชีวิตไม่มีทางเลือกเหมือนคนอื่น เลยคิดว่าเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพไว้ดีกว่า

“เราแอบเข้าห้องมืด ซึ่งปกติเขาห้ามเด็กเข้าไป เราเป็นคนไม่ถาม ดูแล้วก็จินตนาการเอา พอเขาเผลอเราก็ลองทำดู จากนั้นเราก็ฝึกไปเรื่อยๆ เราเริ่มแต่งฟิลม์เองตอนอายุ 16 เนื่องจากจ้างช่างแล้วช่างมีปัญหา ระหว่างนั้นเราก็ลองจับกล้องหลาย ๆ รูปแบบไปด้วย ทุกอย่างเป็นการลองผิดลองถูกเอาเอง ไม่มีใครสอนเรา นอกจากความผิดพลาด

“ถ้าถามว่าครูที่ดีที่สุดของเราคืออะไร ก็คือความผิดพลาด เพราะมันทำให้เราได้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ได้รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ และเมื่อผิดพลาดแล้วเราจะทำยังไงไม่ให้มันเกิดขึ้นซ้ำอีก”

ด้วยความใฝ่เรียนรู้มากกว่าคนอื่น ทำให้เด็กสาวอย่างลินจงใช้กล้องได้หลากหลายกว่าช่างภาพในห้องภาพของตัวเอง

“ร้านของเราถือว่าเป็นร้านถ่ายรูปแห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัดสตูลเวลานั้น ผู้คนก็จะมาถ่ายรูปกันเยอะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการถ่ายในห้องเป็นรูปครอบครัว รูปชุดนักเรียนถ่ายติดบัตร ฯลฯ กล้องในร้านก็จะเป็นกล้องแบบตู้ไม้ มีผ้าดำคลุม ซึ่งตอนหลังพี่ชายเขาจ้างช่างถ่ายภาพ ช่างพวกนี้ก็จะใช้เป็นแต่กล้องที่อยู่ในห้อง ไม่สามารถใช้กล้องฟิล์มเพื่อไปถ่ายงานข้างนอกได้ แต่เราเรียนรู้ด้วยตัวเอง เลยใช้กล้องพวกนี้เป็น เวลามีคนมาจ้างไปถ่ายงานนอกสถานที่ เราก็สามารถที่จะรับงานได้”

ในวัย 18 ปี ป้าลินจงได้รับการว่าจ้างถ่ายงานนอกสถานที่เป็นครั้งแรกจากพี่ชายของเพื่อนซึ่งเป็นนายกเทศมนตรี งานดังกล่าวไม่ใช่งานบวช งานแต่งงาน หรืองานศพ หากแต่เป็นงานต้อนรับสุลต่านจากประเทศมาเลเซีย เรียกว่าเป็นงานระดับจังหวัด มีแขกเหรื่อผู้ใหญ่มากมายเต็มไปหมด

“ออกถ่ายงานครั้งแรกก็เป็นงานใหญ่เลย จำได้ว่าตรงกับปี 2506 ตอนนั้นสั่นมาก แต่พี่ชายของเพื่อนก็พยายามสร้างความมั่นใจให้เรา กล้องในสมัยนั้นยังไม่ได้ล้ำหน้าเหมือนในสมัยนี้ กล้องที่เราใช้ยังเป็นกล้อง Canon ฟิล์ม 135 ถ่ายได้ 36 รูปอยู่เลย ไม่มีเลนส์ซูม ไม่มีอะไรทั้งสิ้น แต่ถึงอุปกรณ์จะไม่ดียังไง แต่เราก็ผ่านมันมาได้ด้วยดี เพราะเรามีความใส่ใจในงาน แล้วก็ความขยันตั้งใจ”

เลนส์ที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพของป้าลินจงก็คือเท้าทั้งสองข้าง เมื่อไม่มีอุปกรณ์ที่จับภาพได้ใกล้ชิดก็ใช้สองเท้าก้าวเข้าไปบันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สำหรับเธอความล้ำเลิศของอุปกรณ์ไม่มีทางสำคัญไปกว่าการใส่ใจ

ความรักมาก่อน อุปกรณ์มาทีหลัง

“เราไม่รู้หรอกว่าช่างภาพแต่ละคนเป็นอย่างไร แต่สำหรับเรา เราไม่เคยรู้สึกเบื่อการถ่ายภาพเลย ไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่เรารู้สึกแบบนั้นเลยสักครั้ง”

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ป้าลินจงอาจจะมีเรื่องราวที่ทุกข์ใจต่างๆ มากมายในชีวิต แต่ทุกครั้งที่ได้จับกล้องถ่ายรูป หรือนั่งแต่งรูปจากปลายพู่กัน ป้าลินจงจะลืมความทุกข์ทั้งหมดที่มี ทุกสิ่งทุกอย่างจะพุ่งเป้าไปที่สิ่งเดียวคือการทำให้ภาพถ่ายออกมาดีและประทับใจลูกค้ามากที่สุด

“เวลาได้ถ่ายภาพ ไม่ว่าจะอยู่ในกระบวนการไหน เราจะลืมความทุกข์ที่มีในชีวิตไปเลย จะบอกว่ามันเป็นเครื่องบำบัดความทุกข์ก็ว่าได้

“เวลาที่ลูกค้าเดินเข้ามาหาเรา เราจะพยายามทำให้พวกเขามีความรู้สึกว่ามาถ่ายรูปกันเถอะ ทำให้เขารู้สึกมีความสุขกับการถ่ายรูป จากนั้นเราก็มาจัดองค์ประกอบในการถ่าย ทำอย่างไรให้รูปออกมามีคุณภาพที่สุด สมมติว่าถ้าเขามาถ่าย 2 คน จะทำยังไงที่จะให้ภาพที่ออกมาไม่แบน เราก็จัดให้คนให้เขายืนซ้อนกันเล็กน้อย ภาพก็จะมีมิติมากขึ้น

“ความใส่ใจลงไปในงานของคนเป็นช่างภาพ ไม่ใช่อยู่แค่เฉพาะตอนกำลังกดชัตเตอร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงช่วงที่ไม่ได้ถ่ายภาพด้วย เช่น เมื่อคุณรู้ว่าพรุ่งนี้มีถ่ายภาพ คืนนี้คุณต้องพักผ่อนให้เพียงพอ แล้วก็เตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อมเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่สำคัญเมื่อคุณเป็นช่างภาพ หากไม่จำเป็นจริงๆ คุณต้องไม่ให้ใครยืมกล้อง เพราะกล้องมันเป็นเหมือนอวัยวะ เป็นสมอง เป็นแขนขาของเรา แล้วเราสมควรจะให้ใครมายืมสมอง หรือแขนขาของเราไหม ฉะนั้นมันต้องอยู่กับเรา แล้วก็ใช้มันให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด

“เราว่าเรื่องของการใส่ใจในสิ่งต่างๆ พวกนี้สำคัญกว่าเรื่องของการมีอุปกรณ์ที่ดีหรือทันสมัยอีกนะ เพราะถ้าคุณมีอุปกรณ์ที่ดี แต่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ คุณก็จะไม่รักและใส่ใจในงาน แล้วคุณก็จะยืนหยัดไม่ได้นานกับการเป็นช่างภาพ”

คงไม่มีความจำเป็นต้องถามว่าเพราะเหตุใด ป้าลินจงถึงยังคงเป็นช่างภาพมืออาชีพมาได้กว่า 60 ปี ทั้งที่เทคโนโลยีและอุปกรณ์การถ่ายภาพก็ล้วนแต่พัฒนาไปไกลกว่าเมื่อตอนที่เริ่มต้นอาชีพมากมายนัก

สิ่งเหล่านั้นคงไม่มีอะไรมากไปกว่าความรัก

ความรักที่ทำให้หญิงวัย 76 ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้บันทึกความทรงจำให้กับผู้คนในจังหวัดสตูล


ผู้บันทึกความทรงจำ

ป้าลินจงเป็นคนที่ชอบถ่ายรูปให้คนอื่นมากกว่าที่จะเป็นคนถูกถ่าย

“ถ้าระหว่างถ่ายรูปให้คนอื่นกับให้คนอื่นถ่ายรูปเรา เราเลือกอย่างแรกมากกว่านะ อาจเป็นเพราะเราอยากจะเห็นเขามีความสุข อยากเป็นคนที่บันทึกวันเวลาและเรื่องราวต่าง ๆ มากกว่าที่จะให้ใครมาบันทึกเรื่องราวของเรา”

สำหรับป้าลินจง ภาพถ่ายแต่ละภาพไม่ต่างอะไรจากสมุดบันทึกเรื่องราวและความทรงจำในอดีต ว่าใครกำลังทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไปจนกระทั่งว่าทำไมถึงได้ถ่ายภาพนั้น

“คนในสมัยก่อน เวลาเขามาจะมอบรูปถ่ายให้ใคร เขาจะบันทึกวันเวลาเอาไว้ที่หลังรูปว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ เดือนอะไร ปีอะไร มอบให้ใคร สิ่งเหล่านี้เราว่ามันสำคัญนะ มันบอกเล่าเรื่องราว ทำให้เราจดจำได้ว่าเป็นช่วงเวลาไหน มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเวลาที่เราถ่ายรูปอะไรก็แล้วแต่ เราจะบันทึกวันเวลาเอาไว้ด้วย เพื่อที่อย่างน้อยเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อนำกลับมาดูอีกครั้ง เราจะได้รับรู้และจำได้

“ยิ่งหากคนที่เราถ่ายเป็นบุคคลสำคัญ รูปถ่ายแต่ละรูป และการที่เราจดวันเวลาเอาไว้ก็ไม่ต่างอะไรจากการบันทึกประวัติศาสตร์ อย่างเช่น เราเคยได้มีโอกาสบันทึกภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งพระองค์ท่านเสด็จมาที่จังหวัดสตูลของเรา ถ้าเราไม่บันทึกวันเวลาเอาไว้ เราอาจไม่ทราบเลยว่าพระองค์ท่านเคยเสด็จมาที่จังหวัดเราถึง 4 ครั้ง ครั้งแรกคือในปี 2502 การที่เรามีรูป มีบันทึก ทำให้ความทรงจำและประวัติศาสตร์ไม่สูญหาย”

ในมุมมองของป้าลินจงภาพถ่ายทุกภาพล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวและความทรงจำ และหากโลกใบนี้ไม่มีภาพถ่ายก็คงเป็นโลกที่ไม่เต็มใบ มีแต่เพียงปัจจุบันและอนาคต ไม่มีอดีตให้จดจำรำลึกถึง ไม่รู้ว่าเป็นใคร มาจากไหน

“ถ้าไม่มีภาพถ่าย เราก็ไม่มีอดีต เราจะอยู่กันอย่างไร ถ้าชีวิตเรามีแต่ปัจจุบันกับอนาคต เราจะอยู่กันแบบไหนถ้าเราไม่มีที่มาที่ไป ไม่รู้เลยว่าในอดีตของเราหรือคนอื่น ๆ เคยเป็นใครหรือทำอะไรมา คุณอาจจะเป็นคนที่อยู่กับปัจจุบันและมีอนาคต แต่อดีตก็เป็นสิ่งสำคัญ

“อย่างน้อยมันก็ทำหน้าที่กระตุ้นเตือนให้เราไม่หลงลืมตัวเองว่าเคยเป็นใคร”

พิพิธภัณฑ์แห่งวันเวลา

ป้าลินจงมีความตั้งใจว่าจะทำให้ห้องภาพนครศิลป์เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งวันเวลาสำหรับคนสตูล

“เราอยากทำให้ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ให้คนที่เข้ามาที่นี่ได้เห็นว่าเมื่อก่อนเมืองสตูลเมื่อ 60-70 ปีก่อนเป็นอย่างไร ใครที่เคยถ่ายภาพครอบครัวกับเราตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง หรือในช่วงเวลานั้นเป็นยังไง ได้เห็นปู่ย่าตายายว่าสมัยที่ยังหนุ่มสาว หรือยังมีชีวิตอยู่หน้าตาเป็นแบบไหน หล่อไหม สวยไหม รูปถ่ายในตอนนั้นมีใครบ้าง ถ่ายเอาไว้ปีไหน ในวาระอะไร คือเราอยากให้คนที่เดินเข้ามาเยี่ยมชมได้รำลึกความหลังเหล่านี้ไปด้วยกัน”

ไม่ใช่แค่ภาพถ่ายในอดีตที่บันทึกเอาไว้ให้ผู้คนได้เข้ามาชม หากแต่ป้าลินจงยังเก็บเครื่องมือถ่ายภาพที่มีมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อเอาไว้ รวมทั้งจำลองบรรยากาศของห้องภาพนครศิลป์เมื่อเกือบ 100 ปีก่อนอีกด้วย

“ผู้คนที่มาเยี่ยมชมจะได้เห็นกล้องภาพถ่ายเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน นอกจากนี้ยังจะได้รู้ว่าเขาถ่ายภาพหรือทำงานกันยังไงในยุคนั้น อุปกรณ์แต่ละชนิดมีหน้าที่อะไรบ้าง ฯลฯ ยิ่งสมัยนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้การจะได้มาซึ่งภาพแต่ละภาพนั้นไม่ง่ายเลย”

ถึงแม้ในปัจจุบันแทบทุกคนจะมีกล้องในโทรศัพท์มือถือและสามารถบันทึกได้ด้วยตัวเอง ห้องภาพนครศิลป์ก็ยังคงเปิดให้บริการถ่ายรูปครอบครัวให้กับผู้คนอยู่เหมือนเดิม ทั้งที่จะว่าไปป้าลินจงก็ยังไม่คุ้นเคยกับกล้องดิจิทัลในปัจจุบันมากนัก

“ถามว่าเรากับกล้องดิจิทัลในปัจจุบันเป็นอย่างไร ต้องบอกเลยว่าไม่คุ้นเคยกันมากนัก แต่ที่เรายังคงเปิดให้บริการอยู่ นั่นเป็นเพราะว่าลูกค้าหลายๆ คนเขายังเชื่อใจในตัวเรา บางคนใส่ชุดครุยมาให้เราถ่ายรูปรับปริญญา บางคนลงมาจากกรุงเทพฯ เพื่อให้เราถ่ายภาพ Pre wedding ซึ่งมันเป็นวันสำคัญในชีวิตของเขา เราก็จะพูดคุย รวมทั้งบอกกับเขาตรงๆ ว่าเรายังไม่คุ้นกับกล้องดิจิทัลนัก แต่เขาก็ยังยืนยันว่าเขาไม่อยากให้ใครถ่ายนอกจากเรา เราก็พยายามสุดฝีมือ และผลงานที่ออกมาเขาก็พึงพอใจ”

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย การที่ร้านถ่ายภาพแห่งหนึ่งยังคงหยัดยืนอยู่ได้มาเป็นเวลาเกือบ 100 ปี ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายนัก

ป้าลินจงไม่ได้แค่ถ่ายรูป หากแต่ยังถ่ายทอดหัวใจของตัวเองลงไปในภาพทุกใบให้กับลูกค้าที่เธอรัก 

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ