‘พาผู้สูงวัยไปหาหมอ’ อาชีพใหม่ของเพื่อนซี้วัย 59 กับความตั้งใจดูแลผู้สูงวัยไม่ต่างจากดูแลพ่อแม่ของตัวเอง

เมื่อพ่อแม่มีนัดไปหาหมอที่โรงพยาบาลและคุณต้องพาไป แต่คุณติดงานและลาไม่ได้ จะทำอย่างไร

ก. ไหว้วานญาติพี่น้องให้ช่วยพาไป

ข. จ้างแท็กซี่แถวบ้านให้ไปรับ-ส่ง

ค. ขอเลื่อนนัดหมอ

ง. ลาออกจากงาน ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เพราะคงมีกรณีแบบนี้อีก

ผู้สูงวัยเพิ่มจำนวนขึ้น แต่คนที่สะดวกพาไปโรงพยาบาลได้กลับลดจำนวนลง การพาพ่อแม่ไปโรงพยาบาลจึงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกสักที เพราะภารกิจนี้ไม่ใช่เรื่องใช้เวลาแป๊บเดียว แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนก็ยังต้องมีการไปติดต่อตามจุดต่างๆ กว่าจะครบทุกขั้นตอน ไม่ต้องพูดถึงโรงพยาบาลรัฐซึ่งเป็นที่ีพึ่งของคนส่วนใหญ่ที่มักจะต้องไปรอคิวตั้งแต่เช้าตรู่ ต้องติดต่อข้ามตึก หรือภาพคุ้นตาของเก้าอี้ที่ไม่พอรองรับจำนวนผู้ป่วยและญาติจนต้องนั่งเลยจากหน้าห้องตรวจไปไกล ในขณะที่ใจก็คอยพะวงว่าพยาบาลเรียกชื่อแล้วจะไม่ได้ยินหรือเปล่า ทั้งยังต้องเดินหลบคน หลีกเตียงคนไข้และวีลแชร์ จนการพาพ่อแม่ไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งดูจะใช้พลังงานมากกว่าการทำงานเสียอีก

หากประเมินสถานการณ์แล้วไม่อาจตัดใจส่งผู้สูงวัยให้ลุยเดี่ยวไปเองได้ ส่วนตัวเลือกข้างบนก็ไม่ลงล็อกสักข้อ เราขอชวนทำความรู้จักบริการแนวใหม่ที่ก่อตั้งด้วยสปิริตของสองเพื่อนซี้วัย 59 ปี อ๊อด-วรรณวิภา มาลับนวล และ อั๋น-เนรมิต จุลละสุวรรณ กับธุรกิจให้บริการ ‘พาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล’ ด้วยการดูแลระดับพรีเมียมที่สร้างความไว้ใจให้กับลูกค้ามานานกว่า 3 ปี

        ธุรกิจที่เริ่มจากประสบการณ์ตรงและความตั้งใจที่มาจากเรื่องใกล้ตัว

พี่อ๊อดและพี่อั๋นเองก็เป็นลูกที่ต้องพาแม่ไปโรงพยาบาลทุกเดือน สิ่งที่ทั้งคู่สังเกตได้ก็คือเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกติดธุระ แม่ก็มักเกรงใจ กลัวทำให้ลูกเดือดร้อนเพราะตัวเอง จนถึงขั้นที่บางทียาหมดก็ไม่กล้าบอก สุดท้ายกลายเป็นอันตรายกว่าเดิมเพราะการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง ทั้งคู่คิดถึงสิ่งที่เจอกับตัวโดยตรงจนเห็นแก่นของปัญหาและตกผลึกเป็นบริการที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัยได้อย่างตรงจุด

เพราะต้องการตอบโจทย์ให้ได้ตามความตั้งใจ ทั้งคู่จึงตกลงกันว่าจะรับลูกค้าโดยคำนึงถึงคุณภาพในการดูแลมากกว่าปริมาณ

“แต่ละวันเรารับได้เต็มที่แค่ 1-2 คนเท่านั้น เพราะผู้สูงวัยใช้เวลาที่โรงพยาบาลนานและเราไม่รีบ เคสที่ติดต่อมาส่วนใหญ่เป็นลูกคนเดียว พ่อแม่ไปโรงพยาบาลเดือนละ 2-3 ครั้ง จะลางานบ่อยก็ไม่ดี บางเคสขนาดมีลูก 3 คน จังหวะงานชนกันหมดทุกคนก็ยังมี บางคนต้องไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศช่วงนั้นพอดี

“บริการของเรามาอุดช่องโหว่ตรงนี้ โดยตั้งเป้าว่าจะดูแลลูกค้าเหมือนญาติผู้ใหญ่เพื่อให้ผู้รับบริการสบายใจที่สุด”

ขั้นตอนในการทำงานของทั้งคู่เริ่มจากเมื่อลูกค้าติดต่อมา ทีมงานสองเพื่อนสนิทก็จะนัดหมายวันเวลาและตำแหน่งบ้านพักที่จะไปรับ พร้อมกับส่งรูปรถกับหน้าตาทีมงานไปให้ดูเพื่อย้ำว่า ถ้าไม่ใช่ป้ายทะเบียนนี้และหน้าตาแบบนี้ ห้ามขึ้นรถเด็ดขาด พอถึงวันจริงพี่อั๋นและพี่อ๊อดจะไปรับที่บ้าน พาไปโรงพยาบาล ประสานคิวตามขั้นตอน พาเข้าห้องน้ำ พาไปกินอาหาร หรือแม้แต่การเตรียมตัวก่อนเข้าตรวจ พี่อ๊อดจะคอยชวนคุยระหว่างรอหมอ

หลังจบครบทุกขั้นตอนของภารกิจ พี่อั๋นจะขับรถจะมารับถึงหน้าประตูแล้วพาไปส่งถึงบ้าน ผู้สูงวัยบางคนนานๆ จะได้ออกจากบ้านเลยมีรีเควสต์พิเศษเพิ่มมา ขอแวะกินข้าวหรือซื้อของอร่อยก่อนกลับ ทั้งคู่ก็ยินดีให้บริการเพราะเข้าใจความรู้สึก ส่วนค่าบริการเริ่มต้นที่ 800 บาท โดยคำนวณจากระยะทางไป-กลับและระยะเวลาที่ใช้ในโรงพยาบาล

อยากเป็นผู้ให้(บริการ) กาย-ใจ ต้องพร้อม

‘รักในสิ่งที่ทำ’ คือคำแนะนำสำหรับคนที่อยากลองให้บริการแบบเดียวกันนี้บ้าง นอกเหนือไปจากนั้น พี่อ๊อดเน้นว่าต้องเป็นคนที่อดทน ใจเย็น และหมั่นหาความรู้

ที่ต้องเน้นเรื่องการหาความรู้ว่าเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่จำเป็น เพราะเมื่อทั้งคู่ตกลงกับผู้ใช้บริการแล้ว คำถามที่จะต้องถามเพิ่มเติมข้อแรกเลยก็คือ “ป่วยเป็นโรคอะไร” เพราะคำถามนี้จะนำไปสู่การทำงานขั้นต่อไปนั่นเอง

“พี่จะถามเขาก่อนว่าป่วยเป็นอะไร แล้วหาข้อมูลว่าโรคนี้มีอาการแบบไหน ควรถามอะไรกับคุณหมอบ้าง มีข้อควรระวังเป็นพิเศษไหม เพราะหลายครั้งโรคของผู้สูงวัยมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้ามีคำแนะนำจากแพทย์ เราจะจดข้อมูลแล้วส่งให้ลูกเขาอีกที”

อีกเรื่องที่สำคัญมาก็คือการดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ พี่อั๋นคือหัวหอกของทีมในเรื่องนี้เพราะออกกำลังกายต่อเนื่องมาร่วม 30 ปีแล้ว ทั้งคู่มองว่า “ถ้าเราไม่แข็งแรงเราจะไม่สามารถช่วยใครได้เลย บางทีตัวเราเล็กกว่าผู้ป่วยเยอะ ถ้าเรามีกล้ามเนื้อแข็งแรง การเข็นรถ การประคองจะกลายเป็นเรื่องง่าย การออกกำลังกายที่เน้นเสริมกล้ามเนื้อ เน้นการเต้นของหัวใจจึงจำเป็น”

สิ่งสุดท้ายคือต้องมีใจอยากดูแล เพราะการเป็นตัวกลางระหว่างโรงพยาบาลและผู้สูงวัยต้องใจเย็น

“เวลารอนานๆ ผู้ป่วยอาจจะรำคาญใจได้ เราต้องมีวิธีคุยไม่ให้เขาเบื่อ หรือถ้าสังเกตว่ารอนานเกินไปต้องชิงบอกว่าเราจะจัดการให้ก่อนที่เขาจะหงุดหงิด หรือบางครั้งผู้สูงวัยขยับตัวช้า เขาก็จะเกรงใจ เราต้องทำให้เขารู้สึกอุ่นใจว่าเรารอได้จริงๆ”

การใส่ใจทุกรายละเอียดเพื่อให้ผู้รับบริการได้อะไรมากกว่าความคาดหวังคืออีกสิ่งที่รวมอยู่ในงานของพี่อ๊อดและพี่อั๋น

“ความเจ็บป่วยทำให้เขาทุกข์อยู่แล้ว สิ่งที่จะช่วยได้คือการรับฟัง อย่างน้อยให้เขามีโอกาสระบาย เล่าเรื่องความเจ็บปวด บางทีที่บ้านอาจไม่มีใครว่างรับฟังแต่เราเปิดโอกาสให้เขาได้เล่า แค่เขาได้เล่าให้ใครสักคนฟังอาจช่วยคลายความเจ็บปวดได้บ้างไม่มากก็น้อย

“ถ้าเขาใส่อารมณ์กับเราก็ให้คิดไว้ว่าความทุกข์ที่เกิดกับเรานั้นมันเกิดขึ้นแค่แป๊บเดียว แต่ความทุกข์ของเขามันมากกว่า ยาวนานกว่า ถ้าเรามองเห็นความทุกข์ของเขา ความหงุดหงิดในใจเราจะคลายไป”

ทั้งสองคนยังจำได้ดีว่าลูกค้ารายแรกของพวกเขาคือใครและเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันแรกของการทำงาน

“ลูกค้ารายแรกป่วยเป็นมะเร็ง พอถึงโรงพยาบาลคุณป้าบอกว่าไม่ไหว ขอเตียงเข็น เราก็ใหม่มาก เตียงก็เข็นยากด้วย กลัวเข็นแล้วจะชนโน่นชนนี่ แต่โชคดีมีวัยรุ่นมาช่วยเข็นจนถึงหน้าห้องหมอ มาถามตอนหลังถึงรู้ว่าเป็นชาวพม่า เขาเห็นเราเข็นเก้ๆ กังๆ เลยเข้ามาช่วย ตอนนั้นเราซึ้งในน้ำใจเขามาก เพราะแม้ไม่รู้จักกันแต่ก็พร้อมช่วยเหลืออย่างดีที่สุด

“ระหว่างรอคิวคุณป้าอาเจียนเป็นสีดำ เข้าห้องน้ำก็ถ่ายออกมากลิ่นแรงมาก แกขอโทษขอโพยเรายกใหญ่ เราได้แต่ปลอบว่าไม่เป็นไร แต่ก็รู้สึกผิดสังเกตกับอาการ วันนั้นคุณหมอตรวจเลือดแล้วก็ขอให้แอดมิทเลย คุณป้าโทรปรึกษาลูกที่อยู่ต่างจังหวัดแล้้วขอกลับไปเตรียมตัวที่บ้านก่อน เดี๋ยวหลานจะมาส่งเอง พยาบาลก็ย้ำว่าให้กลับมาแอดมิทก่อน 16.30 น. พอส่งคุณป้าที่บ้านเสร็จ เรากลัวคุณป้าไม่ได้เตียงก็ยังวิ่งรถกลับมาย้ำพยาบาลอีกครั้ง

“จากนั้น 2-3 วันก็เห็นลูกสาวเขาโพสต์ว่าแม่เสียแล้ว แม้เจอกันแค่ครั้งเดียว แต่คุณป้ากลับเป็นครูสอนให้เราเห็นความสำคัญของช่วงเวลาปัจจุบันชัดขึ้น เราไม่รู้เลยว่าจะได้เจอเขาอีกหรือเปล่า รู้แต่ว่าต้องทำทุกขณะให้ดีที่สุด”

จากเหตุการณ์วันนั้นทำให้พี่อ๊อดและพี่อั๋นยิ่งตั้งใจว่า จะต้องดูแลลูกค้าทุกคนให้ดีที่สุด

ฝึกซ้อมเยียวยาก่อนเผชิญหน้ากับความจริง

หากความชรา ความเจ็บป่วย และการจากลา คือเรื่องที่ต้องเจอซ้ำๆ ในทุกวันของการทำงาน บางคนอาจสตรองพอจะก้าวต่อไป แต่บางคนกลัสะดุดและจมดิ่งกับมันจนไม่อาจถอนตัว

หนึ่งในเคสที่พี่อ๊อดจำได้แม่นคือคู่รักสามี-ภรรยาวัยชรา คุณป้าข้อเท้าหักต้องเข้าผ่าตัดในขณะที่คุณลุงอยู่ในห้องไอซียู พี่อ๊อดเล่าถึงเรื่องนี้ว่า “หมอบอกว่าอาการของคุณลุงไม่ค่อยดี ต้องฟอกไตด่วน มีช่วงหนึ่งคุณป้าหันมาถามเราว่าจะทำอย่างไรดี จังหวะนั้นเรารู้สึกเหมือนเป็นญาติ อยู่ด้วยกันในขณะที่แกต้องรับฟังข่าวร้าย เราพยายามดึงตัวเองกลับมาแล้วเป็นสติให้เขา

“พอถึงช่วงจากลา เราเข็นวีลแชร์พาคุณป้าเข้าไปหาคุณลุงที่กำลังฟอกไต ทั้งสองคนจับมือกันแน่นเหมือนไม่อยากปล่อยกันไป ภาพนั้นมันกระทบความรู้สึก เป็นภาพที่ทำให้เรานึกถึงตัวเอง นึกถึงการจากลาของคนที่เรารัก กลายเป็นว่าเรากลัวไปหมด มันไม่เหมือนในหนังที่ร้องไห้แล้วจบ แต่นี่ทั้งสีหน้าแววตา เรารับรู้ความรู้สึกได้ ถ้าไม่รีบถอนความรู้สึกออกมา เราคงทำหน้าที่ต่อไม่ได้

แม้จะสนใจเรื่องการฝึกสมาธิ ฟังธรรมะ และเข้าร่วมคลาสเพื่อศึกษาภาวะความตายอยู่บ่อยครั้ง แต่พี่อ๊อดยอมรับว่าการรับมือกับสถานการณ์จริงเป็นเรื่องยาก ถ้าดึงสติได้เร็วก็ละวางความทุกข์ได้ แต่บางครั้งความเจ็บปวดยังคอยกัดกินไม่เลิก และที่สำคัญต้องฝึกตั้งแต่ข้างในยังแข็งแรง เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์ทุกคนต้องเผชิญกับความเจ็บหรือการจากลาโดยลำพัง

“แม่เราเพิ่งเสียเมื่อเดือนพฤษภาฯ ที่ผ่านมา แม่เป็นคนแข็งแรงมาก ทำกับข้าวเก่ง เรารู้ล่วงหน้าแค่เดือนเดียวก่อนแม่จะเสียว่าแม่เป็นมะเร็งลำไส้ ตอนนั้นสถานการณ์โควิดก็เริ่มหนัก ทีมแพทย์และพยาบาลปั่นป่วนมาก เรายื้อกันอยู่หน้าห้องฉุกเฉินเพราะแม่ก็ทนไม่ไหว

“หลังผ่าตัดแม่ต้องอยู่ในไอซียู เราห่วงแม่มากแต่ทำอะไรไม่ได้สักเท่าไหร่ พอเจอหน้ากันแม่บอกว่า ‘ถ้าแม่จะตาย ให้อ๊อดจับมือแม่ไว้นะ’ นี่คือความรู้สึกของคนที่ไม่อยากโดดเดี่ยว แม่เจ็บปวดและรู้ว่าครั้งนี้คงรักษาไม่ได้แล้ว ก่อนเสียแม่เลยขอกลับมาอยู่ที่บ้าน พอกลับมาได้ 3 วัน แม่ก็เสีย ตอนนั้นเราจับมือแม่ไว้ตลอด เราคิดว่าตัดสินใจถูกที่พากลับบ้านอย่างที่เขาขอ อย่างน้อยแม่ก็ได้กลับมาอยู่กับคนที่รัก ในที่ที่แกรัก”

พี่อ๊อดอธิบายเพิ่มว่า การเผชิญสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ ไม่ได้การันตีว่าเราจะคุ้นชินทุกครั้งที่เจอ แต่มันเป็นสิ่งที่คอยเตือนให้เรารับรู้ความจริงของชีวิตและฝึกที่จะยอมรับ

“ธรรมะสำคัญกับเรามาก บางคนว่ายิ่งเห็นเยอะยิ่งทำใจได้ง่าย แต่ลึกๆ ข้างในมันอาลัยอาวรณ์ เหมือนสะกิดโดนแผลแล้วมันกำเริบ เราสนใจเรื่องการเผชิญหน้ากับความตายอยู่แล้ว พอมาทำงานตรงนี้ก็ยิ่งตอกย้ำว่าชีวิตมันสั้น ความเจ็บป่วยและความตายจะมาเมื่อไหร่ไม่รู้ ยิ่งในวิกฤตโควิด-19 ยิ่งต้องตระหนักและป้องกัน การดูแลตัวเองมันแสดงถึงความรักที่เรามีให้กับคนรอบข้าง ยิ่งเราจัดการตัวเองให้ปลอดภัย คนที่เรารักก็ปลอดภัยไปด้วย แต่บางครั้งการป้องกันอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ

“เพราะฉะนั้นถ้าเราซ้อมเผชิญหน้ากับความทุกข์มาอย่างต่อเนื่อง มันอาจช่วยได้ในวินาทีที่เราต้องการ”

อีกบทเรียนจากการทำงานตลอด 3 ปีที่นำมาใช้กับได้ด้วยเป็นผลจากการใช้เวลาร่วมกับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน

“การได้ลองใช้ชีวิตร่วมกับคนที่เราไม่รู้จักช่วยทำให้เราเติบโตนะ เราได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง มุมมองจากประสบการณ์จริง และมันคือความจริงของชีวิต การได้เห็นความเป็นไปในโรงพยาบาลมันคือการซ้อม ซ้อมเพื่อเผชิญกับวันที่เราต้องเจ็บป่วย วันที่ต้องจากไป

“ทุกครั้งที่จบงาน เราสองคนจะทบทวนว่าวันนี้ได้บทเรียนอะไรที่ปรับใช้ในชีวิตของเราได้บ้าง สิ่งหนึ่งเลยที่เราตั้งใจคือเราอยากสูงวัยอย่างมีความสุข”

หน้าตาความสุขที่พี่อั๋นและพี่อ๊อดคิดไว้เป็นแบบไหนคือคำถามต่อไป

“เราอยากเป็นผู้สูงวัยที่สงบและเป็นที่รักของคนรอบข้าง ต้องรอคอยเป็น อดทนได้ เวลาเจอคุณลุงคุณป้าที่ใจเย็นแล้วอยากอยู่ใกล้เพราะจริงๆ เราเป็นคนใจร้อน แต่พออยู่กับผู้สูงวัยมากๆ ตอนนี้เลยใจเย็นลง มีป้าสะใภ้คนหนึ่งขนาดว่าเราโตแล้วแกยังชอบกอดชอบหอมหัวเหมือนเราเป็นเด็กๆ มันอบอุ่นนะ เราอยู่ใกล้เขาแล้วมีความสุข ป้าไม่เคยพูดเรื่องแง่ลบให้เราฟัง เขาจะคอยถามไถ่เราว่าตอนนี้ทำอะไร ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง เหมือนแกรอคอยฟังเรื่องราวจากเรา

“แบบนี้นี่ละผู้สูงวัยที่เราอยากเป็น”


เมื่อ ‘เข้าใจ’ การปรับจูนระหว่างวัยก็ไม่ใช่ปัญหา

นอกจากไม่มีเวลาให้ ความต่างกันของช่วงวัยคือสิ่งที่ทำให้ผู้สูงวัยต้องพึ่งตัวเอง ไม่ว่าจะมีทางเลือกหรือไม่มีทางเลือก แล้วปัญหานี้จะแก้ได้อย่างไร

“การปรับตัวเข้าหากันมันอยู่ที่ใจ ถ้าจะให้ผู้สูงวัยปรับเข้าหาเราอย่างเดียวมันยาก บางคนถูกตีกรอบความคิดความเชื่อมานาน ลูกหลานอาจต้องค่อยๆ ปรับเข้าหา ลองสังเกตดูเวลาเห็นผู้สูงวัยแปลกหน้า เรามักสงสารและอยากช่วยเหลือ เพราะไม่มีประสบการณ์ด้านลบมาเป็นตัวบล็อก ดังนั้น ทางแก้คือต้องขจัดกำแพงที่กั้นไว้ระหว่างเรากับคนใกล้ตัว”

การทำงานนี้ยังสอนพี่อ๊อดและพี่อั๋นว่า มนุษย์เราล้วนต้องการอิสระ แต่ผู้สูงวัยบางคนไม่มีอิสระด้านการเงินหรือการเดินทาง เมื่อเจ็บป่วยก็ยิ่งไม่มีอิสระในร่างกายตัวเอง

“นี่คือสิ่งที่ทำให้เขาเครียด ลูกค้าบางคนตอนหยิบเงินให้เรามือเขาสั่นมากเพราะไม่มีแรง แรกๆ เราใจร้อน อยากช่วย แต่ตอนหลังเรียนรู้ว่าต้องรอให้เป็น เราต้องยอมให้เขามีอำนาจ มีอิสระที่จะหยิบเงินส่งให้เรา ถ้าสำเร็จเขาจะมีพลังใจ” การคิดได้แบบนี้ช่วยให้ใจคนทำงานเบาลงได้และเข้าใจลูกค้ายิ่งขึ้น

พี่อ๊อดสารภาพว่าครั้งหนึ่งตัวเองก็เคยรู้สึกต่อต้านคุณแม่สามีที่เป็นอัลไซเมอร์เพียงเพราะไม่เข้าใจ “ตอนนั้นคำถามเต็มไปหมดว่าทำไมเขาทำแบบนี้ พูดแบบนี้ เราเห็นเขาถือกล้วยไว้เหมือนกำลังจะกิน พอเราถาม เขากลับหงุดหงิดใส่เราแล้วบอกว่าไม่ได้กิน เขาเป็นบ่อยจนนึกว่าแกล้งกัน แต่พอศึกษาเพิ่มถึงได้รู้ว่ามันเป็นอาการของโรค เลยอยากให้ลูกหลานเป็นฝ่ายลองปรับจูนดูก่อน เพราะเราสามารถหาข้อมูลและชุดความคิดใหม่ๆ ได้อีกเยอะ”

อีกสิ่งที่คนในเจเนอเรชันลูกหลานควรปล่อยวางได้คือความคาดหวัง คนส่วนใหญ่มักติดภาพว่าพ่อแม่เก่ง เคยทำอะไรได้หลายอย่าง แต่พอถึงวันหนึ่งกลับทำไม่ได้ คำแนะนำในเรื่องนี้ก็คือควรมองพ่อแม่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีความแก่ชรา ผิดพลาดได้ หลงลืมได้ ไม่รู้ได้ ลองปรับมุมคิดเปิดใจเข้าหากันแล้วความสัมพันธ์จะดีขึ้น

“ผู้สูงวัยบางคนคิดลบเพราะชีวิตเขาผ่านเรื่องร้ายมาเยอะ อย่างแม่เราบ่นเก่งมาก บ่นจนเราต้องไปปรึกษาจิตแพทย์ หมอถามว่าถ้าให้เลือกระหว่างแม่บ่นทั้งวันกับนั่งนิ่งๆ ไม่พูดอะไรเลย จะเลือกแบบไหน พอกลับมาได้ยินแม่บ่น คราวนี้เลยคิดติดแบบตลกว่าแม่กำลังบริหารปอด เราอยากให้แม่บ่น 24 ชม. การบ่นเป็นพลังชีวิตของแม่ ตอนหลังเราเลยแหย่ให้เขาบ่นเยอะๆ”

ตั้งต้นความฝันใหม่ จะวัยไหนก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

ถ้าจะเริ่มต้นใหม่ควรเริ่มในวัยที่ยังมีแรงอาจเป็นคำแนะนำที่คนส่วนใหญ่ได้ฟังมาตลอดชีวิต ซึ่งอาจขัดกับข้อเท็จจริงในยุคนี้ ยุคที่คนวัยเกษียณจำนวนมากยังมีแรง มีพลัง ทั้งยังผ่านร้อนผ่านหนาว ตกตะกอนความคิดจนรู้ว่าท้ายที่สุดแล้วชีวิตต้องการอะไร

“อายุ 50 กว่าไม่ใช่การเข้าสู่ช่วงวัยสุดท้าย บางคนคิดว่าเกษียณควรพักได้แล้ว แต่สำหรับพวกเรามันคือโอกาสที่จะทำสิ่งใหม่ ตราบใดที่เรายังแข็งแรง อายุไม่ใช่ข้อจำกัดในการเริ่มต้น”

ตั้งแต่เริ่มให้บริการนี้ พี่ๆ ทั้งสองได้รับกำลังใจทั้งจากคนที่รู้จักและไม่รู้จัก คนที่ไม่ได้ติดต่อกันนานก็โทรมายินดีและสนับสนุนให้ทำต่อ ด้วยเพราะบริการนี้คือหนึ่งในทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

“เราคิดว่างานที่ทำมันตอบโจทย์ปัจจุบันและยั่งยืนไปถึงอนาคต เพราะต่อไปสังคมสูงวัยจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ อีกหน่อยบริการแนวนี้จะมีหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น พาไปเที่ยว พาไปทำบุญ พาไปทำภารกิจต่างๆ ที่เขาอยากทำ เพื่อนที่ไว้ใจได้สำคัญมากสำหรับผู้สูงวัย อย่างในญี่ปุ่นก็มีบริการเพื่อนคุย พาไปเที่ยว ในอนาคตเมืองไทยก็คงคล้ายกัน”

พี่อั๋นยังย้ำถึงโอกาสในอาชีพนี้ว่า “ถ้ามีคนสนใจธุรกิจแนวนี้เราสนับสนุนเต็มที่ จะวัยรุ่นหรือวัยไหนก็ทำได้ถ้าแข็งแรงและเตรียมตัวให้ดีพอ เราเชื่อว่าจะมีลูกค้ารอใช้บริการอีกเยอะ สำคัญที่ต้องจริงใจให้บริการเหมือนเราเป็นลูกหลาน แล้วการทำงานของเราจะช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในสังคมดีขึ้นกว่าเดิม”

จากจุดเริ่มต้นของบริการรูปแบบใหม่ที่ถ้าไม่ลองก็คงไม่รู้ การตลาดที่ตั้งอยู่บนความจริงใจ วันนี้บริการ ‘พาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล’ มีลูกค้าจองคิวอย่างต่อเนื่อง ในวัยปลาย 50 ของสองเพื่อนซี้ การทดลองสิ่งใหม่ไม่ใช่เรื่องเกินจริง ผลตอบแทนอาจไม่ใช่แค่ตัวเงินหรือความสุขใจ แต่เป็นบทเรียนชีวิตที่ต่อให้อ่านทฤษฎีมากมายแค่ไหนก็ไม่มีทางข้ามผ่านไปได้หากไม่เคยเผชิญด้วยตัวเอง

ติดต่อเพจ ‘พาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล’ ได้ทาง www.facebook.com/TakeCareMomDad

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ