คำสัญญาจากว่าที่ผู้ว่าฯ ถึงลุงป้า กทม. - เมื่อลุงป้าท้าว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ

read : SOCIETY

“ถ้าใครในนี้ได้เป็นผู้ว่าฯ เขาสัญญากับลุงป้าว่าจะทำอะไร” นี่ไม่ใช่โพสต์หาเสียง หรือคุยเรื่องนโยบาย แต่เป็นโพสต์คำสัญญาจากว่าที่ผู้ว่าฯ ถึงลุงป้า กทม. 

มนุษย์ต่างวัยทำแคมเปญนี้ขึ้นมา เพราะเชื่อมั่นในพลังของชาวสูงวัย ที่พร้อมจะออกไปใช้สิทธิเลือกคนที่ใช่ ! เพราะในจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,400,000 คน มีผู้สูงวัยอายุ 60+ ปี มากถึง 1,200,000 คน คิดเป็น 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในครั้งนี้

ส่งเสียงของเราให้ถึงเหล่าผู้สมัครฯ “22 พ.ค. 65 แสดงพลังสูงวัย เข้าคูหากาเบอร์ที่ใช่ !” 

ครูรัตน์-วิรัตน์ สมัครพงศ์ อายุ 70 ปี เกษตรกรออนไลน์ เจ้าของเพจ เกษียณแล้วทำไรดีวะ? By Krurat จากเขตจตุจักร

“ผมเป็นห่วงเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจของเหล่าสูงวัย นอกจากป่วยไข้ บางท่านก็มีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้า ก็เลยอยากจะถามท่านว่าที่ผู้ว่าฯ นโยบายที่จะช่วยดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจให้กับผู้สูงวัย อย่างไรบ้างครับ”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 4 

“ในอนาคตผู้สูงอายุมากขึ้นทุกวัน คนดูแลอาจไม่พอ อยากจะทำ ‘กำไลชีวิต’ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้สูงอายุสามารถกดแจ้งเหตุ มีอาสาสมัคร สาธารณะสุขเข้าช่วยเหลือและดูแลได้ทันท่วงที ”

“การดูแลผู้สูงอายุ สำคัญที่สุดคือต้อง ชับไว ‘นโยบายอินเทอร์เน็ตฟรีทั่ว กทม. Wifi ฟรี 150,000 จุด’ สามารถเชื่อมโยงผู้สูงวัย เข้ากับโรงพยาบาลใกล้บ้าน ศูนย์อนามัยชุมชน ผ่านกำไลชีวิต ผู้สูงอายุกดแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ และสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว ก็จะรู้สึกปลอดภัย ลูกหลานไปทำงานแล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วง” 

ป้าแดง-สุวัน แววพลอยงาม อายุ 64 ปี ผู้ริเริ่มกลุ่มฟื้นฟูศิลปะนางเลิ้ง นางเลิ้ง 100% จากเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

“นอกจากตลาดนางเลิ้ง เราอยากทำพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของผู้สูงอายุ เป็นตลาดสำหรับผู้สูงอายุได้มาค้าขาย พูดคุย เจอหน้า ได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกัน”

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 6

“กทม. เรามีศูนย์ฝึกอาชีพ ขนาดใหญ่อยู่ 11 ศูนย์ที่จะช่วยเสริมทักษะให้ผู้สูงอายุ มีหลักสูตรมากมายให้ผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไป ได้เลือกเรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ”

“กทม. เชิญผู้ประกอบการ มาร่วมออกแบบหลักสูตรสร้างงานของผู้สูงวัย ยกตัวอย่างโรงงานกิมเฮง ทำขนม ออกแบบหลักสูตรร่วมกันกับ กทม. ช่วยเสริมองค์ความรู้ให้กับผู้สูงวัย หลักสูตรเอกชนเป็นหลักสูตรระยะสั้น ใช้เวลา 1-3 เดือน เมื่อจบหลักสูตรก็รับผู้สูงอายุเข้าไปทำงานในโรงงานนั้น ๆ ด้วย”

“และยิ่งการแพทย์ในปัจจุบันดีขึ้น ทำให้คนอายุยืนขึ้น บางท่าน 60 ปี ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง เราก็เลยเริ่มต่ออายุเกษียณไปจนถึง 65 ปีในบางพื้นที่แล้ว” 

ป้านุช-อรนุช เลิศกุลดิลก อายุ 60 ปี จิตอาสาเพื่อผู้สูงวัย ผู้ก่อตั้ง โครงการเพื่อผู้สูงอายุ ForOldy ศูนย์เพลินวัย ผู้สูงวัยจากเขตคันนายาว

“หลายท่านมีนโยบายบำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาท จริงจังแค่ไหน ให้ถ้วนหน้าหรือมีเกณฑ์กำหนดอย่างไร อยากถามท่านว่าที่ผู้ว่าฯ ค่ะ”

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 7

“กทม.ทำได้แน่นอน บำนาญประชาชน 3,000 บาท โดยจะเข้ามาเสริมในส่วนของรัฐบาลที่มีการให้เบี้ยสูงอายุ 600, 700, 800 บาท แต่เราจะไม่ได้ให้เป็นการถ้วนหน้าในครั้งแรก เราจะให้กับผู้สูงวัยที่ไม่มีรายได้ ไม่มีหลักประกัน ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่เราจะจัดสรรค์ให้ก่อน ใช้เงินเพียงปีละ 14,000 ล้านเท่านั้น”

“โดยเงินนั้นไม่ได้เอามาจากงบประมาณแผ่นดินอย่างเดียว เราสามารถนำงบประมาณในส่วนนี้จาก 3 ช่องทาง ได้แก่ 1 .ปรับรายจ่ายเป็นรายรับ เช่นโครงการกำจัดขยะ 700 ล้านบาทต่อปี 2 .หยุดการทุจริตรับเงินใต้โต๊ะ ลดงบประมาณลงได้ถึง 20% เป็นเงิน 9,800 ล้านบาทต่อปี 3 .งบจากวิสาหกิจชุมชน ‘ กรุงเทพธนาคม ’ ปีละ 4,300 ล้านบาทต่อปี 1 ปีเราสามารถทำได้ 14,000 ล้าน จำนวนนี้สามารถเข้ามาให้ผู้สูงวัยจำนวน 530,000 คนใน กทม.” 


อ.หน่อง-จตุรงค์ หิรัญกาญจน์ อายุ 58 ปี ช่างภาพวัยเกษียณ อาจารย์พิเศษสอนถ่ายภาพในมหาวิทยาลัย จากเขตตลิ่งชัน

“ป้ายรถเมล์หลายป้าย ไม่มีที่หลบฝน ไม่มีที่หลบแดด ป้ายรถเมล์ที่ใช้แถวบ้าน ไม่เคยมีหลังคา ทางเท้าเป็นหลุมเป็นบ่อต้องระวัง ว่าที่ผู้ว่าฯแต่ละท่าน จะทำอย่างไร”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 8

“เมืองต้องออกแบบ แบบ “อารยสถาปัตย์ (universal design)” ผู้สูงอายุต้องเดินทางได้ดี ฟุตปาธเรียบ หากใช้วิลแชร์ก็จะต้องสะดวก”

“ที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องความปลอดภัย การเดินทางบนถนน โดยเฉพาะเรื่องทางม้าลาย เพราะผู้สูงอายุจะเดินช้ากว่าคนปกติ เวลามีอุบัติเหตุจะหนีไม่ทัน มองทางม้าลายไม่เห็น ต้องให้ความสำคัญเรื่องทางม้าลาย ไฟแสงสว่าง สัญญาณไฟจราจร ให้ผู้สูงอายุสามารถเดินทางได้ ปรับโครงสร้างเดิมให้ดีก่อน” 


Author

สาริศา รักษา

เป็นคนเขียนอะไรยาวๆ ที่ฝันอยากมีสังคมโรแมนติก

RELATED