นักกีฬาบ้าเก็บขยะ ‘ป้าเกศ-อมรา’ วินด์เซิร์ฟแชมป์โลกรุ่นใหญ่ที่ใจไม่เคยหยุดฝัน

ได้รางวัลครั้งแรกตอนอายุ 15 ปี

คว้าแชมป์โลกครั้งแรกตอนอายุ 17 ปี รอบสองตอนอายุ 40 ปี

เป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้แชมป์โลกวินด์เซิร์ฟ

ตอนอายุ 55 ปีก็ไม่หวั่นที่จะลงแข่งกับนักกีฬารุ่นลูกวัย 25 ปี

และความฝันในวัยใกล้ 60 ปี คือเล่นเซิร์ฟบอร์ดจากพัทยาสู่หัวหิน

นี่คือไทม์ไลน์ทางกีฬาฉบับย่นย่อของ ป้าเกศ-อมรา วิจิตรหงษ์ อดีตนักกีฬาวินด์เซิร์ฟทีมชาติที่ได้ครองแชมป์มานับไม่ถ้วน หลังจากเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 200 ครั้ง ใน 38 ประเทศทั่วโลก ทะเลจึงเป็นทั้งบ้าน โรงเรียน พื้นที่ขัดเกลาสติ และให้ชีวิตใหม่

“ตอนอายุ 13 ปี เรานั่งรถบัสมาพัทยาครั้งแรก พอเห็นทะเลเรารู้เลยว่า..นี่แหละที่ของฉัน เรารู้ตัวไวว่าต้องการอะไรตั้งแต่เด็ก”

หลายคนอาจคิดว่าป้าเกศมีพ่อแม่สนับสนุนให้ฝึกเล่นวินด์เซิร์ฟตอนหลังเลิกเรียนตั้งแต่เด็ก หรือได้โค้ชฝีมือดีมีดีกรีแชมป์โลก แต่เปล่าเลย เมื่อ 40 ปีก่อน หลังจากพ่อเสีย ป้าเกศต้องระหกระเหเร่ร่อนมาอยู่พัทยาตั้งแต่อายุ 13 ปี ทำงานส่งเสียตัวเองเรียน แต่ทันทีที่สองเท้ายืนมั่นคงอยู่บนบอร์ดพร้อมมุ่งหน้าออกทะเล ชีวิตของเธอก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

“เราอาศัยอยู่กับพี่สาวที่พิการจึงไม่อยากเป็นภาระ วันๆ เดินเก็บหอย หาปูแถวแหลมบาลีฮาย เก็บกระดาษหนังสือพิมพ์จากทหารอเมริกันมาพับถุงขายหารายได้ส่งตัวเองเรียน มีอยู่วันหนึ่งเราไปหาพี่ชายที่ทำงานในร้านเช่าวินด์เซิร์ฟ เห็นแล้วตื่นเต้นเลยขอเขาเล่นรอบหนึ่ง พอลองออกทะเลแล้วกลับมาได้ เท่านั้นแหละ สุขสุดๆ ไม่เคยสุขอะไรเท่านี้มาก่อน”

หลังคลุกคลีอยู่กับวินด์เซิร์ฟได้สักพัก ป้าเกศตัดสินใจไปขอช่วยงานที่ร้านในฐานะหน่วยกู้ภัย ใครบอร์ดแตกใบขาดก็ไปช่วยซ่อม แล้วหาเวลาฝึกเล่นไปในตัวก่อนลงแข่งขันนัดแรกที่พัทยา และนั่นคือแมตช์พลิกชีวิตป้าเกศ

“หลังเล่นได้ 3 เดือนเราก็ลงแข่ง วันนั้นเรานำหน้านักกีฬาชายทั้งหมด แข่งมาราธอนจนได้ที่ 1 ของนักกีฬาหญิง เลยคิดว่ามันใช่ทางของเราแล้วหละ ไม่ใช่แค่รางวัล แต่มีประสบการณ์หลายอย่างที่ทำให้เราแน่วแน่ในเส้นทางนี้ ครั้งหนึ่งตอนกำลังแข่งเราเห็นปลาหมึกตัวเท่าแขนแถวๆ หาดบาลีฮาย แล้วอยู่ๆ ก็มีโลมาตัวเล็กขึ้นมา 4 ตัว ก่อนที่โลมาตัวใหญ่จะโผล่ขึ้นมาอีกตัว ตอนนั้นเราไม่รู้ต้องทำยังไง ทั้งสนุกทั้งกลัวปนอยากกลับบ้าน แต่ก็อยากอยู่ต่อเพราะยิ่งเห็นยิ่งตื่นเต้น ความรู้สึกนี้เราจำได้ และยิ่งผลการแข่งขันออกมาได้ที่หนึ่งยิ่งทำให้เราอยากอยู่ในเส้นทางนี้เข้าไปอีก”

หลังจากนั้นป้าเกศก็ถูกเสนอชื่อไปแข่งที่ต่างประเทศ แม้จะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้แต่ก็เดินขึ้นเครื่องไปพูดแบบถูไถอยู่ในยุโรปได้นานกว่า 3 เดือน พอกลับมาก็คลุกคลีอยู่กับวงการวินด์เซิร์ฟและเป็นตัวแทนไปแข่งขันอีกหลายครั้งจนคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จ

เปลี่ยนแรงกดดัน ให้กลายเป็นแรงผลักดัน

“เราเกิดมาในครอบครัวที่ผู้หญิงไม่ได้รับโอกาสเท่าผู้ชาย เพราะความจนเลยถูกบูลลี่สารพัด ที่พัทยาคนต่างชาติจะมองว่าหญิงไทยเป็นโสเภณีเหมือนกันหมด เราเลยอยากพิสูจน์ให้โลกรู้ว่า ผู้หญิงไทยมีความสามารถ และไม่ได้ขายตัวทั้งหมด อยากให้โลกเห็นว่า ฉันเปลี่ยนชีวิตตัวเองได้แล้ว แสดงให้ครอบครัวเห็นว่า แม้เราจะเป็นหญิงแต่ก็ทำได้ดีเท่าผู้ชาย”

นอกจากทะเลจะเปลี่ยนชีวิต ประสบการณ์ในท้องทะเลยังช่วยขัดเกลาความคิดของป้า เพราะว่าชีวิตไม่ได้มีแค่ด้านเดียว ทะเลและวินด์เซิร์ฟคือความสุขของป้า แต่ความสุขที่เลือกก็มักมาพร้อมความทุกข์เหมือนกัน   ถ้าในสุขมีทุกข์ ในทุกข์ก็ย่อมมีสุขซ่อนอยู่เสมอ อย่างน้อยถ้าไม่สุขมันคือการเรียนรู้และเติบโต

“วินด์เซิร์ฟไม่ใช่การไปวิ่งที่ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันมีอุปสรรคตามมามากมาย อย่างเรื่องอุปกรณ์ที่เราเทียบกับต่างชาติไม่ได้ เวลาเจอพายุ เราต้องมีสติและแก้ปัญหาเองในทะเล เจอไต้ฝุ่นที่ญี่ปุ่น ที่เยอรมัน บางครั้งก็หวิดตาย แต่ทั้งหมดเป็นบทเรียนที่ทำให้เรากลับมาทบทวนว่า ถ้าเจออีกจะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นั้นได้อย่างไร   ทำให้เราต้องวางแผนชีวิตให้มากขึ้นก่อนไปเจอปัญหา และรู้จักประเมินความเสี่ยงในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ถ้าลมเท่านี้ควรจะลงไหม แล้วถ้ามันเกินลิมิตไปควรจะรับมืออย่างไร”

ทะเลคือชีวิต

ลมปะทะใบหน้า น้ำเย็นกระเซ็นสาดสัมผัสผิวกายชวนอะดรีนาลีนหลั่ง ป้าเกศเล่าให้เราฟังว่า ป้าจะไม่รักทะเลเท่านี้ถ้าไม่มีกีฬาที่ชื่อว่าวินด์เซิร์ฟ

“เวลาอยู่บนบอร์ดมันจะพาเราไปไหนก็ได้ วันนี้อยากจะไปเกาะล้านก็ไป อยากไปเกาะไหนก็ไป มันอิสระ แล้วเราชอบน้ำกับลม เวลาน้ำมาสัมผัสผิวทำให้เราสดชื่นและตื่นขึ้นมาอยู่กับความเป็นจริง ไม่ว่าจะไปไหนเราก็อยากกลับมาหาทะเล แรงของน้ำที่สัมผัสผิว ทำให้เรามีสมาธิ เวลาที่เรายืนบนบอร์ดต้านกับแรงดันน้ำ ความเร็วทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนได้ทำงาน เราชอบความรู้สึกแบบนี้

“ลม น้ำสะอาด อากาศเย็นสบาย   ทำให้ความคิดเราดีและปลอดโปร่งขึ้น เราได้ชีวิตใหม่จากทะเลและวินด์เซิร์ฟ น้องนักกีฬาหลายคนก็เปลี่ยนชีวิตได้เพราะกีฬานี้ จากเด็กที่ไม่รู้จะทำอะไรเพราะพ่อแม่ออกไปทำงาน พอใช้เวลาหลังเลิกเรียนมาเล่นกีฬานี้ก็ทำให้เขาพบประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างน้องดาว เขามาหัดตอนอายุ 11 ปี พอ 16 ปีก็ได้เหรียญทองเยาวชนหญิง เปลี่ยนชีวิตทั้งครอบครัวเลย และยังมีครอบครัวอื่นอีกเยอะแยะที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นโดยมีกีฬาวินด์เซิร์ฟอยู่เบื้องหลัง”

ประเทศไทยเราติดอันดับต้นๆ ของประเทศน่าเที่ยว โดยเฉพาะเกาะแก่งหาดสวยน้ำใสเรียกว่าไทยยืนหนึ่ง ป้าเกศย้อนความหลังให้เราฟังว่าชายหาดพัทยาแต่ก่อนฟ้าเป็นสีฟ้าใส แต่ตอนนี้ความสวยงามค่อยๆ โรยลงเพราะความมักง่าย

“เราเล่นเซิร์ฟไปสัก 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สักพักชนขยะโครมจนเราร่วงลงไปซี่โครงแทบหัก ตามโขดต่างๆ มักมีแก้วแตกทิ้งไว้ เดินๆ ไปโดนไม้เสียบลูกชิ้นจิ้มเข้าไประหว่างนิ้ว ส่วนปลาเล็กปลาใหญ่ก็ตายมากขึ้นโดยเฉพาะปลาฉลามวาฬ มันทำให้เราอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง มากกว่าแค่เดินเก็บขยะริมทะเลอยู่คนเดียว

“เมื่อ 20 ปีที่แล้วเราจึงไปอบรมดำน้ำเพื่ออนุรักษ์ทะเลกับมูลนิธิจุฬาภรณ์ ไปดำน้ำและเรียนรู้ชีวิตใต้ทะเลให้เข้าใจมากขึ้น เช่น เห็นปะการังมีอวนมีขยะติดเต็มไปหมดเลย ก็ต้องใช้สกิลสายบู๊ช่วยกันตัดออกมา”

ปัญหาแบบนี้มีมหาศาลซ้ำยังกระจายทั่วท้องทะเล เมื่อป้าเกศไม่มีเวลาและงบประมาณที่เพียงพอเลยหันมาช่วยรณรงค์ ทั้งให้ความรู้ชาวบ้านและเด็กๆ ชวนเพื่อนนักกีฬามาเล่นวินด์เซิร์ฟเก็บขยะ มีตั้งแต่อายุ 7 – 70 ปี เราทำมาเรื่อยๆ แล้วโปรเจกต์ก็ใหญ่ขึ้น จนคนตั้งฉายาให้ป้าเกศว่า นักกีฬาบ้าเก็บขยะ


เพราะทะเลเปลี่ยน เราจึงต้องชิงปรับ

ทะเลก็เหมือนบ้าน สัตว์ทะเลก็เหมือนครอบครัว เมื่อไหร่ที่เห็นบ้านสกปรกและคนในครอบครัวถูกทำร้าย ป้าเกศไม่อาจอยู่เฉยได้และเลือกยืนเคียงข้างครอบครัวที่ป้ารัก

“เราใช้เวลาอยู่บ้านและทะเลพอๆ กัน สัตว์พวกนี้ก็เหมือนเพื่อนเรา จำได้หลายครั้งตอนกำลังแข่ง   คลื่นซัดแรงแต่มีฝูงปลาฝ่าบินไปกับเราเป็น 1,000 ตัว กระโดดขึ้นมาทำท่าบินสนุกเป็นความทรงจำที่ไม่เคยลืม แต่ถ้าไม่หยุดทำลายทะเล ลูกหลานก็จะไม่ได้เห็นปลาบินแบบนี้ เมื่อก่อนเห็นบ่อยมาก แต่ตอนนี้เต่าตาย โลมาตาย มีทั้งถุงขยะและตะปูอยู่ในปากสัตว์ทะเล เขากินเข้าไปเพราะไม่รู้ ตะปูก็มาจากกระทงและพิธีกรรมเช่น การลอยอังคาร แม้ว่าจะเป็นของชิ้นเล็กๆ แต่ทำให้ตายทั้งระบบจริงๆ อย่างโลมากินเชือกไนลอนแข็งๆ เข้าไป แล้วมันไปค้างอยู่ในคอ สัตว์ทะเลเขาไม่รู้หรอกเห็นอะไรก็คิดว่าเป็นพืช

“บางทีเราเห็นป้ายเขียนว่าโปรดระวังยาฆ่าหญ้า แต่โอ้โห คุณเล่นรดยาฆ่าหญ้าลงไป พอฝนตกปุ๊บ มันก็ไหลลงมาตามแหล่งน้ำ น้ำเสียจากข้างถนนก็ลงคลอง สุดท้ายก็มาจบที่ทะเล แล้วแบบนี้สัตว์ทะเลจะอยู่รอดไหม พอสัตว์ทะเลมีสารปนเปื้อนแล้วคนที่จะซวยก็คือ คนกิน เพราะเจอสารเคมี ถ้าไม่กินก็ไม่มีอะไรจะกิน ส่วนใหญ่คนที่ลำบากคือ คนจน ทุกคนรีบเพราะต้องการผลประโยชน์ เราพยายามรณรงค์ว่า อย่าทำลายซึ่งกันและกันเลย คุณบอกไม่มีเวลาเพราะต้องรีบจัดการให้เร็ว จะรีบไปไหน ?

“เราสอนให้เด็กมองขยะที่เก็บมาว่าแปลงไปใช้อย่างอื่นได้ไหม เหมือนกับที่ครูเคยเก็บขยะจากแคมป์ทหารอเมริกันที่ส่งมาอยู่แถวพัทยา หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า จีไอ มาพับถุงขาย เราต้องฝึกให้เขาคิด ไม่ใช่เก็บขยะมาแล้วไปถมภูเขาแบบนั้นมันเป็นการย้ายที่ ต้องฝึกให้เด็กมองแล้วคิดให้เป็น เหมือนเราให้เบ็ดเขาไปตกปลาไม่ใช่เอะอะก็หาปลาให้เขา”

ใช่ว่าป้าเกศจะเพิ่งมาดูแลธรรมชาติ ก่อนหน้านี้มีหลายครั้งที่ป้าเป็นโต้โผรวมหมู่นักกีฬาหลายๆ ประเภท ให้มาช่วยกันเก็บขยะตามทะเล หรือจัดกิจกรรม ซับบอร์ดไปเก็บขยะตามรากโกงกาง เพราะโกงกางเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล นอกจากได้ออกกำลังกาย สนุก แล้วยังได้ช่วยสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นอกจากนี้ในฐานะเจ้าของโรงเรียนสอนวินด์เซิร์ฟ สอนซับบอร์ด แล่นเรือใบ และเป็นเจ้าของขายอุปกรณ์กีฬาทางน้ำที่พัทยา โดยอุปกรณ์และสินค้าส่วนใหญ่ในร้านป้าเกศล้วนผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล อย่างหมวกกับถุงใส่ใบวินเซิร์ฟก็ทำมาจากขวดพลาสติก หรือแม้แต่กิจกรรมการสอนก็ใส่ใจทุกรายละเอียด

“บอร์ดที่เราใช้พายสอนเยาวชนเก็บขยะ เราจะติดยางยืดไว้เพราะเวลาเราไปพายเก็บขยะเราจะเอาตะกร้าขยะยึดไว้ตรงนี้ เขาสามารถที่จะออกกำลังกายและดูแลโลกไปในเวลาเดียวกัน”

รักษ์โลกให้สนุก

การดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อคนรุ่นถัดไป ป้าเกศย้ำกับเราแบบนั้น ด้วยความเป็นนักกีฬาสายกิจกรรม วิธีรณรงค์หรือปลูกฝังจึงไม่ใช่แค่สอนให้ทำดี แต่ต้องสนุกด้วย

“เราเริ่มใช้ตัวเองเป็นแบบอย่าง (Role Model) เพราะตั้งแต่เล่นวินด์เซิร์ฟมันปลูกฝังความรักทะเลจนเราอยากดูแลต่อ เราสามารถคืนสิ่งดีๆ ให้กับสิ่งแวดล้อมได้ อย่างการพายซับบอร์ดเก็บขยะเราทำมา 15 ปีแล้ว เพราะมันเข้าถึงรากต้นโกงกางแล้วดึงขยะออกมาได้ ซับบอร์ดเล่นง่ายพาไปเก็บขยะก็ได้ ทั้งเด็กนานาชาติ และเด็กไทย เขาสนุกและชอบกันมากแถมได้ทำความดี มนุษย์เราไม่มีใครอยากเลวหรอก พอได้ทำความดีแล้วมันฟิน รู้สึกดี เราเพียงแค่นำร่อง เล่าให้เขาฟังถึงประสบการณ์ของเราเอง อย่างฝาขวดก็เอามาหลอมทำสเก็ตบอร์ดได้ ฝึกให้เขาลองคิดความเป็นไปได้ของสิ่งเหลือใช้ จากนั้นเดี๋ยวเขาไปคิดต่อกันเอง

“แล้วเด็กๆ เข้าใจอะไรง่าย ตอนเก็บขยะ พอเห็นปูเสฉวนเข้าไปอยู่ในขวดเราก็ถือโอกาสสอนเขาเรื่องสิ่งแวดล้อม บางทีเห็นสัตว์ตัวเล็กรูปร่างแปลกๆ เราก็ชวนเด็กคิดว่า มันคือตัวอะไร เด็กก็จะมาสังเกตกันใหญ่ ขยะที่เก็บมาได้บางทีมีปูติดมา เขาก็หัวเราะกันสนุกสนาน หรือเวลาที่เขาถามว่าครูครับ เราเอาโฟมไปทำอะไรดีครับ เราก็จะแชร์ประสบการณ์ให้เด็กๆ ช่วยกันคิด”

เมื่อถามว่าทำไมต้องเป็นเด็ก ป้าเกศตอบเสียงหนักแน่นว่า “การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใหญ่ เป็นเรื่องยาก เราอายุก็จะเลข 6 อยู่แล้ว เวลาบอกคนรอบตัวยากอย่างกับเข็นครกขึ้นภูเขา แต่เด็กเหมือนผ้าขาวยังสอนง่ายอยู่ แล้วเวลาลูกกลับบ้านไปคุยกับพ่อแม่เรื่องขยะเรื่องสิ่งแวดล้อม พ่อแม่จะทำตามลูกนะ จริงๆ แล้วไม่มีใครอยากสร้างปัญหาให้สังคมหรอกถ้าเขารู้ พอเราพาเขามาเห็นของจริงและแชร์เรื่องราวให้เขาฟัง มันทำให้เขาอินกับเรื่องพวกนี้และไม่อยากเป็นหนึ่งในคนที่สร้างปัญหาแต่อยากเป็นคนช่วยแก้ปัญหาไปกับเรา”

อายุไม่มีลิมิต ถ้าสปิริตเกินร้อย

ใครจะคิดว่าในวัย 40 ปี ป้าเกศจะคว้าแชมป์โลกครั้งที่ 2 มาครองได้สำเร็จ และในวัย 55 ปี ป้าก็ยังคงลงแข่งวินด์เซิร์ฟกับนักกีฬารุ่นลูก เพราะมองข้ามลิมิตเรื่องอายุเป็นเรื่องสปิริตในการแข่งขันของนักกีฬามากกว่า

เมื่อได้ยินข่าวสยามคลับซึ่งเป็นตำนานการแข่งวินด์เซิร์ฟที่ห่างหายไปนานถูกจับมาปัดฝุ่นแข่งขันใหม่แถมสถานที่หลักยังเป็นเมืองไทย ป้าเกศจึงไม่รอช้าที่จะท้าชิงในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย

“นักวินด์เซิร์ฟโอลิมปิกจากทั่วโลก 19 คนมาแข่งด้วย ตอนนั้นเราอายุ 55 ปี ก็เอ๊ะ! มาจัดถึงประเทศไทยแล้วจะพลาดได้ยังไง เลยลงแข่งและได้ที่ 3 มาครอง คิดดูสิอายุ 55 ปียังแข่งกับเด็กรุ่นลูกได้ อย่างน้องดาวตอนนั้นอายุ 25 ปี เรา 55 ปี ตอนนั้นน้องดาวได้ที่ 2 นักกีฬาญี่ปุ่นได้ที่ 1 เราได้ที่ 3 มันเป็นเรื่องสปิริตมากกว่า แต่ถ้ามีสปิริตแล้วไม่ฟิตร่างกาย ไม่เตรียมพร้อม ไม่เอาประสบการณ์มาใช้ เราก็คงไม่ได้ที่ 3 มาครอง”

ฝันของป้ากับความบ้าวินด์เซิร์ฟ ในวัยย่างเลข 6

“ความฝันอีกอย่างในวัย 60 ปี คืออยากทดสอบว่าเราจะเล่นเซิร์ฟไปหัวหินโดยใช้ระยะเวลาต่ำกว่า 3 ชั่วโมงได้ไหม แต่พอโควิดมาเราเลยต้องเบรกเรื่องนี้ไว้ทั้งหมด การทำโปรเจกต์นี้มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัย แต่ถ้าทุกอย่างคลี่คลายแล้ว เราอยากจะลองในวัย 60 ปีดูว่าจะทำได้ภายในเวลาที่ตั้งไว้ไหม เราพูดกับตัวเองไว้แล้วก็ไม่อยากถอนคำพูด” เหมือนชีวิตจะสุดแต่ยังไม่อยากหยุดแค่นี้ ป้าเกศบอกกับเราอย่างนั้น

“ไอเดียคืออยากเริ่มที่พัทยาและไปขึ้นฝั่งที่หัวหินประมาณ 90 กิโลเมตร เพราะเรามีเพื่อนผู้หญิงอยู่ที่หัวหิน คิดดูว่าผู้หญิงสองคนในวัย 60 ปี ถ้าทำโปรเจกต์นี้สำเร็จ มันจะเป็นคำตอบเลยว่าอายุไม่สามารถลิมิตความตั้งใจของเราได้   ตั้งใจว่าจะระดมทุนหาเงินจากสปอนเซอร์แล้วเอาไปบริจาคมูลนิธิแม่และเด็ก กับมูลนิธิส่วนอนุรักษ์เต่า”

เมื่อถามว่าป้าภูมิใจตัวเองแค่ไหนในฐานะนักกีฬาหัวเรือหลักที่หันมาดูแลสิ่งแวดล้อม

“เราไม่ได้คิดว่าจะต้องภูมิใจอะไร เพราะเรามองแล้วมันยังไม่ได้จบแค่นี้ มันเป็นความรับผิดชอบของคนๆ หนึ่งที่เกิดมาในประเทศที่สมบูรณ์และน่าอยู่ที่สุดในโลก แต่เรายังภูมิใจไม่ได้เพราะมีสิ่งที่ต้องแก้ไขอีกเยอะ ต้องทำให้ดีขึ้นอีก แต่รู้สึกดีแล้วที่ฉันทำได้ขนาดนี้ คือทำดีแล้วนะแต่ยังไม่ดีที่สุด มันเพิ่งเริ่มต้น ยังมีปัญหาอีกเยอะที่ไม่ได้จบแค่ตรงนี้”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ