ฤดู ‘ดอกงิ้ว’ ตามผู้เฒ่าไปเก็บดอกไม้มาทำอาหาร

ถ้า ‘ส้มตำ’ สะท้อนถึงวัฒนธรรมการกินของลูกอีสานแท้ๆ ‘ดอกงิ้ว’ ก็คือตัวแทนที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและการกินของคนภาคเหนือที่มีมาตั้งแต่โบราณ

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ตามริมน้ำ ชายป่า และริมสองข้างทางของถนนทางภาคเหนือ ต้นงิ้วจะออกดอกสีส้มแดงบานสะพรั่งทั่วทั้งต้น และร่วงหล่นตามแรงลมเพื่อเป็นอาหารที่ในหนึ่งปีจะมีให้เก็บกินแค่ครั้งเดียว

นอกจากจะถูกนำมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในเมนู ‘ขนมจีนน้ำเงี้ยว’ เมนูยอดนิยมที่ไม่ว่าคนภาคไหนก็ชื่นชอบ ‘ดอกงิ้ว’ ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านจากปลายฤดูหนาวล่วงเข้าสู่ฤดูร้อน ที่เตือนให้ลูกหลานที่ไปทำงานไกลถิ่นหวนกลับคืนบ้านเกิดในช่วงเดือนเมษายน

มนุษย์ต่างวัยชวนแอ่วน่าน ตามพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยไปเก็บดอกงิ้ว และฟังเรื่องเล่าของดอกไม้สีส้มแสนอร่อย


‘ดอกงิ้ว’ อาหารตามฤดูกาลจากป่าหลังบ้าน

‘ดอกงิ้ว’ เป็นดอกของ ‘ต้นงิ้ว’ หรือ ‘เงี้ยว’ ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีหนามแหลมโตทั่วลำต้น กิ่งก้านแตกสาขาจำนวนมาก ทางภาคเหนือมักพบเห็นต้นงิ้วได้ตามริมแม่น้ำ ชายป่า และสองข้างของถนน

พ่อสำรวย ผัดผล วัย 57 ปี นายก อบต. เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน เล่าให้ฟังว่า พอถึงช่วงฤดูที่ดอกงิ้วบาน ชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยหลังเสร็จจากภารกิจส่งหลานไปโรงเรียน ว่างเว้นจากการทำสวน พวกเขาก็มักจะชักชวนกันออกจากบ้าน มุ่งหน้าไปยังต้นงิ้ว และแม้ว่าต้นงิ้วจะเติบโตได้ดีในป่าเขา แต่ด้วยความสูงของลำต้นและสีสันที่โดดเด่นของดอกงิ้วก็ทำให้หาเก็บกินกันได้ไม่ยากนัก

เมื่อเหล่าแม่อุ๊ยมุ่งหน้ามาถึงต้นงิ้วที่หมายตาไว้ ก็จะพากันเดินเก็บดอกแก่ที่ร่วงหล่นจนเต็มตะกร้า แล้วมองหาที่นั่งเหมาะๆ เอาดอกงิ้วที่เก็บได้มาเทรวมกัน นั่งเด็ดส่วนของกลีบดอกออก ใครที่เลี้ยงหมูก็สามารถนำกลีบดอกไปเป็นอาหารเลี้ยงหมูได้ เหลือเอาไว้แค่ส่วนที่เป็นเกสร รูดเม็ดดำๆ บนปลายเกสรออก หรือตามภาษาของชาวบ้านเรียกว่าขี้ตา เหลือไว้แค่ก้านเกสรสีน้ำตาล แล้วฉีกออกเป็นช่อๆ ใส่กระด้งแล้วนำกลับไปตากแดดที่บ้าน

วันรุ่งขึ้นเมื่อเกสรดอกงิ้วแห้งสนิทก็จะนำมาแบ่งปันกัน เพื่อนำไปปรุงเป็นเมนูอาหาร บางบ้านเก็บใส่ถุงไว้กินทั้งปี บ้างก็นำไปตระเวนขายตามบ้าน ตามตลาดนัดชุมชน หรือส่งจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง กิโลกรัมละ 200 บาท เพื่อเป็นรายได้เสริม

แม้ต้นงิ้วจะเป็นไม้ดั่งเดิมอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ ทนแล้ง ทนฝน อายุยืน แต่ปัจจุบันก็เริ่มที่จะหายากขึ้นทุกวัน พ่อสำรวยบอกว่า ที่ตำบลจัง อำเภอภูเพียง และอีกหลายตำบลหลายอำเภอในจังหวัดน่าน ก็เริ่มที่จะเห็นถึงความสำคัญ และได้มีการอนุรักษ์ โดยสนับสนุนให้ผู้สูงวัยนำต้นกล้าต้นงิ้วไปปลูกตามหัวไร่ปลายนา เพื่อไม่ให้สูญหายไปจากวิถีชีวิตและลูกหลาน เมื่อต้นโตออกดอกก็จะได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและผู้สูงวัยที่ไม่มีงานทำ

เดิมดอกงิ้วมักนิยมกินกันในหมู่ชาวไทใหญ่ หรือชาวเงี้ยวที่อพยพมาจากพม่า โดยนำดอกงิ้วมาทำเป็นเมนูน้ำเงี้ยว หรือน้ำหมากเขือส้ม ที่สืบทอดวัฒนธรรมการกินมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วภาคเหนือตอนบน

ดอกงิ้วแห้งในน้ำเงี้ยวไม่ใช่แค่ให้รสสัมผัสเอร็ดอร่อยคล้ายเนื้อสัตว์ แต่ยังมีแคลเซี่ยมสูงลิ่ว มากกว่านมวัวถึง 3 เท่า โดยดอกงิ้วมักจะถูกนำมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารกินกันในบ้าน และตามวาระงานเลี้ยงต่างๆ รวมไปถึงงานพิธีกรรมมงคลและอวมงคล ไม่ว่าจะเป็นเมนูยอดนิยมอย่างขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้าวซอยเงี้ยว แกงแค แกงบอน ลวกจิ้มกินกับน้ำพริก หรือดอกงิ้วชุบแป้งทอดกรอบ

เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลหยุดยาวผู้คนเดินทางกลับบ้านเกิด เช่น ช่วงสงกรานต์ อาหารที่ทำจากดอกงิ้วก็มักจะถูกนำมาทำกิน ต้อนรับลูกหลานกลับบ้านเสมอ ไม่ต่างจากการกินส้มตำของลูกอีสาน หรือสะตอที่ทำให้คิดถึงปักษ์ใต้ ในอีกทางหนึ่ง ดอกงิ้วจึงทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายที่สื่อถึงบ้านเกิดของลูกหลานชาวเหนือที่ไปอยู่ไกลบ้านและความคิดถึงของพ่อแม่ที่รอคอยลูกกลับบ้าน

ขอบคุณข้อมูลจาก

พ่อสำรวย ผัดผล วัย 57 ปี นายก อบต. เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน 

Credits

Authors

  • อชิตา พุ่มแจ้

    Author & Drawมนุษย์เป็ดที่กำลังฝึกหัดภาษาจีน ฝันอยากเป็นนักร้องเสียงเพราะ แต่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักร้องเสียงเพี้ยน

  • วิเชษฐพงษ์ เผ่ากล้า

    Cameramanเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ด้วยความอยากเป็นดีเจ แต่สุดท้ายมาค้นพบว่าโลกข้างนอกห้องจัดรายการมันช่างเย้ายวลและมันส์กว่าการใช้เสียงเป็นไหนๆ ผมหลงใหลการเขียนภาพด้วยแสงพอๆ กับการวาดรูปด้วยดินสอ และที่สำคัญชีวิตเป็นเรื่องของเรา ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งแอ็คชั่น

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ