เมื่อผู้สูงวัยไม่รู้ว่าร่างกายเริ่มอ่อนแอตามวัย ลูกหลานควรดูแลอย่างไร

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยที่สูงขึ้น แน่นอนว่าร่างกายของทุกคนคงเริ่มถดถอย ซึ่งรวมไปถึงความจำ การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ ที่อาจจะทำได้ไม่ดีเท่าตอนหนุ่มสาว แต่หลายครั้งทั้งตัวผู้สูงอายุ รวมถึงคนใกล้ชิด มักจะลืมสังเกตสิ่งนี้ ผู้สูงอายุจึงทำอะไรหลายอย่างด้วยความเคยชิน คิดว่าตนเองยังเหมือนตอนหนุ่มสาว และลืมที่จะสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเอง ลูกหลานเองก็เช่นกัน อาจจะยังคิดว่าคุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ ยังเก่งเหมือนตอนเราเด็ก ๆ กว่าจะรู้ก็อาจนำมาสู่อุบัติเหตุ หรือ ความเจ็บป่วย

ดังนั้นการสังเกตความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ลูกหลาน ผู้ดูแล จึงมีบทบาทสำคัญและยังมีบทบาทสำคัญในการหาแนวทางในการดูแล หาวิธีป้องกันก่อนที่ความเจ็บป่วยจะลุกลามจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

เพื่อให้เข้าใจและมีแนวทางการปฏิบัติในการสังเกตอย่างถูกต้อง ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราชชวนสนทนากับ อ.พญ.อัญชนา สุรอมรรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

“โดยปกติเมื่ออายุย่างเข้าสู่เลข 6 เลข 7 ผู้สูงอายุจะเริ่มมีปัญหาเรื่องการทรงตัว เริ่มมีภาวะหลงลืมที่เกิดขึ้นตามวัย นอกจากนี้ยังมีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ทั้งความเศร้า ความเครียด บางคนอาจจะเริ่มมีอาการหงุดหงิด น้อยใจง่าย เนื่องจากเริ่มรู้สึกว่าตนเองไม่เก่งเท่าเดิม แต่หลายท่านไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ขาดการระมัดระวังตัว”

“ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ผู้สูงอายุส่วนมากไม่รู้ว่าร่างกายของเขากำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ ไม่แข็งแรงเท่าเดิม ผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจ รู้วิธีการสังเกต มีข้อมูลที่ถูกต้อง รู้เท่าทันอาการของผู้สูงอายุในเบื้องต้น อาจลองสังเกตอาการต่าง ๆ ทางด้านร่างกาย อารมณ์ และพฤติกรรม ของผู้สูงอายุว่ามีอะไรแปลกไปจากเดิมหรือไม่ เช่น เดินแล้วเหมือนจะล้ม มีอาการเบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย การขับถ่ายยังปกติอยู่หรือเปล่า

“แต่ปัญหาก็คือ ผู้สูงวัยที่กำลังเข้าสู่ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอาจจะไม่ยอมรับว่าตนเองไม่แข็งแรงเหมือนเดิม เวลาที่ลูกบอกหรือเตือนให้ระมัดระวังมักไม่ค่อยเชื่อลูก จะต้านก่อนโดยเฉพาะผู้สูงวัยที่เคยเก่ง ทำงานได้เองมาก่อน ถ้าลูกหลานไปควบคุม ห้ามไม่ให้ทำโน่นนี่ การไปควบคุมเขา เขาก็มักจะต่อต้าน เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญเลยลูก ๆ ต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในบ้าน ไม่ใช้วิธีการชี้แนะหรือบังคับ ต้องใช้เทคนิคที่เราจะได้ดูแลสุขภาพของเขาแต่ก็ยังทำให้พ่อแม่สบายใจ กล้าที่จะบอกว่าสุขภาพของเขามีอะไรบ้างที่ผิดปกติ เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่จะกังวลใจว่า อาการเจ็บป่วยของเขาจะเป็นภาระให้กับลูก ๆ”

“ต้องเน้นการสื่อสารและการพูดคุยกันของคนในครอบครัว สร้างความสัมพันธ์หรือบรรยากาศที่ทำให้ผู้สูงอายุกล้าบอกปัญหาทางสุขภาพของตนกับลูกหลาน โดยหากมีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้นอย่านิ่งเฉย ให้รีบบอกลูกหลานโดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ช่วยกันรักษาได้ทันท่วงที”

ส่วนในขั้นตอนของการดูแลรักษา เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่ากำลังถูกควบคุม ผู้ดูแลต้องสื่อสารอย่างระมัดระวัง ค่อย ๆ พูด ใจเย็น ๆ เช่น การค่อย ๆ อธิบายเหตุและผลของความห่วงใยของเราที่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงวัยให้ฟังทีละนิด อธิบายถึงข้อสังเกตว่ายาที่ผู้สูงอายุรับประทานอยู่หรือที่ผู้สูงอายุหามารับประทานเองส่งผลแบบไหน ไปจนถึงลองเสนอวิธีการหรือแนวทางดูแลตัวเองเบื้องต้นให้กับผู้สูงอายุ

“ผู้สูงอายุหลายท่านอาจจะอยู่คนเดียว หรือลูกหลานอาจจะต้องทำงานในช่วงกลางวัน อาจลองใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยในการดูแลและแสดงความห่วงใย เช่น บางครอบครัวใช้วิดีโอคอลเห็นหน้า เพื่อเป็นการเช็กว่าผู้สูงอายุสบายดีหรือไม่ กินข้าวหรือยัง เตือนเรื่องการกินยา ซึ่งการได้เห็นหน้ากัน ได้พูดคุยกัน มักจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกอบอุ่นหัวใจและช่วยในการคลายเหงา อีกทั้งลูกหลานเองก็ลดความกังวลในช่วงที่ไม่ได้อยู่กับผู้สูงอายุได้”

“หากสมาชิกในครอบครัวสามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม ก็จะนำมาซึ่งความสุข ความอบอุ่นใจ ของผู้สูงอายุและสมาชิกทุกคนในครอบครัว เมื่อเราดูแลทางใจได้ดี ก็จะส่งผลให้ร่างกายของท่านแข็งแรงอยู่เป็นที่รักของเราได้อีกนาน”

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช เป็นสถาบันทางวิชาการด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นต้นแบบการบูรณาการการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน สร้างสรรค์ และส่งต่อองค์ความรู้ในการฟื้นฟูดูแลผู้สูงอายุในระยะกลาง เพื่อป้องกันการกลับเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาล ส่งผู้สูงอายุกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างมีคุณภาพ

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ