ทำความเข้าใจหัวใจของการฟื้นฟูผู้สูงอายุให้กลับสู่คุณภาพชีวิตที่ดีหลังออกจากโรงพยาบาล

เมื่อผู้สูงอายุเจ็บป่วย ต้องนอนโรงพยาบาล หลังได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ลูก ๆ หลาน ๆ อาจจะรู้สึกโล่งใจ แต่จริง ๆ แล้ว ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญอีกช่วงหนึ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป เป็นช่วงเวลาทองในการฟื้นฟูร่างกายของผู้สูงอายุให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง เพื่อป้องกันภาวะสมรรถภาพร่างกายถดถอยภายหลังการเจ็บป่วย

คุยกับ ผศ. พญ.พวงแก้ว ธิติสกุลชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์  ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในประเด็น การฟื้นฟูร่างกายผู้สูงอายุหลังการเจ็บป่วย ร่วมเรียนรู้และทำความเข้าใจวิธีการดูแลผู้สูงอายุหลังออกจากโรงพยาบาลอย่างเหมาะสม เพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดี ให้ผู้สูงอายุกลับมาแข็งแรงดังเดิมอีกครั้ง

“การนอนนาน ๆ โดยไม่ได้เคลื่อนไหว หรือไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย อาจทำให้เกิดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ โดย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจะลดลงประมาณวันละ 1-1.5 เปอร์เซ็นต์ ประมาณง่าย ๆ ว่า ถ้านอนโรงพยาบาล 7 วัน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออาจจะหายไปมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้สูงอายุบางคนที่ก่อนเข้าโรงพยาบาลอาจจะเดินได้ แต่ตอนกลับบ้านต้องนั่งรถเข็น หรือบางคนที่เคยนั่งรถเข็น ขากลับอาจจะต้องใช้เปลนอนได้

“เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาที่โรงพยาบาล แม้อาการของโรคจะดีขึ้น แต่ผลที่ตามมา จากการที่เราไม่ได้ขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการไม่พึงประสงค์ได้ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายอ่อนแรงลง เปลี้ย ๆ เพลีย ๆ ลุกไม่ค่อยไหว ลุกขึ้นมาก็วิงเวียนศีรษะ มีแผลกดทับ หรือข้อยึดติด ทำให้เกิดการป่วยซ้ำซ้อนได้”

สำหรับผู้สูงอายุที่เพิ่งหายป่วยออกจากโรงพยาบาล แล้วต้องกลับไปพักฟื้นที่บ้าน คุณหมอบอกว่า “สิ่งแรกที่ลูกหลานหรือผู้ดูแลควรทำ คือ กระตุ้นให้ผู้สูงอายุเคลื่อนไหวร่างกายให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

แม้ช่วงกลับไปใหม่ ๆ ผู้สูงอายุอาจจะยังอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ทำอะไรเองไม่ค่อยไหว ลูกหลานอาจจะคอยช่วยประกบ แต่ต้องไม่ใช่ทำกิจกรรมต่าง ๆ แทนให้ทั้งหมด ควรจะเริ่มจากกระตุ้นให้ผู้สูงอายุ ได้ลุกขยับ ค่อย ๆ ออกแรงไปทีละสเต็ป และให้ฝึกทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ด้วยตัวเอง”

การฝึกแบบนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุ ค่อย ๆ ฟื้นตัว และกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับตอนก่อนเข้าโรงพยาบาลมากที่สุด แต่ถ้าลูกหลานไปทำแทนให้ทุกอย่าง จะกลายเป็นว่าผู้สูงอายุไม่ได้ถูกกระตุ้นให้ใช้ร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้สมรรถภาพทางกายถดถอยลงไปอีกเรื่อย ๆ

“เมื่อผู้สูงอายุเจ็บป่วย แม้ว่าเป็นการเจ็บป่วยที่ไม่หนักมาก และมีพื้นฐานร่างกายค่อนข้างดีอยู่เดิม ยังอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูร่างกายเป็น 2 เท่า ของเวลาที่เข้ารับการรักษา เช่น ถ้านอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1 สัปดาห์  อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 2-3 สัปดาห์ ในการฟื้นตัว แต่สำหรับผู้สูงอายุที่พื้นฐานร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือนหรือมากกว่านั้น ซึ่งจะฟื้นตัวได้เร็วหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับแนวทางการฟื้นฟูดูแลที่ถูกต้อง

“การใช้หลัก ‘ใจนำกาย’ ยังถือเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ เพราะถ้าใจมีพลัง ก็จะเป็นส่วนสำคัญช่วยให้ฟื้นฟูร่างกายได้เต็มที่ ลูก ๆ หลาน ๆ นั้นเปรียบเสมือนกำลังใจที่จะช่วยทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกอบอุ่น มีคุณค่า อยากดูแลสุขภาพ และมีชีวิตที่ยืนยาว หากคนที่บ้านเป็นแรงเชียร์ ช่วยสร้างแรงจูงใจ กำหนดเป้าหมายให้ผู้สูงอายุ เช่น บอกท่านว่า ถ้าดูแลตัวเองตามขั้นตอนที่แนะนำ จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีขึ้น เดี๋ยวถ้าแข็งแรงแล้ว เราจะได้ไปเที่ยวด้วยกัน แบบนี้ จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีกำลังใจที่จะฟื้นฟูร่างกายมากขึ้น”

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช เป็นสถาบันทางวิชาการด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นต้นแบบการบูรณาการการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน สร้างสรรค์ และส่งต่อองค์ความรู้ในการฟื้นฟูดูแลผู้สูงอายุในระยะกลาง เพื่อป้องกันการกลับเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาล ส่งผู้สูงอายุกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างมีคุณภาพ

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ