มองนอกกรอบเรื่องสุขภาพกับนักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชื่อว่าการลงทุนเรื่องสุขภาพเป็นการลงทุนที่คุ้ม กับ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เรากำลังอยู่ในโลกที่ผู้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้นแต่พ่วงมาด้วยการเจ็บป่วยเรื้อรังยาวนาน ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ในปี 2558 ชี้ว่า หลังอายุ 60 ปี คนไทยจะมีอายุยืนยาวไปอีกกว่า 20 ปี และใน 5-6 ปี สุดท้ายเป็นช่วงที่อยู่อย่างเจ็บป่วยจนกระทั่งเสียชีวิต

นี่เป็นค่าเฉลี่ยจากการศึกษา แต่เราทุกคนสามารถทลายกรอบข้อมูลนี้ลงได้ หากเลือกลงทุนด้านสุขภาพให้กับตัวเอง

มนุษย์ต่างวัยพาไปฟังข้อมูลดี ๆ จากเวทีบรรยายในหัวข้อ “คิดนอกกรอบเรื่องสุขภาพ กับ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และผู้เขียนหนังสือ “Healthy Aging เกิด แก่ (ไม่)เจ็บ ตาย” และ “Healthy Always” กับมุมมองนอกกรอบเรื่องสุขภาพจากนักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชื่อว่าการลงทุนเรื่องสุขภาพเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

นับตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยเรามีจำนวนผู้สูงอายุเยอะเป็นประวัติการณ์ถึง 11.6 ล้านคน ในขณะที่มีเด็กเกิดใหม่เพียง 6 แสนคนเท่านั้น และในตอนนี้ ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว เรามีคนแก่อายุเกิน 60 ปี ถึง 20% และคาดว่าในอีก 10 ปี จะเพิ่มสูงถึง 28% รวมถึงในอนาคตที่โลกเรามีความก้าวหน้าทางการเแพทย์มากขึ้น ย่อมทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวจึงทำให้คนแก่มีจำนวนสูงขึ้นอีก

ข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ในปี 2015 ศึกษาคนไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี พบว่าพวกเขาสามารถมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้อีก 22 ปี (ชาย) และอีก 25 ปี (หญิง) และในช่วงปีเหล่านั้น จะมีสุขภาพดีต่อไปได้อีก 17 ปี (ชาย) และ 19 ปี (หญิง) นั่นหมายความว่าต้องทนทุกข์กับสุขภาพที่ไม่ดีในช่วงชีวิตที่เหลืออีก 5-6 ปี จนกระทั่งเสียชีวิต

แต่ในกลุ่มคนแก่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี เคล็ดลับที่ทำให้มีอายุยืนยาวนั้น คือ”ไลฟ์สไตล์”

งานวิจัยจาก The New England Centenarian Study ได้ศึกษากลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้มีอายุยืนยาวมากกว่าคนทั่วไป และคำตอบที่พบคือ หากจะมีอายุยืนยาวถึง 80 ปี ปัจจัยสำคัญคือเรื่องไลฟ์สไตล์การดำรงชีวิต หากจะมีอายุไปถึง 90 ปี ยีนอาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง แต่หากจะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี ยีนเป็นปัจจัยสูงถึง 60%

และเมื่อนำคนที่มีอายุมากกว่า 100 ปี มาวิเคราะห์สุขภาพพบว่า มี 15 % ที่ไม่เป็นโรคอะไรเลย หรือที่เรียกว่า “ecapers” อีก 43% อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “delayers” หรือ กว่าจะแสดงโรคก็อายุเกือบ 90 ปีแล้ว ส่วนอีก 42% เรียกว่ากลุ่ม “survivors” หรือผู้ที่เป็นโรคมาตลอดแต่ยังไม่ตายเสียที และแน่นอนว่าผู้หญิงมีอายุยืนยาวกว่าเพศชาย แต่เรากำลังจะกลายเป็นคนกลุ่มไหนนั้นมาจากหลายปัจจัย และหนึ่งในนั้นคือ “พันธุกรรม”

หยั่งรู้อนาคตได้ ด้วยรหัสพันธุกรรมเมื่อก่อน

เราอาจซื้อประกันสุขภาพด้วยความกลัวการเจ็บป่วยล้มตายในอนาคตที่คาดการณ์ไม่ได้ แต่ด้วยความรู้ด้านพันธุศาสตร์ในปัจจุบันทำให้เราสามารถคะเนการเกิดโรคในอนาคตได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เช่น กรณีของแอนเจลินา โจลี ดาราฮอลลีวูดชื่อดังที่แม่ของเธอเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านม และเธอเองก็ตรวจพบยีนต้นเหตุอย่าง BRCA1 เธอจึงเลือกจะตัดเต้านมทิ้งเสียเลยเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็ง

จากการศึกษาเครื่องหมายระบุพันธุกรรม (Genetic Marker) พบยีนสำคัญอย่างน้อย 3 ตัวที่เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตยืนยาว ได้แก่ ยีน APOE สัมพันธ์กับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ยีน FOXO3A สัมพันธ์กับการซ่อมแซม DNA และยีน TP53 ที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง ซึ่งความรู้เรื่องพันธุกรรมเหล่านี้อาจช่วยพยากรณ์สุขภาพของเราได้ในอนาคต

ในอนาคตคาดว่ามนุษย์จะเสียชีวิตกันด้วย “โรคที่ไม่ติดต่อ” (Non-Communicable Diseases, NCDs) มากขึ้น จากสถิติพบว่าในปี 1990 มนุษย์มีการเสียชีวิตด้วยโรคกลุ่มดังกล่าว 56.75% และมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 2019 ที่สูงถึง 74.35% ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตของมนุษย์ด้วยโรคอื่น ๆ กลับมีน้อยมาก

ดังนั้นถ้าเราไม่อยากเสียชีวิตด้วยโรค NCDs เราสามารถแหกกรอบนี้ออกไปด้วยการลงทุนกับสุขภาพตัวเองตั้งแต่วันนี้

ลงพุง เอวใหญ่ พุงย้อย สัญญาณอันตราย ภัยเงียบที่น่ากลัวที่สุดของยุคสมัยคงหนีไม่พ้นกลุ่มโรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง และนำไปสู่โรคหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งล้วนเกิดมาจากภาวะที่เรียกว่า Metabolic Syndrome หรือภาวะที่ร่างกายเผาผลาญอาหารผิดปกติซึ่งล้วนสัมพันธ์กันไปทั้งหมด

เมื่อเรากินน้ำตาลเข้าไป ตับอ่อนจะปล่อยอินซูลินเพื่อทำหน้าที่ดึงน้ำตาลออกมาจากตับอ่อนไปสู่เซลล์และแปรเปลี่ยนเป็นไกลโคเจน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเซลล์ของเราเก็บไว้ได้เพียงแค่ 1,600 กิโลแคลอรีเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะกลายเป็นไขมัน

และเมื่อเรามีไขมันเยอะ ร่างกายเราจะคิดว่าไขมันนั้นคือศัตรู ระบบภูมิคุ้มกันจะเข้าทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดภาวะการอักเสบเรื้อรัง (Chronic inflammation) เมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานตลอดเวลาก็ส่งผลให้เราป่วยไข้ไม่ต่างอะไรจากการเปิดหลอดไฟทิ้งไว้ให้ทำงานทั้งวันจนกระทั่งหลอดขาดนั่นเอง

ฉะนั้นแล้ว ขอให้ดูแลค่าน้ำตาล ไขมัน และความดันโลหิต ของเราเอาไว้ให้ดี สังเกตง่าย ๆ จากรอบเอวของเรา ในชายไม่ควรเกิน 38 นิ้ว และในหญิงไม่เกิน 33 นิ้วจะดีที่สุด

เมื่อรอบตัวมีแต่อาหารชวนอ้วน

งานวิจัยในอเมริกาทดลองให้อาสาสมัคร 2 กลุ่ม ทดลองกินอาหารที่มีไฟเบอร์เยอะและอาหารปรุงแต่ง พบว่าเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ทั้งสองกลุ่มมีน้ำหนักต่างกันถึง 1 กิโลกรัม

คำแนะนำคือให้กินอาหารที่มีประโยชน์และผ่านการแปรรูปน้อยอย่างผัก ผลไม้ ถั่ว ปลา ช็อกโกแลตดำ น้ำมันมะกอก หรือไวน์แดง ที่รสชาติอาจไม่อร่อยถูกปากนัก แต่อาหารที่อร่อยจนอดใจไม่ไหวนั้นล้วนผ่านการปรุงแต่งเยอะ ไม่ว่าจะเป็น processed foods อย่างอาหารแช่แข็งหรือเนื้อสัตว์แปรรูปซึ่งจะมีแคลอรีเยอะและทำให้เราอ้วนในที่สุด

นอนให้ดี นอนให้ไว ออกกำลังกายให้พอเหมาะ

งานวิจัยหนึ่งเปรียบเทียบคน 2 กลุ่ม ระหว่างคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอกับคนที่ไม่ออกกำลังกายเลย พบว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงกว่าจากในทุกสาเหตุ

ส่วนคนที่มีพฤติกรรมนอนน้อย มักกินเยอะ อิ่มยาก และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5-7 กิโลกรัมต่อปี ยีนที่ไม่ดีทำงานมากขึ้นและนำไปสู่โรคมะเร็งได้ง่ายกว่า

ท้ายที่สุดแล้ว ขอให้ถามตัวเองให้ได้ว่าสิบปีสุดท้ายของชีวิตคุณอยากทำอะไร แล้วคุณจะรู้ว่าวันนี้คุณต้องทำอะไร ? ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การนอน หรือการออกกำลังกาย และขออยู่ให้ห่างจาก 4 โรคสำคัญอย่าง โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และอัลไซเมอร์ เท่านี้เราก็จะมีชีวิตที่ยืนยาวแบบไม่เจ็บป่วยมากเกินไปนัก

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ