The Next Chapter ชีวิตไม่เกษียณ

ในชีวิตนี้ คุณตั้งเป้าว่าจะเกษียณที่อายุเท่าไหร่ ?

แล้วถ้ายังสนุกกับชีวิตล่ะ คุณจะอยากเกษียณอายุอยู่ไหม ?

ถ้าไม่อยาก.. จะใช้เวลานี้ทำอะไรต่อ ?

ทำสวนปลูกผัก เข้าวัดปฏิบัติธรรม เช้าตื่นออกไปรำไทเก๊ก.. ฯลฯ ภาพฝันวันเกษียณอันเรียบง่ายคล้ายว่าถึงเวลาพักผ่อนอาจถูกพับลงไปก่อนในยุคสมัยนี้ ปัจจุบันค่าเฉลี่ยอายุของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 78 ปี และมีแนวโน้มขยับขึ้นสูงอีกเรื่อย ๆ โดยคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” หมายความว่าสัดส่วนแรงงานคุณภาพที่เดินทางผ่านประสบการณ์มายาวนานกำลังเพิ่มขึ้นจนอาจแตะถึงระดับล้นตลาดเข้าสักวัน

ขณะที่ความเข้าใจภาพรวมประเทศไทยเรายังคงแช่แข็งอายุเกษียณไว้ที่อายุ 60 ปี และนโยบายภาคแรงงานของประเทศเรายังไม่พร้อมครอบคลุมความต้องการของวัยเก๋าที่มีความพร้อมในการลุยทำงานอย่างต่อเนื่อง “Sessions: The Next Chapter ชีวิตไม่เกษียณ” วันนี้จึงชวนหัวหอกจากแวดวงหลากหลายมาช่วยฉายไอเดียและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการเดินหน้าโอบรับเปิดพื้นที่เกื้อกูลมนุษย์สูงวัยผู้มีใจพร้อมทำงานในปัจจุบันและทศวรรษต่อไปร่วมกัน

ประสาน อิงคนันท์ ผู้ก่อตั้งเพจ มนุษย์ต่างวัย

รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

กฤษฎี ตั้งจิตถนอมสิน ผู้ผ่านการอบรมโครงการ ชีวิต ซีซัน 2 วิชา อัปสกิลขั้นสุดสู่การเป็นที่ปรึกษามืออาชีพ

“มนุษย์ต่างวัยเราพูดเรื่องการป้องกัน ใช่คุยแต่ปัญหา

เราสร้างพื้นที่ทั้ง online และ on ground ให้แต่ละคนได้ปรากฎตัวขึ้น เพื่อบอกว่าสังคมไทยเราควรขยับเรื่องสังคมสูงวัยอย่างจริงจัง

“ตอนที่ผมทำมนุษย์ต่างวัยมีคนมาถามผมเหมือนกันว่าผมทำกับกลุ่มไหน ในวันเริ่มต้นทำประเด็นสังคมสูงวัย เมื่อศึกษาแล้วจะเห็นว่ามันมีความซับซ้อนอยู่มาก คือ คนสูงวัยในเมืองก็เป็นแบบหนึ่ง ข้าราชการก็เป็นอีกแบบ สูงวัยแบบพนักงานเอกชนก็เป็นอีกแบบ และถ้าพูดถึงคนสูงวัยในชนบทก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ในชนบทนั้นบางทีอายุ 70 – 75 แล้วก็ยังแข็งแรงสามารถปีนตาล มีรายได้เข้ามาอยู่ เราจึงสื่อสารได้หลายกลุ่ม

“มีบางคนบอก หรือมนุษย์ต่างวัยเราเลือกคุยเฉพาะกลุ่มสูงวัยที่มีเงินหรือเปล่า ? (หัวเราะ) ตามจริงแล้วกลุ่มที่เราทำจะเน้นไปที่กลุ่มสูงวัยที่ยังมีความ “แอคทีฟ” เพราะส่วนหนึ่งเวลาเราพูดถึงประเด็นสังคมสูงวัยหลายคนมักยกปัญหาขึ้นมาเยอะ ต้องใช้รัฐสวัสดิการมาแก้ไข ใช้เงินจำนวนมาก ต้องการผู้ดูแล เมื่อพูดเสร็จเรามักวนอยู่ในปัญหาเหล่านี้ มนุษย์ต่างวัยจึงเลือกพูดเรื่องการป้องกัน เราจะไม่เริ่มต้นชวนคุยเรื่องนี้ตอนอายุ 60 ปี แต่เรามาชวนทุกคนคุยเรื่องนี้ตั้งแต่อายุ 40 – 45 เลย ในเรื่องของการป้องกัน เหล่านี้คือแนวคิดของมนุษย์ต่างวัยที่ทำมา 5 – 6 ปี รวมถึงเป็นแนวคิดของงาน #มนุษย์ต่างวัยFest2025 ในครั้งนี้ด้วย

“ปีนี้เราชวนออกแบบชีวิตเพื่อมองหาแนวทางป้องกันไม่ว่าจะเป็นด้าน สุขภาพ (Health) การเงิน (Wealth) การงาน (Work) ความสัมพันธ์ (Relation) และการค้นหาความหมายของชีวิต (Soul) เวลาเราพูดถึงเรื่องนี้เราจึงพูดเป็นองค์รวม อย่างมนุษย์ต่างวัยเรานำเรื่องงานขึ้นมาเป็นแกนในการคุย เพราะมนุษย์ทุกคนต้องทำงาน แต่ในที่นี้เราไม่ได้หมายถึงงานประจำในบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงงานอดิเรกหรืองานจิตอาสาที่ทำให้เรามีโอกาสออกจากบ้านไปทำงาน ไปปฏิสัมพันธ์กับสังคม ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องงานสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการทำงานเพื่อหาเงิน

“ยกตัวอย่างเช่น คุณกฤษฎีที่บอกว่า ตอนนี้มีงานคือปั่นจักรยานไปทำงานบาริสต้าที่ร้านใกล้บ้านได้ชั่วโมงละ 50 บาท จำกัดวันละ 4 ชั่วโมง ได้รายได้กลับมาวันละสองร้อยบาท ถ้าเรามีฐานะอยู่แล้วก็ขำ ๆ ดี ได้เรื่องสุขภาพ ได้การพบปะเจอเพื่อนรุ่นน้อง แต่ถ้ามองในมุมของคนที่ไม่มี CJ อยู่ใกล้บ้าน ต้องนั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน แบบนั้นเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีรายได้สองร้อยบาทสำหรับใช้ในชีวิต ผมจึงโยงมาที่ภาครัฐว่าต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“ผมรู้สึกว่าภาครัฐไม่ค่อยมีเจ้าภาพในการทำงานในประเด็นสังคมสูงวัย คล้ายเป็นเบี้ยหัวแตกที่ยังทำงานแยกกันอยู่ ซึ่งประเด็นนี้เขาคุยกันมาเป็น 10 ปี อย่างมนุษย์ต่างวัยนี่ถือว่าช้านะครับที่เพิ่งเริ่มคุย ผมในฐานะสื่อ ผมก็ทำตามกำลังที่ทำได้ สิ่งที่ทำได้แน่ ๆ คือผมสร้างพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น space online หรือ on ground เพื่อให้แต่ละคนได้ปรากฎตัวขึ้น เพื่อบอกว่าสังคมไทยเราควรเคลื่อนตัวขยับปรับเปลี่ยนบางอย่างและคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง พื้นที่ที่ทำก็มีความหลากหลาย มีทั้งกรณีทำงานได้หาเงินได้เองแล้วดี และในมุมที่ปรับจูนทัศนคติเรื่องการทำงานอาสาซึ่งทำให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้น มีจิตใจที่ดีขึ้น เหล่านี้ก็เป็นนโยบายที่ควรทำ จึงอยากฝากว่าเราควรจะต้องมี space หรือพื้นที่แบบนี้มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นโลก online หรือ on ground เพื่อทำให้รู้สึกได้ว่าสังคมเราจะเปลี่ยน และเราเองก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนให้เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ด้วย เพียงเราเริ่มต้นทำอย่างจริงจัง

และผมคิดว่าเรื่องงานเป็นเรื่องสำคัญ การออกไปทำงานจะช่วยเปลี่ยนรูปแบบชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็แล้วแต่ ต่อให้เป็นงานอาชีพก็ยิ่งดี งานจิตอาสาก็ดี และถ้าสมมติว่าภาคเอกชนและรัฐเริ่มปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง หรือแม้กระทั่งมีหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาเพื่อจัดระบบทำงานอาสาให้มีประสิทธิภาพ เราก็จะเห็นคนรุ่นเกษียณปรากฎตัวมากขึ้นในสังคม และนี่คือประชากรกลุ่มใหญ่ในสังคมของเรา

“ด้วยคำว่า 60 คุณต้องเกษียณ.. บางทีก็ไม่ถูกต้อง ผมเองคิดว่าชีวิตเราไม่เหมือนทางเลื่อน ที่พอ 60 แล้วจะมีคำว่าสิ้นสุด ผมว่าชีวิตเรายังไปต่อได้

“กฎหมายคุ้มครองแรงงานบ้านเราเป็นกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานทั่วไป แต่ตอนหลังก็อาจจะมีกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน หรือตอนนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายมาคุ้มครองงานใหม่ ๆ ชนิดที่เรียกว่างานพวกแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ เช่นเดียวกันกับกฎหมายที่จะมาคุ้มครองผู้สูงอายุในเรื่องการทำงานนั้นยังไม่มีโดยเฉพาะ แต่ว่าในส่วนที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ คือ เรามองภาพรวมใหญ่ในเชิงโครงสร้าง เพราะว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็กำลังไปในทิศทางเดียวกัน คือ ประชากรเกิดน้อย คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ตัวเลขบอกว่าผู้สูงอายุทั่วโลกมีทั้งหมด 1,100 ล้านคน อยู่ในเอเชียประมาณ 700 ล้าน และอีก 20 ปีข้างหน้า ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้าน

ในยุคก่อนเรามีคนทำงานจำนวนมากดูแลผู้สูงอายุจำนวนน้อย แต่ต่อไปแรงงานคนทำงานนั้นจะน้อยลงและต้องมาดูผู้สูงอายุเยอะขึ้น ในขณะที่ต้องดูแลรุ่นลูกหลานตัวเองด้วย ทำให้เราต้องคิดวางแผนจริงจังว่าเราจะไปต่อกันอย่างไร ทั้ง ๆ ที่ผู้สูงอายุในยุคสมัยนี้ยังมีแรง มีสติปัญญา มีความสามารถที่จะสร้างคุณค่าให้กับสังคม พวกเขายังทำงานได้และดูแลคุณภาพชีวิตของตนเองได้ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีได้.. ด้วยคำว่า 60 คุณต้องเกษียณ.. บางทีก็กลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ผมเองคิดว่าชีวิตเราไม่เหมือนทางเลื่อน ที่พอ 60 แล้วจะมีคำว่าสิ้นสุด ผมว่าชีวิตเรายังไปต่อได้

“การขยายอายุเกษียณนั้นสำคัญ แต่เหมือนเวลาเราขยายอายุเกษียณบางทีเหมือนเป็นการบังคับ เราจะเห็นว่าในฝั่งยุโรป เช่น ฝรั่งเศส มีการประท้วงเมื่อเกิดการขยายอายุเกษียณเกิดขึ้นบ่อยมาก ผมคิดว่าอีกทางเลือกหนึ่งคือควรทำในเชิงสมัครใจ ผมอยากเสนอเรื่องของ ‘นิยามผู้สูงอายุไทย’ จากการศึกษาพบว่าการนิยามนี้มีผลต่อมโนทัศน์ทางสังคมหรือว่าจิตวิทยาทางสังคม

“บางคนจะรู้สึกว่าพอ 60 แล้วแก่ทันที จากเมื่อวานเพิ่งอายุ 59 ปี เกิดความรู้สึกว่าร่างกายฉันทรุดโทรม ฉันทำงานไม่ไหว จะต้องพักผ่อน มีตัวเลขที่สำนักสถิติแห่งชาติทำการสำรวจว่าเหตุผลใดทำให้ผู้สูงอายุหยุดทำงานบ้าง ปรากฏคนในช่วงอายุ 55 – 59 นั้นไม่มีเหตุผลเรื่องความชราภาพเลย ไม่มีใครบอกว่าตัวเองชรา แต่พอถามคนที่อายุ 60 ปั๊บ ปรากฏว่ากว่า 30% ให้คำตอบว่า ‘ชรา’ ทันที เพราะฉะนั้นถ้าเราเปลี่ยนตรงนี้ได้ให้เป็นภาคสมัครใจ เราก็จะมีคนที่อยากทำงานมากขึ้น แต่ในเรื่องของสิทธิสวัสดิการ เบี้ยยังชีพต่าง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องขยับไปพร้อมกันในทันที เว้นระยะให้สังคมได้ปรับตัวก่อนด้วย

“ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องปรับตัวเราเอง อย่าไปตั้ง Mindset ว่าเราเป็นผู้สูงวัย เราคือหนึ่งในสมาชิกของสังคม ที่สามารถสร้างคุณค่าและอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้

“จุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นเมื่อวัย 40 ปี ขณะนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในองค์กรทำให้ผมต้องถูกบังคับเกษียณก่อนกำหนด ในตอนนั้นมีความรู้สึกยากเกิดขึ้นเพราะเรายังอยากทำงานอยู่ พอไปสมัครงานใหม่เราก็ไม่ได้คาดหวังเงินเดือนมาก แต่เราอยากมีคุณค่า อยากใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมอยู่ ไปสมัครหลายที่ไม่มีใครรับ HR ให้เหตุผลว่าอายุเกิน 35 ไม่สามารถรับเข้าทำงานได้ ตอนนั้นมีไปเรียนรู้กับหลายที่ทั้ง Smart SME เกษตรยั่งยืน เราไปหมดทุกที่ เพราะพื้นฐานเราเป็นมนุษย์เงินเดือนด้วย ไม่มีความรู้อื่น ๆ นอกจากสายงานที่ทำมาก่อน จึงต้องการความรู้เพื่อเริ่มต้นชีวิตอยู่มาก

“แม้พอจะมีเพื่อนเป็นผู้ประกอบการบ้างแต่เมื่อไปขอความรู้จากเพื่อน ก็ได้รับคำตอบว่าการทำธุรกิจนั้นยาก จึงไม่ได้ลองขยับไปจับงานด้านผู้ประกอบการเสียที ขณะนั้นก็รับจ้างภรรยาทำหน้าที่เลี้ยงลูกและมีงานวางระบบด้าน IT อยู่บ้าง โชคดีที่เรามีความรู้ด้านการลงทุน RMF LTF กองทุน หุ้น ฯลฯ รายได้หลักของครอบครัวขณะที่เราไม่ได้ทำงานจึงมาจากเงินปันผล การวางแผนให้เงินทำงานเลี้ยงเราได้ในวันที่เราต้องเกษียณจึงสำคัญมาก

ผมได้มาเข้าโครงการชีวิต ซีซัน 2 วิชา อัปสกิลขั้นสุดสู่การเป็นที่ปรึกษามืออาชีพของมนุษย์ต่างวัย ทำให้ได้ใช้ความสามารถและประสบการณ์ของเรามาทำประโยชน์ต่อ ตอบโจทย์การนำประสบการณ์ชีวิตของตัวเองตอนที่ทำงานอยู่มาใช้ให้เกิดคุณค่า และผมคิดว่าที่สำคัญที่สุดคือเราต้องปรับตัวเราเอง อย่าไปตั้ง Mindset ว่าเราเป็นผู้สูงวัย แต่เราคือหนึ่งในสมาชิกของสังคม เราสามารถสร้างคุณค่าของเราในมุมของเราได้ และก็อยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ด้วยได้ ส่วนเรื่องเงินและสุขภาพนั้นเป็นสิ่งที่ตามมา เมื่อเราได้ก้าวออกมาใช้พลังของเราพัฒนาสังคมร่วมกันกับคนทุก ๆ วัย เราก็จะสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้ครับ

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ