ในวันที่อายุมากขึ้น เราควรวุ่นวายเรื่องลูกหลานให้น้อยลง แล้วกลับมาค้นหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำ “เพื่อเริ่มต้นชีวิตที่สองของตัวเองอย่างสง่างาม”

“ข้อดีของการอายุมากขึ้น คือสั่งสมประสบการณ์มาจนเข้าใจชีวิตประมาณหนึ่ง และควรเป็นช่วงที่เราสนใจชีวิตคนอื่นให้น้อยลง แล้วเอาความฝันตอนอายุ 20 ต้น ๆ กลับมาทำให้เป็นจริง”

มนุษย์ต่างวัยชวนคุยกับคุณ “แหม่ม วีรพร นิติประภา” อายุ 60 ปี นักเขียนสองรางวัลซีไรต์ ผู้เชื่อว่า เราควรยุ่งเรื่องของลูกหลานให้น้อยลงในวันที่อายุมากขึ้น แต่ควรหันกลับมาถามว่าตัวเองว่าอยากทำอะไร หรือนำความฝันที่เคยหล่นหายไปกลับมาปัดฝุ่นแล้วลงมือทำอีกครั้งขณะที่ยังมีเวลาให้ทำ

“เราเริ่มเขียนหนังสือตอนอายุ 20 กว่าแต่รู้ว่ารายได้มันไม่พอกินเลยเลิกไป แล้วหันไปทำงานโฆษณาที่พอเลี้ยงตัวเองได้ ทำอยู่หลายปีจนมีลูก ซึ่งตอนแรกเราก็เลี้ยงลูกแบบให้อยู่กับพี่เลี้ยง เพราะต้องออกไปทำงาน แต่มีอยู่วันหนึ่งเรากลับมาบ้านแล้วเห็นพี่เลี้ยงปล่อยให้ลูกเรานั่งดูทีวีลำพัง เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว เพราะเราไม่ได้ตั้งใจจะเลี้ยงเขาแบบนั้น

“ตอนนั้นเราอายุ 30 ปลายแล้ว งานกับรายได้มีความมั่นคงประมาณหนึ่งแล้ว แต่เราอยากมีเวลาให้ลูกมากขึ้น จึงตัดสินใจออกจากงานประจำแบบไม่มีแผนอะไรเลย แล้วเอาเงินเก็บทั้งชีวิตมาเปิดร้านขายเครื่องประดับที่จตุจักร เพราะคิดว่าคงเป็นงานที่ทำให้เรามีเวลากลับมาอยู่บ้านกับลูกมากขึ้น แต่เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจ สุดท้ายรายได้หดหายจนต้องปิดร้าน เลยต้องกลับมาอยู่บ้านเป็นคุณแม่เต็มเวลาจนได้

“ถึงเวลานั้นรายรับจะไม่ได้มาก เพราะไม่ได้มีงานประจำ แต่ข้อดีคือเราได้อยู่กับลูกทั้งวันเลยเป็นช่วงที่เราติดลูกมาก แล้วเราก็มีความสุขที่ได้สัมผัสอารมณ์เขาทุกมุม ทั้งฟังเขาหัวเราะ ฟังเขาร้องไห้ จนกระทั่งเขาเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่พอเขาต้องออกจากบ้านไปอยู่มหาวิทยาลัย มันก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือไปเลย จำได้ว่าช่วงนั้นเราร้องไห้อยู่หลายวัน และพอรู้ว่าลูกได้ทุนไปเรียนต่อเมืองนอก เราก็ยิ่งซึมเศร้าเข้าไปอีก เพราะจะไม่มีเขามาพูดว่า ‘แม่จ๋าวันนี้กินอะไร แม่จ๋าวันนี้ใส่เสื้อตัวไหน’ อีกแล้ว

“หลังจากลูกไปเรียนต่อเมืองนอก เราร้องไห้อยู่ที่บ้านตั้ง 3-4 เดือน อารมณ์ตอนนั้นเหมือนแม่ที่ทำลูกหายกลางทางจนเสียศูนย์ แต่ยังดีที่ได้คุยกับลูกผ่านทางออนไลน์บ้าง ถ้าว่างเขาก็คุย ไม่ว่างเขาก็ไม่คุย เป็นอย่างนี้อยู่ 4 ปีโดยที่ไม่ได้เจอกัน เพราะเขาก็เรียนอยู่ ส่วนเราก็ไม่มีตังค์บินไปหาเขา

เพื่อไม่ให้เหงาจนเกินไป คุณแหม่มเลยหยิบความฝันที่จะเป็นนักเขียนสมัยอายุ 20 ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งในวัย 40 ปลาย ๆ โดยพี่แหม่มเชื่อว่านอกจากอายุของตัวเองที่เพิ่มขึ้น ประสบการณ์ชีวิตของตัวเองก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน และในช่วงที่ลูกออกเดินทางไปไกลเพื่อไปค้นหาตัวเอง คุณแหม่มก็ควรใช้เวลาที่อยู่ลำพังนั้นค้นหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำด้วยเช่นกัน

“เพราะเราเลี้ยงลูกให้เป็นนักอ่าน ลูกก็เลยชอบชมนักเขียนคนนั้นคนนู้นให้เราฟังบ่อย ๆ เราหมั่นไส้เพราะอยากเป็นเหมือนคนเหล่านั้นบ้าง เลยเริ่มกลับมาเขียนหนังสือเวลาอยู่บ้านว่าง ๆ เพราะเราก็พอมีพื้นฐานอยู่บ้าง สมัยสาว ๆ ก็เขียนเรื่องสั้นเยอะ จึงอยากเขียนให้ตีพิมพ์เป็นเล่มให้ได้

“ตอนกลับมาเขียนหนังสือใหม่ ๆ ในวัยใกล้ 50 เราเขียนแบบไม่กลัวว่าจะล้มเหลวเลย เราไม่รู้ว่าข้อดีของการอายุมากขึ้นของคนอื่นคืออะไร แต่สำหรับเราคือการมีเวลามากขึ้น เข้าใจชีวิตและเข้าใจโลกมากขึ้นแล้ว

“จำได้ว่าช่วงตอนเราเขียนหนังสือในวัย 20 เรากังวลไปหมด กลัวคนอ่านจะไม่ชอบ กลัวไม่ได้ตีพิมพ์ แต่เขียนหนังสือตอนแก่กลับทำให้เรามีความมั่นใจแปลก ๆ ว่าทำแบบนี้ไม่แย่หรอก ถ้ามันล้มเหลวก็แค่เสียใจแป๊บเดียว เพราะอีกไม่นานเราก็ตายแล้ว หรือถ้าจะล้มเหลวจริง ๆ ก็ปล่อยให้มันระเบิดตูมไปเลย ยังไงก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไร ซึ่งเราว่าความรู้สึกนี้ไม่ได้จู่ ๆ ก็มา แต่มันจะมาเมื่อถึงวัยที่เหมาะสมเท่านั้น

“หลังจากทุ่มเทจนมีหนังสือเล่มแรกเป็นของตัวเอง เราก็เอาเงินที่สำนักพิมพ์จ่ายให้มาซื้อตั๋วเครื่องบินไปหาลูกที่เมืองทันที ตอนเจอกันครั้งแรกในรอบหลายปีเราก็อุ่นใจที่ลูกเขาอยู่สุขสบาย แต่ก็ตกใจอยู่บ้างเพราะเป็นช่วงที่เราเริ่มเดินทางสายนักเขียนแล้ว ในขณะที่ลูกก็เริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่และกำลังจะมีชีวิตของตัวเอง เลยเหมือนว่าเราสองแม่ลูกคงต้องต่างแยกกันทำตามความฝันหลังจากนี้

พี่แหม่มเล่าว่า ชีวิตที่สองของตัวเองเริ่มต้นอย่างแท้จริงตอนอายุ 50 หลังจากหันมาเขียนหนังสือจริงจัง และเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องหาอะไรทำ เพราะในวันที่ตัวเองทำหน้าที่แม่ลุล่วงแล้ว ก็ต้องมาหาว่าตัวเองอยากเป็นใครต่อไป ซึ่งความฝันของคุณแหม่มคืออยากเป็นนักเขียนจนกว่าจะจับปากกาไม่ไหว

“น่าเสียดายที่การใช้ชีวิตในสังคมเรามันไม่ได้เอื้อให้เรามีเวลาทำงานอดิเรกเท่าไหร่ อย่างตอนเด็กจะอ่านการ์ตูนก็มีคนห้าม ตอนโตจะเล่นเกมก็ถูกคนอื่นบ่น และเราก็ต่างถูกสอนกันมาว่า ให้เรียนอะไรก็ได้ที่มีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้ หาแฟนได้ สร้างครอบครัวได้ เงยหน้ามาอีกทีก็กลายเป็นคนอายุ 60 ที่ไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับชีวิตที่เหลืออยู่ซะแล้ว

“แต่ไม่ว่าอย่างไร เราอยากบอกคนที่มีลูกหลานว่า ในวันที่คุณแก่ลงก็ไม่ต้องไปยุ่งวุ่นวายกับชีวิตเขามาก แต่เราควรหันมาโฟกัสว่าเราอยากจะทำอะไรในอายุเท่านี้ เพราะมันสำคัญมากที่เราต้องมีความฝันครั้งใหม่ หรือสิ่งทำให้หัวใจยังคงเต้นรัวในวันที่อายุมากขึ้น

“เพราะอายุไม่ใช่เงื่อนไขว่าเราทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง แต่มันอาจเป็นช่วงเวลาให้เราตัดสินใจได้อย่างมั่นใจขึ้นว่าเราอยากจะทำอะไร อย่างเราก็ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคนเขียนหนังสือเก่งนะ แต่มองว่ามาเริ่มเขียนหนังสือตอนมีอายุ แล้วมองเห็นชีวิตของมนุษย์ในสังคมมาประมาณหนึ่ง เลยมีวัตถุดิบในการเขียนเยอะ ถ้าเขียนตอนอายุ 20 เราอาจจะเขียนไม่ดีเท่านี้ก็ได้

“สุดท้ายไม่ว่าใครก็ต้องมีชีวิตของตัวเอง เราเลี้ยงลูกเพื่อที่จะเติบโตไปจากเรา เลี้ยงได้ก็ปล่อยให้เขาได้ เราต้องยอมรับข้อนี้ ฉะนั้นถ้าวันนี้คุณไม่ต้องทำงานประจำ หรือเลี้ยงลูกแล้ว หางานอดิเรกสักอย่างทำเถอะ ถ้าตอนนี้คุณอยากเรียนชงกาแฟ อยากเรียนทำขนม อยากเรียนเขียนนิยาย ก็ไปเริ่มเรียนได้เลย ถึงแม้คุณจะเอามาประกอบอาชีพไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็อาจช่วยให้คุณได้พบงานอดิเรกใหม่ ๆ ที่ทำให้ชีวิตคุณไม่เหงาก็ได้ ซึ่งมันดีกว่าไปยุ่งวุ่นวายกับชีวิตคนอื่นเยอะ

แต่เราก็ไม่ได้บอกว่า คนรุ่นเรากับลูกหลานต้องขาดกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์นะ แค่มองว่าไม่ต้องไปกำหนด หรือตัวติดกันมากจนกลายเป็นการเบียดเบียนกัน เพราะคนรุ่นเก่าชอบไปตัดสินคนรุ่นใหม่ ทั้ง ๆ ที่คนรุ่นใหม่เขาก็ไม่ได้มาตัดสินเราเลย เรื่องนี้ต่างหากที่ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยในสังคมมันถึงห่างมากเรื่อย ๆ

“พอเราเห็นแบบนั้น เลยไม่อยากกลายเป็นคนแก่ที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากคุยด้วย ในวันที่ไม่ได้อยู่กับลูก เราเลยชอบออกไปใช้ชีวิต ไปเจอคนตามงานเสวนา ไปดูว่าคนรุ่นใหม่กำลังคุยอะไรกัน ซึ่งเราก็ฟังเขาแบบไม่ตัดสิน และหลายครั้งมุมมองของเขาก็ทำให้เราเขียนหนังสือได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เราไม่แก่แล้วแก่เลย แต่เป็นคนแก่ที่เด็ก ๆ อยากเข้ามาคุยด้วยเสมอ

“สุดท้าย ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเป็นคนป่วยติดเตียง เราเลยจำเป็นต้องมีความฝันที่ทำให้เราอยากลุกขึ้นมาใช้ชีวิตทุกวัน ซึ่งสำหรับเราคือการเขียนหนังสือไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเขียนไม่ไหว”

Credits

Authors

  • นิติภัค วรนิติโกศล

    Authorปรกติไม่ชอบความวุ่นวาย เวลาว่างชอบอ่านหนังสือกับเล่นเกม ความฝันสูงสุดของชีวิตคือการเป็นคนธรรมดาที่มีความสุข

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ