เมื่อลูกเกิดมาพิการ และเป็น LGBT จนวันหนึ่งกลายเป็น ยูทูบเบอร์ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ คุยกับ ‘มนุษย์แม่สุดแข็งแกร่ง’ ของ ‘บุญรอด’ คู่หูยูทูบเบอร์ LGBT จากช่อง poocao channel

17 พฤษภาคม วันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน บุคคลข้ามเพศ ( IDAHOT)

“แค่ร่างกายเขาพิการ เขาก็ใช้ชีวิตลำบากกว่าคนอื่นแล้ว ดังนั้นเขาจะแต่งหญิง จะเป็นอะไรก็เป็นไปเลย แม่สนับสนุนเต็มที่ ถ้านั่นคือความสุขของบุญรอด”

มนุษย์ต่างวัยขอพาไปรู้จักกับ ‘มนุษย์แม่สุดแข็งแกร่ง’ อย่าง แม่ลัดดา อารีย์วงษ์ วัย 60 ปี แม่ของ ‘บุญรอด’ คู่หูยูทูบเบอร์ LGBT จากช่อง poocao channel ซึ่งถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ตับตั้งแต่แรกเกิด

จากวันนั้นชีวิตของแม่ลัดดาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล แม่ต้องทิ้งทุกอย่างไม่ว่างาน หรือคนรอบข้าง เพื่ออยู่ดูแลลูกที่ข้างเตียงในโรงพยาบาลนานนับปี แต่หลังจากการให้คีโมรักษาจนอาการของบุญรอดดีขึ้นแล้ว กลับพบว่า การนอนอยู่บนเตียงตั้งแต่คลอดนั้นส่งผลให้บุญรอดมีอาการเส้นยึด ทำให้การเคลื่อนไหวของเขาผิดปกติไป กลายคนพิการตั้งแต่อายุ 1 ขวบ

บุญรอดไม่เพียงแต่พิการตั้งแต่กำเนิดเท่านั้น แต่เขายังแสดงออกว่าเป็น LGBT ตั้งแต่ในวัยเด็ก ทำให้ยิ่งถูกล้อเลียน ถูกบูลลี่ ดูถูกจากสังคมรอบข้างอย่างหนัก ว่าพิการแล้วยังเป็น LGBT แต่ด้วยความรักและความเข้าใจ แม่ลัดดาเชื่อมั่นว่าครอบครัวต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูกให้ได้ ทำให้ทั้งพ่อและแม่ของบุญรอดพร้อมสนับสนุนทุกสิ่งที่ถูกต้องที่บุญรอดเป็นและเชื่อมั่นในศักยภาพของลูก

ความเข้าใจเหล่านี้กลายเป็นกำลังใจทำให้บุญรอดเติบโตมาด้วยใจที่แข็งแกร่ง ไม่กลัวคำพูดดูถูกใดๆ ที่ผ่านเข้ามา มากไปกว่านั้นเขายังพิสูจน์คำดูถูกเหล่านั้นด้วยการเติบโตมาด้วยจิตใจที่งสมบูรณ์เข้มแข็ง พร้อมเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ จนสามารถ เรียนจบปริญญาโท แถมยังเป็นยูทูบเบอร์ที่มีคนตามหลักแสน สร้างรายได้ให้ตนเองและครอบคัว

“ยิ่งลูกเป็นแบบนี้ แม่ยิ่งต้องแข็งแกร่งเพื่อลูก แม่บอกเขาตลอดว่า สิ่งที่บุญรอดเป็นมันไม่ใช่ปมด้อยเลย มันเป็นเพียงอุปสรรคเล็กเล็ก น้อยๆ ในชีวิตที่บุญรอดต้องผ่านไปให้ได้”

เนื่องในวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน บุคคลข้ามเพศ หรือเรียกสั้นๆ ว่า IDAHOT เพราะอคติและความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+) ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน หรือสังคมออนไลน์

เพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย หันมาสนใจประเด็นเรื่องความรุนแรงและการกีดกันกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญอยู่ทั่วโลกในแนวคิด “Our Bodies, Our Lives, Our Rights”

Credits

Authors

  • ลดาภรณ์ เซิงเจ๋

    Author & Drawเป็นคนกทม. หลงรักการเดินทาง ปัจจุบันปักหลักอยู่เชียงใหม่

  • พนา นวภัทรเมธากุล

    Editorการตัดต่อคือการเลือกสิ่งที่สำคัญ และตัดออกสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ชีวิตก็เช่นเดียวกัน เราต้องเลือกสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข และเลือกทิ้งในสิ่งที่ทำให้เราเศร้าหรือทำให้เราโกรธ

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ