“การทำอาดัมแอนด์ซันเกิดขึ้นในช่วงที่เรากลับมาอยู่บ้าน ตอนนั้นก็ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ มันไม่ได้อยู่ในหัวเลย เรารู้สึกว่ามันเป็นจังหวะที่ดีที่ได้กลับมาใช้ชีวิตและได้มาทำอะไรแบบนี้ ตอนนี้ที่เราได้ร้องเพลงกับพ่อมันเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดแล้ว เราจะใช้มันให้คุ้ม”
มนุษย์ต่างวัยพาเดินทางลงใต้ไปจังหวัดพัทลุง เพื่อฟังเรื่องราวของวงดนตรีแฟมิลีแนวโฟล์กของสองพ่อลูกผู้รักในเสียงดนตรีและการเล่าเรื่องผ่านบทเพลงอย่าง ‘อาดัมแอนด์ซัน (Adam&Son)’ ซึ่งเกิดขึ้นจากการกลับบ้านของ ‘ไนท์’ ปุริม ทุ่มสมัง วัย 29 ปี ลูกชายที่เติบโตมาพร้อมกับความเป็นศิลปินของพ่อ และเห็นว่าพ่อของเขายังคงเล่นดนตรีอยู่ตลอด เลยถือโอกาสชวนพ่อมาลองอัดคลิปร้องเพลง เล่นกีตาร์ลงติ๊กต็อก จนเกิดกระแสตอบรับที่ดีในโลกโซเชียล
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำวงเพื่อต่อยอด พัฒนาผลงาน ทำเพลงใหม่ ๆ และกลายเป็นการทำให้ฝันของ ‘พ่ออาดัม’ ดำรงศักดิ์ ทุ่มสมัง วัย 59 ปี ได้กลับมามีชีวิตและเบ่งบานอีกครั้ง
“วันแรกที่คลิปมันแมส เราตั้งใจเลยว่าถ้ามันมีคนเห็นแล้ว เราก็ต้องทำต่อ ลุยต่อ นอกจากเราจะทำคลิป เราก็ต้องทำเพลงและต้องมีผลงานเป็นของตัวเอง ก็เลยชวนพ่อมาทำต่อ” ไนท์เล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของวงอาดัมแอนด์ซัน
เริ่มต้นเส้นทางสายดนตรี
“เราเริ่มจับคอร์ดกีตาร์ หัดร้องเพลงมาตั้งแต่ ป.1 ตอนนั้นเราเป็นเด็ก เราก็อยากเล่นเกม ยังไม่ได้ชอบดนตรี แต่พ่อให้ฝึกร้อง ฝึกเล่น เวลาไปเล่นดนตรีตามร้าน ไปเปิดหมวก เขาก็พาเราไปร้องด้วย พอมันได้ตังค์ เราก็เลยชอบ
“ตอนที่พ่อชวนไปออกอัลบั้ม เราก็คิดว่าเขาให้ทำอะไรก็ทำ ไม่ได้ติดอะไร ลองดูได้ แต่พอเราซ้อมแล้วไม่ได้ ก็โดนดุ เรากดดันจนร้องไห้ในห้องอัดแต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ เราเห็นพ่อเล่นดนตรีมาตลอดแต่มันก็ยังไม่ได้จุดประกายเราขนาดนั้น แต่เราก็เล่นดนตรีมาเรื่อย ๆ จนมันติดตัวมา พอโตขึ้นเราก็เริ่มชอบมันโดยที่เราไม่รู้ตัว
“พอขึ้นมัธยมเราไปอยู่โรงเรียนประจำ เพลงที่ทำกับพ่อมันก็เลยไม่ได้สานต่อ เพราะเราเริ่มห่างกับพ่อ บวกกับเราโตแล้วก็อยากทำวงเอง ไม่ได้อยากร้องเพลงเพื่อชีวิตแบบพ่อ ก็เลยเริ่มทำวงกับเพื่อน”
กว่าจะเป็นอาดัมแอนด์ซัน
“ก่อนหน้านี้เราเป็นนักดนตรีกลางคืน แล้วก็ไปทำงานบริษัทมาช่วงหนึ่ง แต่พอทำไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกไม่แฮปปีเท่าไร จนมาถึงช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกอิ่มต้ว อยากหาอย่างอื่นทำ อยากทำร้านของตัวเอง แล้วตอนนั้นแม่ก็โทรมาบอกว่าแม่อยากจะทำห้องรับรองให้ผู้ปกครองเวลาพาลูกมาเรียนดนตรี เราก็เลยคิดว่าถ้าแม่จะทำห้องรับรองแล้ว เราทำร้านกาแฟดีไหม มันก็เลยเป็นจุดที่ทำให้เราตัดสินใจกลับบ้าน
“พอเรากลับมาอยู่บ้าน ตอนแรกก็ยังต่างคนต่างทำเพลงของตัวเองอยู่ แต่พออยู่บ้านไปได้สักพัก เห็นพ่อเขาเล่นดนตรีบ่อย ๆ เราเองก็อยากทำเพลงอยู่แล้วด้วย เลยคิดว่าเราลองมาร้องเพลงกับพ่อดูดีไหม ก็เลยลองมาซ้อมด้วยกันแล้วชวนพ่อมาอัดคลิปลงติ๊กต็อก
“ตอนที่ลงคลิปร้องเพลงกับพ่อไป เราดีใจมากที่ได้เห็นแฟนเพลงเก่า ๆ ของพ่อ หรือเพื่อนที่เห็นเราร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ๆ มาคอมเมนต์ เวลามีคอมเมนต์ เราก็จะส่งให้พ่อดูว่าพ่อรู้จักคนนั้นไหม คนนี้ไหม แล้วก็จะมานั่งนึกกัน ก็สนุกดี ตอนนั้นตื่นเต้น ดีใจกันทั้งบ้านเลย”
เส้นทางที่ต้องไปต่อ
“พองานแรกติดต่อมา เราก็ดีใจว่ามันมีคนเห็นเราแล้ว เราเล่นดนตรี เราก็อยากเดินทาง ให้ไปเล่นที่ไหนก็ได้ ขอให้มีงาน ตอนนั้นก็เลยบอกพ่อว่าเราต้องมาซ้อมกันจริงจังมากขึ้นแล้วนะ
“การทำอาดัมแอนด์ซันไม่ยากมากแต่งานหนักจะตกไปอยู่ที่พ่อ ช่วงแรกที่ทำวงด้วยกัน พ่อเขาต้องปรับเรื่องการฝึกร้อง ฝึกออกเสียง ต้องไปแกะเพลง และปรับบุคลิกและการแต่งตัวใหม่ทั้งหมด
“พ่อเขาอายุจะ 60 ปีแล้ว เขาก็จะหลง ๆ ลืม ๆ บ้าง บางอย่างเราก็ใจร้อนอยากให้เขาทำได้เร็ว ๆ แต่ข้อดีมาก ๆ คือ เขารับฟังเรา เราให้ทำอะไร เขาก็เปิดรับตลอด เราจะคุยกันตลอดว่าเราจะเล่าเรื่องอะไร ร้องอย่างไร
“การทำอาดัมแอนด์ซันทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวสนุกสนานมากขึ้น เหมือนเป็นความพิเศษอะไรบางอย่าง ให้เราได้มีเรื่องตื่นเต้น เราได้เที่ยวด้วย ได้ไปเล่นดนตรีด้วย ตั้งแต่ทำวงมาพ่อดูหนุ่มขึ้น กระฉับกระเฉงมากขึ้น เหมือนเขามีพลังว่าเขากำลังจะได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ
“ทุกวันนี้อาดัมแอนด์ซันกำลังจะเดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 เรากำลังจะมีอีพีอัลบั้ม (มินิอัลบั้ม) ต่อไปก็ต้องมีอัลบั้ม 1 และอัลบั้ม 2 เราไม่ได้คิดว่าเป้าหมายเราจะต้องเป็นการมีคอนเสิร์ตใหญ่ เราแค่อยากจะสร้างผลงานให้คนจำได้ว่านี่คืออาดัมแอนด์ซันนะ ให้พ่อถ่ายคลิป เดินทาง เล่นดนตรี กินอะไรอร่อย ๆ แล้วแฮปปีไปกับมัน”
โชคดีที่มี ‘พ่อ’
“พ่อเป็นครูดนตรีคนแรก เป็นครูชีวิตคนแรก และเป็นไกด์นำทางที่คอยบอกว่า ถ้าลูกเดินทางนี้ มันก็ยังมีทางอื่นให้ลองเดินได้ ไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก เราเห็นการเดินทางของพ่อมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะเราก็ไปกับเขาตลอด ได้เห็นชีวิตของเขา มุมมองของเขามาตั้งแต่ตอนนั้น เหมือนเป็นการหล่อหลอมเรามาอีกที
“ทุกวันนี้รู้สึกขอบคุณพ่อมาก ๆ เพราะตอนนั้นเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราชอบมัน ถ้าเขาไม่ได้สอนเราตั้งแต่ตอนนั้น วันนี้เราอาจจะยังไม่รู้ก็ได้ว่าเรามีเป้าหมายอะไร”
ฝันของพ่อ
พ่ออาดัมผู้มีฝันอยากเป็นศิลปิน และเริ่มต้นเส้นทางสายดนตรีมาตั้งแต่อายุ 16 ปี จากการศึกษา เรียนรู้ และจดจำจากการดูคนอื่นเล่น แล้วเริ่มลองผิดลองถูกด้วยตัวเองโดยไม่มีคนสอน จนวันหนึ่งพ่ออาดัมก็สามารถเล่นดนตรีได้ กลายเป็นศิลปินที่มีผลงานและอัลบั้มเป็นของตัวเอง เริ่มมีคนรู้จักและชื่นชอบ แต่ฝันของพ่อไม่หยุดแค่นั้น พ่ออยากให้ลูกชายได้มีส่วนร่วมในความฝันครั้งนี้ จึงชวนลูกชายให้มาหัดร้องเพลง เล่นกีตาร์ และออกอัลบั้มด้วยกัน
“พ่อมีภาพฝัน 2 ภาพ ฝันแรกคืออยากร้องเพลงเป็น เล่นกีตาร์เป็น แล้วก็มีวงไปเล่นดนตรีตามหมู่บ้าน อยากไปแสดงในงานต่าง ๆ พอถึงจุดหนึ่งพ่อก็ลองหัดเขียนเพลง ไม่รู้หรอกว่าเขาเขียนกันอย่างไร แต่เราฟังเพลงมาเยอะ เราก็จำเมโลดี้เหล่านั้นมาเขียนเพลงได้
“จากนั้นพ่อก็ฝันต่อว่าอยากเป็นศิลปินออกทีวี มีรูปลงในหนังสือพิมพ์ อยากมีโอกาสได้ทำเพลงเสนอค่าย วันหนึ่งพ่อก็ทำมันได้จริง ๆ ตอนนั้นพ่อดีใจมาก พ่อคิดว่าพ่อสำเร็จแล้ว ไม่ต้องทำอะไรแล้ว แต่มันไม่ใช่แค่นั้น เราหยุดไม่ได้ เราต้องเดินต่อ
“มันเป็นโปรเจกต์ของพ่อเลยว่าอยากให้ลูกมีส่วนร่วมกับการออกอัลบั้มของพ่อ อยากเล่าเรื่องของครอบครัวให้คนอื่นรู้ว่าเราอยู่กันได้ ร้องเพลงด้วยกันได้ พอไนท์โตขึ้นเขาจะได้เห็นว่าตอนที่เขาเป็นเด็ก พ่อทำอะไรให้เขาบ้าง
“พ่อเติบโตในวงการจนถึงจุดหนึ่ง หลังจากนั้นกระแสคนฟังเพื่อชีวิตอาจจะดรอปลง งานของพ่อก็อาจจะน้อยลง แต่อะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในตัวพ่อมันก็ยังอยู่ สังคมมันหยุดฝันพ่อไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พ่อก็จะทำต่อไปเรื่อย ๆ พ่อคิดอยู่เสมอว่าพ่อจะพาฝันของพ่อไปจนถึงวันสุดท้ายที่เราต้องจากลาโลกนี้ไป”
เริ่มเรียนรู้ใหม่อีกครั้ง
“ตอนแรกที่ไนท์กลับมาอยู่บ้าน นี่อยู่กันคนละมุมเลย มีโซนของตัวเอง แม่ก็โซนหนึ่ง พ่อก็โซนหนึ่ง ไนท์ก็อยู่อีกโซนหนึ่ง ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง ตอนนั้นพ่อก็แอบไปดูว่าไนท์เขาเล่นอะไร ทำไมมันเพราะจัง ซึ่งเสียงดนตรีแบบที่ไนท์เล่นนั้นพ่อได้ยินแล้วก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่พ่อเคยสอน แต่มันเป็นมิติใหม่ที่เขาไปเก็บสะสมมาด้วยตัวของเขาเอง พอไนท์กลับมาอยู่บ้านได้เกือบปี เขาก็ชวนพ่อให้มาลองเล่นดนตรีด้วยกันแต่เล่นแบบโฟล์ก อะคูสติก
“พ่อเป็นคนพูดเสียงดัง ทำอะไรเร็ว เขาก็บอกให้พ่อพูดช้า ๆ เบา ๆ บอกว่าพ่อต้องเปลี่ยนนิสัย ถ้ายังทำไม่ได้ ไม่เป็นไร ค่อย ๆ ฝึก เล่นดนตรีพ่อก็ต้องฝึกเล่นเบา ๆ จากที่เคยเล่นใส่อารมณ์เต็มที่ พ่อก็ต้องมานั่งเงียบ ๆ ค่อย ๆ เล่นช้า ๆ แล้วฟัง ฟังให้มันรู้สึกเย็น เหมือนกับเรามาฝึกสมาธิ ไม่ต้องเอาความรู้สึกในร่างกายออกไปเยอะ เหมือนเล่นดนตรีบำบัด
“ปกติถ้าพ่อร้องคนเดียว มันก็ฟังได้ ไม่มีใครรู้ว่าเราผิดตรงไหน แต่พอมาร้องประสานกับลูก มันผิดไม่ได้ ถ้าหลุดตัวโน้ตนิดเดียว ลูกจะรู้เลยว่าพ่อร้องผิด มันมีเสน่ห์มากที่เขามาร้องซับข้างหลังให้พ่อ พ่อดีใจมาก แล้วก็ตั้งใจฝึกมาก ๆ แต่พ่อก็ยังต้องฝึกอีกเยอะ”
‘พ่อ’ ที่ลูกสอนได้
“ถามว่าเวลาขึ้นไปเล่นบนเวทีเคยเล่นผิดบ้างไหม ผิดเป็นปกติเลย มีเกือบทุกงาน จะมากจะน้อย ผู้ชมอาจจะไม่รู้ว่ามันผิด แต่เรารู้กัน พอลงจากเวทีเราก็จะกอดกันก่อนแล้วค่อยมาสรุปว่าวันนี้เราต้องแก้ไขอะไรบ้าง แต่จะไม่ใช่การตำหนิว่าทำไมจำไม่ได้ ทำไมลืมทุกวัน อะไรแบบนี้ไม่มี มีแต่บอกว่า ‘พ่อเอาใหม่ พ่อเอาใหม่’ มันก็ทำให้เรามีแรงขึ้นมา
“เมื่อก่อนพ่ออาจจะร้องเพลงรักบ้าง เพลงธรรมชาติบ้าง เพลงการเมืองบ้าง แต่ไนท์มาบอกว่าเรามาทำเพลงใหม่เป็นเพลงให้กำลังใจทุกคนกัน พอพ่อร้องแล้วมันตรงจริตพ่อ เข้าปากพ่อ ทำให้ส่งพลังออกมาสู่คนฟังได้ สิ่งที่พ่อได้นั้นมาจากการที่ไนท์เป็นคนอยู่เบื้องหลังคอยอุดรูรั่วให้พ่อทั้งหมดเลย
“พ่อส่งลูกไปเรียนจนเขาเติบโตกลับมา เห็นเลยว่าเขาโตขึ้น เขาเป็นผู้นำ และดูแลเราได้ เขาไปเรียนที่กรุงเทพฯ ได้ไปหาประสบการณ์ถึงเมืองนอกแต่พ่อไม่เคยได้ไป แล้วทำไมพ่อจะไม่ยอมรับวิธีคิดของเขา ที่เขาได้อะไรใหม่ ๆ กลับมาให้พ่อ
“พ่อบอกไนท์เลยว่า ‘ลูก มีอะไรบอกพ่อ มาสอนพ่อก็ได้ พ่อพร้อมที่จะรับ’ เพราะพ่อเห็นว่ามันดีทั้งหมดเลย เมื่อก่อนตอนเขาเป็นเด็ก เราเป็นคนจัดการให้เขาแล้ว วันนี้ให้เขาได้จัดการให้เราบ้าง พ่อแค่ทำตาม ไม่ดื้อ แค่นั้น”
ฝันที่ได้ไปต่อเพราะลูกชาย ‘กลับบ้าน’
“ถ้าพูดถึงความเป็นพ่อแม่ เราดีใจสุด ๆ ที่ลูกกลับมาอยู่บ้าน แต่เราไม่เคยบอกลูกนะว่าพ่อแม่แก่แล้ว กลับบ้านนะ ลูกจะกลับหรือไม่กลับก็ได้ แต่เมื่อไรที่ลูกพร้อมจะกลับมาอยู่ที่บ้าน พ่อแม่ก็พร้อมตลอด
“พอเขากลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน มันทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น เราอยู่ด้วยกันทุกวัน ถ้าเรามีอคติต่อกัน เราก็พร้อมจะปะทะกันได้ตลอดเวลา แต่เราเลือกที่จะคุยกันอย่างมีเหตุผล ไม่บ่นสะเปะสะปะ
“การเป็นอาดัมเเอนด์ซันต่างจากตอนที่พ่อร้องเพลงตอนเป็นหนุ่มอย่างสิ้นเชิง อย่างแรกคือกลุ่มเป้าหมายหรือคนฟังไม่มีกลุ่มที่เคยฟังพ่อเล่นดนตรีมาเลย ไม่มีผู้สูงอายุเลย พ่อได้มาเจอกับลูก ๆ วัยรุ่นที่นิยมฟังเพลงโฟล์ก ได้อยู่ในกลุ่มคนที่มีเรื่องเล่าคล้าย ๆ กัน มันเป็นความสุขของพ่อ บางครั้งลูก ๆ แฟนเพลงเขาก็อยากจะกอดพ่อ อยากจะถามพ่อเรื่องการใช้ชีวิตกับไนท์ พ่อก็ดีใจที่ได้เล่าให้เขาฟัง
“สิ่งที่ประทับใจที่สุดก็คือมีคนติดตามเรา มีคนรู้จักเรา นี่คือสิ่งที่สุดยอด ไปไหนคนก็บอกว่า ‘พ่ออาดัมมาแล้ว’ แค่ได้ยินเสียงมันก็ใจฟูไปหมด”
“เรื่องโชคดีที่สุดในชีวิตของพ่อคือความสมบูรณ์ของครอบครัว ยิ่งได้มาอยู่ด้วยกันพ่อแม่ลูก ก็ยิ่งมีความสุข พ่อใช้ชีวิตกับการกอดมาตั้งแต่ไนท์เป็นเด็ก แม่ออกไปทำงานพ่อก็กอด เจอเพื่อนพ่อก็กอด พ่อว่าพลังงานที่ออกมากับการกอดมันสุดยอด เวลาพ่อได้กอดใคร ไม่ว่าจะลูก ๆ แฟนเพลง หรือใครก็ตาม มันก็เป็นพลังกลับมาให้พ่อ
“พ่อโชคดีที่ลูกเป็นคนที่จิตใจดีมาก ก่อนจะคุยกับพ่อเขาคิดแล้วคิดอีกว่าจะพูดกับพ่ออย่างไร พอได้โอกาส เขาก็คุยกับพ่อแบบนิ่ม ๆ ไม่มีอารมณ์ที่ทำให้พ่อรู้สึกว่าทำไมเขาเป็นแบบนั้น ทำไมเขาทำแบบนั้น พ่อรักเขามาก พ่อปล่อยวางแล้วว่าชีวิตพ่อลูกจัดการได้หมดเลย เพราะลูกคิดได้ดีกว่าพ่ออีก
“ถ้าไม่มีอาดัมแอนด์ซันพ่อก็น่าจะอยู่เป็นครูสอนดนตรี แล้วก็มีงานบ้าง ไม่มีงานบ้าง มันเป็นช่วงจังหวะที่ทำให้พ่อได้กลับมาเดินทางอีกครั้ง จากที่ไม่ได้ไปมานานแล้ว ไปด้วยบทเพลงที่ไนท์เขียนและพ่อกับไนท์ได้ร้องไว้
“พ่อเคยเล่าเรื่องไว้แล้วไม่จบสักเรื่อง แต่วันนี้พ่อได้กลับมาต่อยอดการเล่าเรื่องของพ่อ ไม่มีวันไหนเลยที่พ่อไม่ฝัน แต่ฝันมันจะไปถึงไหนพ่อบอกไม่ได้ วันนี้เหมือนไนท์มาทำให้ฝันของพ่อขยับขึ้นไปอีกขั้น ขอบคุณไนท์ที่คอยแนะนำทุกอย่างและพร้อมจะไปด้วยกัน”