ย้อนเวลาไปกับภาพถ่ายบนกล้องฟิล์ม กับ ‘พ่อดาว’ แห่ง ‘ห้องภาพดาว’ ร้านถ่ายรูปเก่าแก่ร้านสุดท้ายแห่งบ้านเชียง จ.อุดรธานี

หากใครมีอายุสัก 30 ขึ้นไปแล้ว คงจำได้ดีว่าสมัยก่อน หากจะสมัครงานหรือเรียนต่อ ด่านแรกที่เราต้องเจอคือใบสมัคร ที่จะมีคำถามยาวเป็นพรืดบังคับให้เราเขียนตอบด้วยลายมือบรรจง แม้ช่องตอบคำถามจะน่าปวดหัวสุด ๆ แล้ว ยังมีช่องที่น่าปวดใจยิ่งกว่า นั่นคือเจ้าช่องสี่เหลี่ยมที่มุมขวาที่เขียนข้อความว่า ‘ภาพถ่าย’

ในสมัยนั้น การที่เราจะมีรูปถ่ายเรียบร้อยถูกระเบียบสักใบ ทุกคนจำต้องออกจากบ้านเพื่อไป ‘ถ่ายรูป’ ที่ห้องถ่ายภาพโดยเฉพาะ ซึ่งมักจะเป็นร้านรวงหรือสตูดิโอที่ประจำชุมชน กล้องที่ใช้ก็ตัวใหญ่หลายเท่าตัว ส่วนช่างภาพ ก็จะช่วยดูแลความเรียบร้อยของลูกค้า มาช่วยหยิบจับคอปกเสื้อ จัดแต่งท่านั่ง จากนั้นก็บรรจงใช้หวีหางถี่ ๆ แสกผมให้เราอย่างดีจนเป็นเส้นตรงเหมือนวางไม้บรรทัด บางครั้งก็มีน้ำมันใส่ผมกลิ่นหอม แป้งตลับ หรือดินสอเขียนคิ้วไว้บริการด้วย เมื่อการนั่งหันซ้าย-ขวา เชิดหน้าตรงตามคำบอกเสร็จสิ้น เราทุกคนจะกลับบ้านด้วยความตื่นเต้นว่ารูปจะออกมาเป็นอย่างไรหนอ เพราะอาจต้องใช้เวลารอนานร่วมสัปดาห์ แต่สุดท้ายแล้ว พอได้เจ้ารูปถ่ายหน้าตรงบนฉากสีฟ้านั้นกลับมา ก็มักทำให้เรารู้สึกแปลกประหลาดใจในหน้าตัวเองเสียจนอยากซ่อนไว้ไม่ให้ใครเห็นเสียจริง

จนกระทั่ง การมาถึงของกล้องดิจิตอลและโทรศัพท์มือถือก็ทำให้วิถีแห่งการถ่ายภาพของผู้คนเปลี่ยนไป จากที่เคยต้องรอรับภาพถ่ายจากห้องภาพยาวนานเป็นสัปดาห์ ก็สามารถรอรับได้ภายใน 30 นาที จนมาถึงทุกวันนี้ที่แทบไม่มีใครต้องใช้บริการห้องภาพอีกต่อไป เพราะทุกคนสามารถมีรูปถ่ายเองได้ง่าย ๆ เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว ชอบแบบไหนก็ปรับแต่งได้ดั่งใจ จะปรับแต่งทรงผม ยกโครงหน้า เสริมดั้ง หรือปั้นคิ้วอย่างไรก็ได้ หมดปัญหาภาวะไม่ชอบรูปหน้าตรงทรงบูดบึ้งของตัวเองอีกต่อไป

มนุษย์ต่างวัยขอพาทุกย้อนอดีตกลับไปหาวัยหวาน วันวานสมัยวัยเรียนหรือเริ่มทำงานใหม่ ๆ ให้ชวนนึกไปถึงรูปถ่ายติดบัตรใบแรก ๆ ของเราอีกครั้งไปกับ ‘พ่อดาว -พาณิชย์ ศิริชุมแสง’ วัย 74 ปี แห่ง ‘ห้องภาพดาว’ ห้องภาพเก่าแก่ร้านสุดท้ายแห่งบ้านเชียง จ.อุดรธานี ที่เปิดบริการมายาวนานกว่า 50 ปี ที่การก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญตั้งแต่ยุคกล้องฟิล์มจนถึงกล้องดิจิทัล

“ผมเปิดร้านถ่ายรูปครั้งแรกตอน พ.ศ.2514 ในสมัยนั้นลูกค้าหลัก ๆ คือพวกเด็กนักเรียน โดยเฉพาะในฤดูกาลสอบไล่ที่ต้องใช้ภาพถ่ายติดใบสมัคร หรือที่สมัยก่อนเขาเรียกว่าใบสุทธิ บางทีเด็ก ๆ จะมาถ่ายรูปที่ร้านพร้อมกันทั้งห้อง หรือบางครั้งคุณครูก็เรียกให้เราไปถ่ายให้ที่โรงเรียน เราต้องเตรียมผ้าฉากเอาไว้ พอไปถึงโรงเรียนก็เอาผ้าตอกตะปูกับผนังแล้วให้นักเรียนเข้าแถวมาถ่ายทีละคน หรืออย่างในช่วงปี 2520-2525 คนไทยนิยมไปทำงานต่างประเทศกันเยอะ เช่น ซาอุดิอาระเบีย เราต้องเตรียมสูทไว้ให้เขาติดใบสมัครงาน

“สมัยนั้น นอกจากรูปนักเรียนและรูปสมัครงานแล้ว การรูปถ่ายแฟชั่นก็เป็นที่นิยมมาก ตอนนั้นรูปครึ่งโหลราคาแค่ 18 บาทเท่านั้น โดยเฉพาะพวกคนหนุ่มสาวที่ชอบถ่ายแล้วอัดไว้แจกเพื่อน แจกคนรัก สำหรับผมการถ่ายรูปแฟชั่นไม่ได้มีหลักการอะไร แต่ต้องใช้ประสบการณ์ แค่ต้องคุมแสงให้ลงตัว คอยเลือกมุมที่เขาดูแล้วสวยหล่อ และคอยช่วยเค้าโพสท่า สมัยนั้นเราจะนิยมเป็นท่ามือเท้าโต๊ะ พิงพนักเก้าอี้ หรืออมยิ้มน้อย ๆ แต่ต้องไม่เห็นฟันเยอะนะ เดี๋ยวไม่สวย” (หัวเราะ)

“สำหรับการถ่ายรูปตอนนั้น ขั้นตอนยากที่สุดคือการแต่งรูป เพราะเราต้องเอาฟิล์มกระจกมาแต่งทีละแผ่นโดยใช้ดินสอดำเหลาด้วยกระดาษทรายแบบละเอียดจนแหลม แล้วค่อย ๆ เขียนไปที่รูปบนเนื้อกระจกจนหน้านายแบบดูเนียน ไม่มีริ้วรอย หรือบางคนอยากจะมีไฝแบบดารา เราก็เติมให้ได้นะ (หัวเราะ) รูปหนึ่งบางครั้งต้องเหลาดินสอ 3-4 ครั้ง ต้องทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ รูปหนี่งกว่าจะแต่งเสร็จก็ใช้เวลาราว 30 นาที จากนั้นก็ต้องเอาฟิล์มมาล้าง เสร็จแล้วก็ตากให้ฟิล์มแห้ง บางครั้งอยากให้รูปแห้งเร็วก็ต้องเอาพัดลมมาเป่า แล้วค่อยเข้าห้องอัด รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 7 วัน

“แม้ว่าแต่ละรูปใช้เวลานานมาก และไม่ว่าลูกค้าจะเยอะแค่ไหน ผมจะต้องแต่งรูปให้ทุกคน กลางวันถ่ายรูป กลางคืนนั่งแต่งรูป พอเช้าอีกวันก็ถ่ายรูปใหม่ เป็นแบบนี้วนไปเรื่อย ๆ แต่พอรูปออกมาแล้วลูกค้าพอใจ ผมก็มีความสุขมาก

“แต่พอเข้าสู่ปี 2543-2546 การหาซื้อม้วนฟิล์ม หรือน้ำยาล้างฟิล์ม ก็เริ่มยากขึ้น บางทีสายส่งก็เอาฟิล์มหมดอายุมาขาย พอถ่ายแล้วก็ใช้ไม่ได้ รูปเป็นลายไปหมด ตอนนั้นผมก็คิดนะว่าเราต้องปิดร้านหรือเปล่า แต่ด้วยความที่ผมรักอาชีพนี้มาก สุดท้ายผมเลยตัดสินใจหัดใช้กล้องดิจิทัล

“กล้องดิจิทัลตัวแรกที่ซื้อเป็นยี่ห้อ NIKON ผมต้องปรับตัวอยู่พักใหญ่ เพราะถ่ายแล้วมันมีจอให้ดูเลย ต่างจากกล้องฟิล์มที่ผมเคยใช้ที่กดชัตเตอร์ครั้งเดียวแล้วรูปก็หายไปเลย ผมคิดว่าภาพที่ได้ก็ต่างกัน ภาพจากกล้องฟิล์มจะสวยกว่า กระดาษที่ใช้ก็ทนทานกว่า สีก็ซีดช้ากว่ากล้องดิจิทัล

“ตอนนี้นักเรียนที่จะถ่ายรูปกรอกใบสมัครเขาไม่ต้องมาที่ห้องภาพแล้ว ครูใช้กล้องมือถือถ่ายให้ได้เองเลย เขาไม่ต้องมาที่ห้องภาพให้เราช่วยถ่ายแล้ว แต่เราก็ยังยืนยันที่จะเปิดร้านถ่ายภาพต่อไป สำหรับผม ทุกครั้งที่ได้ถ่ายรูป มันทำให้ผมรู้สึกชอบและมั่นใจในตัวเอง การถ่ายรูปคือทั้งชีวิตของผม และยังคงภูมิใจที่ยังได้ถ่ายรูปมาถึงปัจจุบันนี้ และจะทำต่อไปจนตามองไม่เห็นนั่นแหละ”

แม้ว่าทุกวันนี้ ทุกคนมีโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือ สามารถถ่ายรูปแบบไหนก็ได้ตามใจปรารถนาในไม่กี่วินาที ไม่ว่าอยากได้รูปถูกระเบียบเรียบร้อยไว้ติดบัตรหรือรูปไลฟ์สไตล์สำหรับโลกออนไลน์ ไม่มีใครต้องออกจากบ้านมาใช้บริการห้องถ่ายภาพอีกต่อไป เรื่องราวของร้านถ่ายรูปเก่าแก่ของ ‘พ่อดาว-พาณิชย์ ศิริชุมแสง‘ แห่ง ‘ห้องภาพดาว’ จึงกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราหวนกลับไปคิดถึงวัยเด็ก ได้คิดถึงรูปสีซีดจางของคุณปู่คุณย่าที่เคยบอกรักกันผ่านภาพถ่าย และความรู้สึกแห่งวัยเยาว์ที่ใจลุ้นระทึกกับการรอคอยภาพถ่ายกินเวลายาวนานราวกับผ่านไปเป็นแรมปี และวันนี้ ห้องภาพดาวจึงทำหน้าที่เปรียบเสมือนเครื่องย้อนเวลาที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

Credits

Authors

  • ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์

    Authorดื่มน้ำ 2.7 ลิตรมาหลายปี ยังสงสัยอยู่ว่าชีวิตดีขึ้นหรือยัง

  • วิเชษฐพงษ์ เผ่ากล้า

    Cameramanเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ด้วยความอยากเป็นดีเจ แต่สุดท้ายมาค้นพบว่าโลกข้างนอกห้องจัดรายการมันช่างเย้ายวลและมันส์กว่าการใช้เสียงเป็นไหนๆ ผมหลงใหลการเขียนภาพด้วยแสงพอๆ กับการวาดรูปด้วยดินสอ และที่สำคัญชีวิตเป็นเรื่องของเรา ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งแอ็คชั่น

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ