ศตวรรษที่ 21 แล้ว พุทธศาสนายังจำเป็นอยู่หรือไม่ ? สนทนากับ “พระอาจารย์ชยสาโร”

ศตวรรษที่ 21 แล้ว พุทธศาสนายังจำเป็นอยู่หรือไม่ ?

ในยุคที่ความศรัทธาต่อพุทธศาสนาเสื่อมถอย จนถูกตั้งคำถามว่ายังจำเป็นหรือตอบโจทย์ชีวิตของผู้คนอยู่หรือเปล่า

มนุษย์ต่างวัย Talk สนทนากับพระธรรมพัชรญาณมุนี หรือ “พระอาจารย์ชยสาโร” เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของพุทธศาสนา รวมถึงตอบคำถามที่หลายคนสงสัยว่า แท้ที่จริงแล้วเราเกิดมาทำไมและเพื่ออะไร

“อาตมารู้สึกเป็นห่วงว่าคนสมัยนี้งมงายต่อศาสนา หมายถึงรับความคิดหรือคำวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่กลั่นกรอง อาตมาได้ฟังคนรุ่นใหม่วิจารณ์พุทธศาสนา อาตมาเปรียบเทียบอย่างนี้ เหมือนกับคนไม่ชอบเชียงใหม่ อ้าว ทำไมไม่ชอบ เขาก็บอกไม่ชอบเกาะ และไม่ชอบที่ราบ ๆ เขาชอบภูเขา ก็เลยไม่คิดที่จะไปเชียงใหม่หรอก เพราะเที่ยวเกาะก็ไม่ชอบ ที่ราบ ๆ ก็ไม่ชอบ”

“แสดงว่าเขาไม่รู้ว่าคำว่าเชียงใหม่หมายถึงอะไร แปลว่าไม่เคยไป และไม่ใช่แค่ไม่เคยไป แต่ไปรับฟังจากใครก็ไม่รู้ว่าเชียงใหม่ก็คือเกาะที่ราบ ๆ อาตมาจึงขอให้คนไทยรุ่นใหม่ให้โอกาสพุทธศาสนาบ้าง ให้โอกาส ให้เวลาสักหน่อยหนึ่งได้ไหม ไปศึกษาว่าจริง ๆ แล้วพุทธเจ้าสอนไว้ว่าอย่างไร”

“ในการสอนพุทธศาสนาแบบเดิม การเอาพุทธประวัติเป็นหลักนั้นอาตมาไม่เห็นด้วย คิดว่าต้องสอนเป็นหัวข้อในสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่กำลังเป็นทุกข์ กำลังกังวล และพุทธศาสนามองเรื่องนี้อย่างไร แล้วค่อย ๆ หยิบพุทธประวัติมาอธิบายหรือเป็นตัวอย่างประกอบกันไป ถ้าเทียบกับระหว่างศาสนาประเภท Belief System ไม่ต้องศึกษาอะไรมาก เชื่อมั่นใน 4 – 5 อย่างนี้ก็โอเค ก็พอไปได้แล้ว แต่ของพุทธศาสนาเป็นระบบการศึกษา พุทธศาสนาจะเจริญ จะเสื่อม ก็จะอยู่ที่คุณภาพการถ่ายทอด ทีนี้พอเราปล่อยให้การถ่ายทอดอ่อนลงก็เลยมีปัญหามากมาย”

“การเกิดในทางพุทธศาสนานั้น มนุษย์เราเกิดมาเพราะมีกิเลส ทำกรรมในอดีตที่ทำให้ต้องมาเกิด แต่เกิดมาเพื่ออะไรนั้นไม่มีคำตอบ มันอยู่ที่มนุษย์แต่ละคนตั้งเป้าหมายว่าเกิดมาเพื่ออะไร”

“ถ้าอยากอยู่ไปวัน ๆ หาแต่เงินทองก็เป็นเรื่องของคุณ ถ้าไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ทางพุทธศาสนาสอนว่ามนุษย์เป็นผู้มีศักยภาพสูง เป็นผู้ประเสริฐต่อการฝึกตน สามารถสร้างประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น สร้างความสุขต่อตนและผู้อื่น ถามว่าเกิดมาเพื่ออะไรมันตอบไม่ได้ มันแล้วแต่ว่าอยากใช้ชีวิตอย่างไร เพื่ออะไร แต่ให้ถามว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรถึงจะภูมิใจในตนเอง ทำอะไรที่ภูมิใจตัวเองได้”

“อีกคำถามง่าย ๆ แต่จะเป็นจุดเริ่มในการหาคุณค่า คือ ในชีวิตเรานี้มีอะไรบ้างที่สูงค่ากว่าเงิน คือ โดยสามัญสำนึกเงินนั้นสูงสุด แต่จริงหรือ ? มันจะไม่มีอะไรที่สูงกว่าเงินเลยหรือ แล้วชีวิตของพ่อแม่ สามี ภรรยา ไม่สูงกว่าเงินหรือ หากต้องขายจะขายได้ไหม ให้ร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน จะขายไหม ถ้าไม่ขายแสดงว่าเหล่านั้นสำคัญกว่าเงิน ในโลกที่เป็นจริงเงินเป็นที่หนึ่ง แต่จะมีสิ่งที่เราวัดไม่ได้ เช่น ความรัก นั้นไม่มีตัวเลขกำกับแต่เป็นของจริง เพราะเราไปเข้าใจว่าของจริงคือสิ่งที่มีตัวเลขกำกับนั่นก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่บางอย่างก็วัดไม่ได้ และเป็นสิ่งที่มีคุณค่า”

ตามไปฟังฉบับเต็มๆ กันได้ที่ https://youtu.be/e-INjYuW4gI

Credits

Author

  • บุษกร รุ่งสว่าง

    Creativeประสบการณ์งานสถานีโทรทัศน์ งานครีเอทีฟ และผู้ช่วยผู้กำกับ ปัจจุบันกลับมาอยู่บ้าน พักใจกาย และทำงานเกี่ยวกับประเด็นสิ่งเเวดล้อมและการคืนถิ่น

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ