ดูแลใจใน 8 วินาที เพื่อรักษาความหมายดี ๆ ของการดูแลกัน 

การเป็น ‘ผู้ดูแล’ ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องทุ่มเท และอุทิศชีวิตเพื่อคนที่เราดูแลอยู่ตลอดเวลา จนลืมไปว่าถ้าเราไม่ดูแลตัวเองให้แข็งแรงและมั่นคงพอ เราจะเอาพลังและเรี่ยวแรงจากที่ไหนไปดูแลร่างกายและจิตใจคนอื่น

มนุษย์ต่างวัย Fest 2025 ชวนทุกคนกลับมาทบทวนบทบาทการเป็นผู้ดูแลที่ดี ผ่านการเริ่มต้นกลับมาดูแลคนที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ ‘ตัวเราเอง’ ผ่านเวิร์กช็อป ‘Handle with care รับบทผู้ดูแลแบบไม่ลืมแคร์ตัวเอง’ โดย ‘โจ๋ – ชนาพร เหลืองระฆัง’ Death Planner, Baojai Family และ ‘ใบเตย – รพิดา อัชชะกิจ’ เจ้าของเพจเข็นแม่เที่ยว ตัวแทนลูกสาวจาก 2 ครอบครัว ที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นผู้ดูแลของตัวเอง และชวนทุกคนให้กลับมาดูแลตัวเองในวันที่ต้องดูแลคนอื่นไปพร้อม ๆ กัน เพื่อข้ามผ่านช่วงเวลายากลำบากไปให้ได้ และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีพลังอีกครั้ง

โดยเวิร์กช็อปครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 40 คน จากหลากหลายช่วงวัย ทั้งคู่แม่-ลูกเจน B และเจน X  คู่เพื่อนซี้เจน Z ที่อยากมาเรียนรู้ประสบการณ์จากพี่ ๆ ที่ผ่านชีวิตมาก่อน หรือลูกสาวเจน Y ที่กำลังเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้ดูแลคุณแม่ที่เพิ่งป่วย ซึ่งทุกคนก็ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึก​เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยและมอบพลังใจให้แก่กัน

นอกจากนี้​ ยังมีการแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ดูแล ทั้งเรื่องการวางแผนชีวิตในวันที่คนในครอบครัวเจ็บป่วย ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ดูแล รวมทั้งเทคนิคง่าย ๆ ในการดูแลจิตใจ เมื่อต้องรับมือกับอารมณ์และความทุกข์ของผู้ป่วยด้วย

เปิดโหมดผู้ดูแล

เมื่อเรารู้แน่​ ๆ​ แล้วว่าพ่อแม่ป่วย​ เราจะมีเวลาเตรียมตัวประมา​ณ​ 2 สัปดาห์ก่อนที่จะพาพ่อแม่กลับบ้าน​ เราต้องเริ่มวางแผนชีวิต​ เปิดใจคุยกับคนในครอบครัว​ ประเมินสถานการณ์​ระยะยาว​หลัก ​10 ปี​ ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อม​ ค่าใช้จ่าย​ และ​รูปแบบการดูแล​ ว่าจะให้พ่อแม่อยู่แบบไหน​ เช่น ไปอยู่ศูนย์ดูแล จ้างพี่เลี้ยง​ หรือดูแลด้วยตัวเอง​

ส่วนตัวคุณเตยเลือกที่จะจ้างพี่เลี้ยงให้ดูแลในช่วงแรก​ หรือประมาณ​ 8 เดือน เพื่อใช้เวลาเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ดูแลให้กับตัวเอง ​ไปเรียนวิธีการเป็นผู้ดูแล​ ซึ่งโรงพยาบาลหลายแห่งเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปเรียนได้ จากนั้นก็หางานที่สามารถทำในรูปแบบออนไลน์ได้​ เพื่อจะได้มีเวลาดูแลแม่ได้เต็มที่

คุณเตยยังบอกอีกว่าในวันที่เราเลือกที่จะดูแลพ่อแม่ด้วยตัวเอง มันจะมีโอกาสใหม่ ๆ​ เกิดขึ้นในชีวิต ​เมื่อไฟดวงหนึ่งปิด ไฟอีกดวงจะเปิดเสมอ​ หลายคนก็สามารถคิดผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการใหม่ ๆ ได้จากประสบการณ์การเป็นผู้ดูแลคนในครอบครัว เช่น​ เสื้อผ้า​ หรือบริการให้เช่ารถตู้รับ-ส่งผู้ป่วย​

เทคนิคสะกดอารมณ์ 8 วินาที

ในวันที่เราต้องเป็นผู้ดูแล​ หลายครั้งเราก็ต้องรับมือกับอารมณ์รุนแรงของผู้ป่วย​ บางครั้งเราก็ถูกทำร้ายทางคำพูด​ หรือบางครั้งก็เกิดจากการกระทำ หลายครั้งเพื่อไม่ให้เกิดการทะเลาะ หรือสานต่อเหตุการณ์ให้มันยิ่งรุนแรงขึ้น ผู้ดูแลจึงต้องฝึกการรับมือด้วยการสงบสติอารมณ์ของตัวเอง รู้เท่าทันความรู้สึก และระวังไม่ให้ตัวเองโต้ตอบหรือสวนกลับผู้ป่วยในทันที​​

คุณเตยได้แชร์เทคนิคสะกดอารมณ์​ตัวเองให้เบาลง​ ด้วยการกำมือข้างที่ถนัดไว้ให้แน่น​ที่สุด​ แล้วนำมือมาวางที่ตัก​ จากนั้นให้เราลองยืดนิ้วโป้งขึ้นมาขยับซ้ายขวาขึ้นลง​ หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นนิ้วชี้​ นิ้วกลาง ซึ่งทั้งสามนิ้วนั้นยังสามารถขยับได้อยู่​ แต่พอมาถึงนิ้วนาง​ และนิ้วก้อย​มันขยับไม่ได้แล้ว ให้เราลองอยู่กับอารมณ์ที่เราพยายามจะขยับนิ้วให้ได้แล้วค่อย​ ๆ​ นับ​ ​1-8 เพื่อให้อารมณ์เย็นลงก่อนจะพูดหรือทำอะไรลงไป

จริง​ ๆ​ แล้ว​ความรู้​สึกที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยอัมพาตรู้สึกอยู่ตลอดเวลา​ ในขณะที่เราอยู่กับความรู้สึกนี้แค่เพียงนิ้วก้อยและแค่​ 8​ วินาทีเท่านั้น เรายังรู้สึกอึดอัด เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้ป่วยติดเตียงที่ต้อง​อยู่​กับความรู้สึกนี้ตลอดเวลา ​จะรู้สึกหงุดหงิด​ โมโห อารมณ์ฉุนเฉียว หรืออาละวาดใส่เรา​ ซึ่งเขาไม่ผิดที่จะรู้สึกแบบนั้น​ และการที่เราซึ่งเป็นผู้ดูแลที่ต้องรับอารมณ์ของเขา​จะรู้สึกโกรธ​ หรือเสียใจ​บ้าง เราก็ไม่ผิดเช่นกัน แต่เราจะต้องค่อย​ ๆ​ เรียนรู้ที่จะทำให้การดูแลเป็นเรื่องสวยงามและไม่ทำให้เราทุกข์จนเกินไป

อย่าลืมใช้ชีวิตตัวเองไปพร้อมกับการดูแลคนที่รัก

ผู้ดูแล​มักจะจมอยู่กับอารมณ์ของตัวเอง ทิ้งชีวิตตัวเองไป บางคนพอพ่อแม่ไม่อยู่แล้ว ก็เหมือนชีวิตตัวเองหายไปด้วย ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถที่จะใช้ชีวิตเพื่อดูแลคนที่เรารักและดูแลตัวเองไปพร้อม ๆ กันได้ อย่างกรณีของคุณเตยเองก็โชคดีที่คุณแม่เอ็นจอยเวลาได้ออกจากบ้าน เวลาไปไหนก็เลยพาคุณแม่ไปด้วยได้ มันมีวิธีไป มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เราได้ เมื่อใดก็ตามที่ใจเราเปิด มันจะมีทางออกเสมอ​ เราจะรับฟังคำแนะนำจากคนอื่นมากขึ้น และเมื่อเรารู้ว่ามันมีทางออก ใจของเราจะเบาลง

ช่วงฟังใจ

ข้อความเหล่านี้คือบางส่วนของเสียงสะท้อนความรู้สึกและความประทับใจ ที่ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปได้แชร์ร่วมกัน

“การได้ฟังเพื่อน ๆ ที่ต่างคนต่างแชร์เรื่องราวของตัวเอง เราพบว่าจะมีบางมุม บางจุดร่วมที่เรื่องราวของคนอื่นมีความเหมือนกับเรา เช่น เพื่อนคนนี้อาจจะมีวิธีการดูแลคุณพ่อคุณแม่เหมือนกับเรา เพื่ออีกคนอาจจะมีวิธีจัดการอารมณ์ หรือรับมือกับความเครียดเหมือนกับเรา ทุกคนต่างมีเรื่องราว มีประสบการณ์ของตัวเอง แต่พอมีจังหวะได้ฟังกันเราจะรู้ว่า ทุกคนกำลังพยายามกับชีวิตที่ไม่ง่ายในเส้นทางของตัวเอง เราเหมือนกัน เราต่างพยายามไปด้วยกัน ก็เลยประทับใจตรงจุดนี้”

“ตอนนี้เรายังอยู่ในฐานะผู้ถูกดูแล เรามาเรียนรู้วิธีการแสดงความรัก และรับความรักจากพี่ ๆ ที่มีประสบการณ์การเป็นผู้ดูแลแล้ว ทำให้เราเข้าใจวิธีการแสดงความรักของคนอื่นมากขึ้น”

“การดูแลคนที่บ้าน บางทีก็ทำให้เรารู้สึกเหนื่อย รู้สึกท้อ แต่พอได้มาฟังเรื่องราวของคนอื่น ก็ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้เหนื่อยอยู่คนเดียว ทำให้เราอยากขอบคุณคนที่บ้านที่เขาทำให้เรารู้สึกมีคุณค่ากับการที่เรามีโอกาสได้ดูแลเขาด้วย”

“ปกติผู้ดูแลมักจะคิดวนอยู่คนเดียว แต่วันนี้การที่เราได้เล่า ได้ระบาย ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีเพื่อน และทำให้เรากลับมามีรอยยิ้มได้อีกครั้ง ขอบคุณทุกคนที่รับฟัง และขอบคุณตัวเองที่มาในวันนี้”

“เราได้เข้าใจความรู้สึกของการเป็นแคร์กิฟเวอร์มากขึ้น และได้กลับมาใส่ใจความรู้สึกของเขามากขึ้นด้วย”

การที่เราได้แชร์ความรู้สึก ประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่เราพบเจอให้กับใครสักคนได้รับฟัง โดยที่ไม่ต้องกลัวที่จะถูกตำหนิ หรือตัดสิน ทุกคนต่างเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน ทำให้เส้นแบ่งต่าง ๆ ถูกทำลายลง ทั้งความต่างวัย ต่างประสบการณ์ ความไม่รู้จักหรือคุ้นเคยกันมาก่อน เพราะวันนี้ทุกคนที่เข้าร่วมเวิร์กช็อป ต่างก็อยู่ ณ ที่ตรงนี้ เพื่อกันและกัน เราต่างมาให้การดูแล และรับการดูแล ทำให้วันนั้นทุกคนกลับบ้านไปด้วยพลังงานแห่งความอบอุ่นหัวใจที่หลายคนต่างพูดตรงกันว่าพวกเขาต่างได้รอยยิ้มและพลังงานดี ๆ กลับไป ซึ่งเป็นพลังงานที่ทำให้เขามองเห็นหัวใจของตัวเองและคนอื่นชัดเจนยิ่งขึ้น

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ