พื้นที่สำหรับใช้ชีวิตนอกบ้านของผู้สูงวัย

กลางวันไม่ค่อยจะอยู่บ้าน อากาศร้อนหรือรู้สึกเบื่อเมื่อไรก็ออกไปเดินศูนย์การค้า จนลูกหลานเกิดความสงสัยว่าหายไปไหนได้ทั้งวัน

ผู้สูงวัยบ้านไหนเป็นแบบนี้บ้าง ?

เมื่อผู้สูงวัยต้องการ “พื้นที่นอกบ้าน”

ในขณะที่คนหนุ่มสาวมีบ้านเป็น First place และมีที่ทำงานเป็น Second place แถมยังมี Third place พื้นที่สำหรับหย่อนใจในเวลาว่างเพื่อพบปะสังสรรค์กับผู้คนอีกมากมายให้เลือก แล้วคนสูงวัยที่ไร้ภาระทางการงานนอกบ้านแล้ว พวกเขาจะมีที่ไหนเป็นพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิตเหมือนคนหนุ่มสาวบ้าง บางคนอาจจะคิดไปถึงสวนสาธารณะ หรือบางคนอาจจะคิดว่าเป็นสถานที่ทางศาสนา แต่ผลจากการวิจัยกลับพบว่า ‘ศูนย์การค้า’ ถือเป็นพื้นที่ Second place ของผู้สูงอายุในเมือง ที่พวกเขามักจะเลือกไปใช้เวลาว่างในแต่ละวันมากที่สุด เป็นสถานที่เพื่อการพบปะผู้คนและได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะไปใช้พื้นที่เพื่อจับจ่ายใช้สอย พักผ่อนหย่อนใจ หรือนัดรวมตัวกันเพื่อพบปะสังสรรค์กับเพื่อนวัยเกษียณ

“สูงวัย” ไม่เป็นอุปสรรคในการออกไปใช้ชีวิต ถ้าพื้นที่ตรงนั้นถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมและใช้งานได้จริง

เมื่อศูนย์การค้าจัดเป็นหนึ่งใน Second place สำหรับผู้สูงวัย การจัดการพื้นที่ในศูนย์การค้าโดยคำนึงถึงผู้ใช้งานในกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดบางอย่างในการใช้ชีวิต เช่น ด้านสุขภาพร่างกาย กล้ามเนื้อขาที่อ่อนแรง   ต้องใช้รถเข็นหรือไม้เท้าเป็นตัวช่วยในการเคลื่อนไหว เข้าห้องน้ำบ่อย สายตาไม่ค่อยดี   ข้อจำกัดเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ลูกหลานไม่สบายใจที่จะให้ผู้สูงวัยออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านอย่างที่ต้องการ จนบางครั้งกลายเป็นการจำกัดพื้นที่ในการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยไปโดยไม่รู้ตัว   แต่หากมีการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ช่วยลดข้อจำกัดหรือลดอุปสรรคในการใช้ชีวิตเหล่านี้ลงได้ ก็จะลดความเสี่ยงและเพิ่มสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะของผู้สูงวัยได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของแนวคิดในการออกแบบที่เรียกว่าอารยสถาปัตย์ หรือ Universal design

 ‘อารยสถาปัตย์’ การออกแบบพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานทุกกลุ่ม

บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้พัฒนาธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของ ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต ได้นำแนวคิด “อารยสถาปัตย์” มาใช้ในการออกแบบพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ปลอดภัย และเน้นใช้งานได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนท้อง หรือคนที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย โดยจัดให้มีเส้นทางเชื่อมต่อทั้งภายนอกและภายในอาคารด้วยทางลาดที่มีความกว้างมากพอต่อการเคลื่อนย้ายรถเข็นได้ทุกประเภท มีห้องน้ำสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐานทุกชั้น พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ราวจับ อุปกรณ์ฉุกเฉิน ฯ ลิฟท์ที่มีปุ่มกดระดับพิเศษที่สามารถกดเรียกและเลือกชั้นได้อย่างง่ายดายสำหรับผู้ใช้รถเข็น   พร้อมด้วยสัญลักษณ์บ่งบอกสิ่งอำนวยความสะดวกที่มองเห็นได้ชัดเจน เข้าใจง่าย

จึงไม่น่าแปลกใจที่ในงาน “Thailand Friendly Design Expo 2022 : มหกรรมอารยสถาปัตย์ และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 5” ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล สยามพิวรรธน์จะได้รับรางวัล “องค์กรส่งเสริมอารยสถาปัตย์แห่งปี” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4โดยไอคอนสยามได้รับรางวัล “ห้องสุขาต้นแบบส่งเสริมอารยสถาปัตย์” และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ได้รับรางวัล “สถานที่เฟรนด์ลี่ดีไซน์” (Friendly Design)

 ไอคอนสยามรับรางวัล “ห้องสุขาต้นแบบส่งเสริมอารยสถาปัตย์”

นอกจากทางเดินและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ต้องปลอดภัยแล้ว   ห้องน้ำก็เป็นอีกหนึ่งข้อกังวลของลูกหลานและผู้ใช้งานอย่างผู้สูงวัย เพราะมักจะได้ยินข่าวอุบัติเหตุของผู้สูงวัยเวลาใช้ห้องน้ำบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะลื่นล้ม หรือเกิดอาการหน้ามืดเป็นลมแล้วไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ไปจนถึงปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หาห้องน้ำไม่เจอ หรือห้องน้ำอยู่ไกลจนเข้าห้องน้ำไม่ทัน ไอคอนสยามจึงมีการออกแบบห้องน้ำให้รองรับกับผู้สูงวัย ห้องน้ำจึงมีขนาดกว้างขวางให้ผู้สูงวัยที่นั่งวีลแชร์สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก มีทั้งราวจับที่แข็งแรงบริเวณชักโครก มีอุปกรณ์ฉุกเฉินที่สามารถกดเรียกเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที หรือจะเป็นการติดตั้งช่องหยิบทิชชูและเครื่องเป่ามือในระยะหยิบจับสะดวกของคนนั่งวีลแชร์

“ด้วยปณิธานของสยามพิวรรธน์ตลอดกว่า 60 ปีที่ผ่านมา เรามุ่งมั่นดำเนินธุรกิจที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับคนจำนวนมาก และเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สยามพิวรรธน์ได้ต่อยอดปณิธานนี้ในขั้นตอนการดำเนินธุรกิจทุกประเภทมาโดยตลอด และให้ความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาและออกแบบโครงสร้างด้วยการยึดหลักอารยสถาปัตย์เป็นแนวคิดสำคัญ เพื่อให้กลุ่มคนทุกกลุ่มในสังคมสามารถเข้าถึงบริการและสัมผัสประสบการณ์ภายในศูนย์การค้าได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย และเท่าเทียม ซึ่งรางวัลองค์กรส่งเสริมอารยสถาปัตย์แห่งปี ที่สยามพิวรรธน์ได้รับอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4”

คุณชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์และกรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด บอกเล่าถึงหลักคิดในการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและออกแบบโครงสร้างด้วยการยึดหลักอารยสถาปัตย์เป็นแนวคิดสำคัญ

“เป็นสิ่งพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์การใช้งานของทุกคน และเป็นสถานที่ต้นแบบอารยสถาปัตย์ที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้ ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับทุกคนอย่างแท้จริง สยามพิวรรธน์พร้อมพัฒนาการออกแบบโครงการตามหลักอารยสถาปัตย์ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็น เมืองอารยสถาปัตย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขของคนทั้งมวล”

ออกแบบทางลาดที่มีความกว้างและระดับความชันที่เหมาะสมกับผู้ใช้วีลแชร์

หากผู้ประกอบการภาคเอกชน มองเห็นความสำคัญของการออกแบบพื้นที่ด้วยแนวคิดอารยสถาปัตย์ ที่คำนึงถึงคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชากรสูงวัยที่กำลังเพิ่มจำนวนสูงขึ้น ผลลัพธ์ที่ตามมาคงไม่เพียงแต่ดึงดูดกลุ่มผู้สูงวัยและครอบครัวที่กำลังดูแลผู้สูงอายุพาพวกเขาออกมาใช้ชีวิต ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยกล้าออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้อย่างมีความสุข ปลอดภัย ไร้กังวล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพวกเขาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และนำไปสู่การสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ