เพลงร่วมทุกข์ของแพท วง Klear

เพลงเพลงหนึ่งถูกเรียงร้อยมาจาก เวลา การหลงทาง ความทรงจำ ประสบการณ์ เรื่องราว และรวมถึงบาดแผลในใจของผู้ประพันธ์บทเพลงนั้นๆ

เพลงของวง Klear ก็เป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะจัดอยู่ในหมวด ‘ปลุกใจ’ หรือ ‘ปลอบโยน’ มันมาจากส่วนลึกข้างในของ แพท-รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย นักร้องและนักแต่งเพลงแห่งวง Klear

“ถ้าไม่ได้เดินทางอ้อม ทั้ง 5 อัลบั้มของวงจะเกิดมาได้ยังไง” แพท บอกว่า “เพราะมันคือประสบการณ์ชีวิต มันคือบทหนึ่งของแต่ละช่วงชีวิตที่เราต้องเจอ เราก็เลยรู้สึกว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้แหละที่สร้างแพทกับวง Klear ขึ้นมา”

แพท กล่าวถึงช่วงเวลาของการทำความเข้าใจตัวเองในตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีหลังจากที่พ่อเสียชีวิตและเธอเริ่มต้นทำวงดนตรีขึ้นมา

“ช่วงโควิดที่เราออกไปทำงานไม่ได้เป็นเวลามา 2 ปีกว่า มันเปลี่ยนระบบคิดและจิตใจไปเยอะเลย แพทได้ศึกษาธรรมะ ธรรรมะสำหรับแพทมีทั้งธรรมะที่เป็นทั้งพุทธศาสนากับธรรมะที่เป็นเรื่อง spiritual awakening (การตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ) แพทก็ศึกษาทั้งสองฝั่ง เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน”

ในช่วงเวลาที่โลกต้องเว้นระยะห่างออกจากกัน กลับกลายเป็นโอกาสให้แพทได้เดินเข้าใกล้ตัวตนของตัวเอง ขุดลึกเข้าไปในประวัติศาสตร์บาดแผลของตัวเอง ชำระสะสางเพื่ออยู่ร่วมและเดินไปข้างหน้าให้ไกลกว่าเดิม

“ระยะเวลาที่แพทเสียคุณพ่อ คือช่วงเวลาเดียวกับที่เริ่มทำวงดนตรี และเราพยายามจะเยียวยาตัวเอง เพราะบาดแผลบางอย่างหรือปมบางอย่างในวัยเด็กมันส่งผลต่อการใช้ชีวิตในวันนี้โดยที่เราไม่รู้ตัว”

ความตายของพ่อเป็นเหมือนภูเขาที่ถล่มลงมา และอาฟเตอร์ช็อกก็เป็นเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วนิรันดร์

“เราสูญเสียพ่อไปอย่างกะทันหัน คุณพ่อป่วยเป็นมะเร็งยาวนาน 6 – 7 ปี โดยที่พ่อไม่บอกใครในบ้าน คุณแม่ก็ไม่ทราบ ไม่มีมีใครทราบเลย มีคนเดียวที่ทราบคือคุณอาที่เป็นคุณหมอ ซึ่งเขาตกลงกันไว้ว่าอย่าบอกใครทั้งสิ้น ช่วงสุดท้ายก่อนคุณพ่อจะเสีย เรานัดกันว่าจะไปเที่ยวต่างประเทศ พอใกล้วันเดินทางคุณพ่อก็เปลี่ยนแผนกะทันหัน บอกว่าพ่อไม่ไป พ่อจะไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ซึ่งการไปปฏิบัติธรรมของพ่อก็เป็นเรื่องปกติที่พ่อทำอยู่แล้ว แต่พ่อมาบอกสองอาทิตย์ก่อนเดินทาง มันแปลกมาก

“พ่อหาข้ออ้างว่านัดเพื่อนไว้แล้ว “เธอสองคนแม่ลูกไปเถอะ” เราก็ไปด้วยความไม่พอใจ พอไปได้ 4 – 5 วัน ที่บ้านก็โทรมาบอกว่าคุณพ่อเข้าโรงพยาบาล ให้กลับมาด่วน เราก็รู้ตอนนั้นแหละว่าที่ผ่านมาคุณพ่อเป็นมะเร็งมาตลอด แต่เราก็กลับมาไม่ทัน คุณพ่อเสียหลังออกจากห้องผ่าตัด ความรู้สึกมันเหมือนโลกมันถล่มลงมา

“แพทเป็นลูกคนเดียว รู้สึกมาตลอดว่าโลกปลอดภัยมาก เราไม่เคยขาดความรัก คุณพ่อคุณแม่ให้ความเชื่อใจกับเรามาก เรารู้สึกปลอดภัยกับชีวิต แต่พอเกิดเรื่องนี้ มันทำให้เรารู้สึกว่าอนาคตเป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้ ความมั่นคงไม่มีอยู่จริงอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่เคยมีมาเมื่อวาน มันอาจจะไม่มีอีกต่อไปในวันพรุ่งนี้ มันพังเสาหลักบางอย่างในใจเราไปเลย สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือ แพทก็เริ่มถอยห่างจากแม่ จากที่เราสนิทกันมากๆ เราคุยกันทุกเรื่อง แพทเชื่อว่าคุณแม่ก็มีบาดแผลในใจเหมือนกัน ในฐานะคู่ชีวิต แม่ไม่รู้ว่าคุณพ่อป่วย เขาไม่ได้ดูแลกัน คุณแม่ก็น่าจะมีบาดแผลของแม่ แพทเองก็มีแผลของแพท นอกจากแผลของความเสียใจจากการที่โลกถล่มแล้ว แพทว่ามันยังมีอีกแผลหนึ่งก็คือ เราโกรธพ่อ”

“เราโกรธ ทำไมพ่อไม่บอก ทำไมเขาไม่ให้โอกาสเราอยู่ตรงนั้น และเราก็ห่างกับแม่ไปเลย เหมือนเราคุยกันไม่ได้อีกต่อไป เราแตะคุณแม่ไม่ได้ เหมือนคุณแม่บอบบางมาก ณ ตอนนั้น เราไม่อยากแตะ เราเสียใจ ไม่กล้าบอกแม่ว่าเสียใจ ชีวิตช่วงนั้นก็เรียกว่าพยายามจะเอาตัวรอดให้ได้ด้วยตัวเอง แต่มันไม่ใช่วิธีการรักษาแผลที่ถูกต้อง”

หลังจากโลกถล่ม แพทพยายามกอปรสร้างมันขึ้นมาใหม่ด้วยเพลง ในช่วงนั้นวง Klear ออกผลงานเพลงอัลบั้มแรก Stay Alive  (2551ความหมายของชื่ออัลบั้มของวงดนตรีหน้าใหม่ในปีนั้นเหมือนเป็นประโยคสื่อสารกับตัวเอง ‘จงมีชีวิตต่อไป’

แพทบอกว่า อัลบั้มแรกคือช่วงเวลาที่เธอมีความรู้สึกรุนแรง ทั้งงานเพลงและชีวิตส่วนตัว เธอถ่ายเทความเจ็บปวดลงไปในเพลงและการแสดงบนเวที และเริ่มสร้างความคาดหวังที่ตนเองต้องการกับคนรักจนความสัมพันธ์เลวร้ายและกลายเป็น Toxic relationship

“กลายเป็นว่า เหมือนเราคว้าหาพ่อในผู้ชายที่เราคบ หรือใครที่เข้ามาเหมือนเราจะไปยึดเขา ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าไม่มีใครแทนใครได้ ก็กลายเป็นว่าชีวิตรักพังมาตลอด 10 ปี

“เรามีความคาดหวังที่เพี้ยนไปจากความเป็นจริง เหมือนเราตั้งโมเดลไว้อันหนึ่ง แล้วเราคาดหวังให้เขาเป็นแบบนั้น พอเขาไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง เราก็ผิดหวัง คือเรามีความคาดหวังที่มันไม่จริง แล้วเราก็พยายามทำให้มันรอด โดยที่ลืมตัวเอง ลืมความเชื่อลืมความฝันของตัวเอง เปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ความรักรอด ก็พังมาเยอะจริงๆ ก็กลายเป็นว่าเราไปทำร้ายคนอื่นอีก เหมือนเป็นทั้งผู้ถูกกระทำและกระทำเขา จากความขาดของเราเอง”

หลังจากรู้ตัวก็เริ่มสางปมเพื่อแก้ปัญหา แพทก้าวผ่านความคาดหวังในความสัมพันธ์นั้นมาได้ด้วยการมองโลกตามที่เป็นจริง แต่ปัญหาที่อยู่ลึกข้างในที่สุด ยังรอให้เธอเผชิญหน้าพ่อ

“ตอนนั้นแพทไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อไม่ให้โอกาสเราดูแลหรือให้โอกาสเราอำลากัน ในช่วงสุดท้ายของชีวิตพ่อ เราคิดว่าเรามีสิทธิที่จะอยู่ตรงนั้น แล้วเราก็โกรธที่เขาตัดสินใจแบบนั้น”

เพลงของวง Klear ที่แพทแต่งและร้อง ทำหน้าที่ทั้งปลุกใจและปลุกปลอบผู้คน แต่พอเป็นเรื่องของตัวเอง แพทก็ต้องการเพลงร่วมทุกข์ที่จะปลุกให้ตื่นรู้และเท่าทันความจริง “คนที่ปลดล็อกให้แพทคือแม่ชีศันสนีย์ (แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต แห่งเสถียรธรรมสถาน) แพทไปอยู่กับคุณยาย 5 วันที่หุบเขาที่แก่งกระจาน คุณยายก็ถามว่าคุณพ่อเป็นคนปฏิบัติธรรมใช่มั้ย ท่านพูดสั้นมาก แต่ปลดล็อกเลย ท่านบอกว่า ถ้าพ่อปฏิบัติ ท่านจะรู้ว่าจิตดวงสุดท้ายสำคัญที่สุด แล้วถ้าแพทอยู่ตรงนั้น ด้วยวุฒิภาวะของแพทตอนนั้น เราร้องไห้กระจองอแง พ่อจะไปสงบได้ยังไง ประโยคนี้ปลดล็อกเราเลย ที่ผ่านมาเราคิดถึงแต่ตัวเอง

“การที่ท่านเลือกไปปฏิบัติในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต แพทเข้าใจแล้วว่าทำไม ความรักที่ยิ่งใหญ่ของท่านมีให้ทั้งเราและจิตวิญญาณของท่านเองด้วย ก็ปลดล็อกเรื่องคุณพ่อไปเลย”

การเผชิญหน้ากับตัวเองเป็นเหมือนการฟังเพลงที่เราไม่อยากฟัง มันเจ็บ อาย และอาจถึงขั้นรับตัวเองไม่ได้ แต่เป็นสิ่งจำเป็นหากเราอยากจะฟังเรื่องราวของตัวเองในเพลงต่อๆ ไป

“เราอาจจะค่อยๆ เริ่มจากเรื่องเล็กๆ เช่น เวลาที่เราโกรธ แล้วยอมรับว่าตัวเองโกรธ เรามักจะคุ้นเคยกับการปิดบังอำพรางความเสียใจ เสียใจไปหาเพื่อน ไปเที่ยว เหมือนเราไม่คุ้นชินกับการเผชิญหน้ากับอารมณ์ตัวเอง การเผชิญหน้ากับอารมณ์ด้านลบของตัวเองมันเป็นจุดเริ่มต้นให้เราเขยิบไปไขปมในชีวิตที่มันฝังอยู่ลึกลงไป แพทเคยอ่านเจอว่าอารมณ์ด้านลบทั้งหลายล้วนเป็นสัญญาณจากฟ้าที่เขาคอยบอกเราอยู่ว่ามีบางอย่างต้องแก้ไข เราต้องดูแล ถ้าเราค่อยๆ ทำความคุ้นเคยกับมุมที่เราไม่ค่อยได้หันไปดู การกลับไปขุดปมของตัวเองก็น่าจะเป็นบันไดขั้นต่อไปที่ทำให้เราทำได้”

สองปีหลังจากออกอัลบั้มแรก วง Klear ออกอัลบั้มที่สองตามมาใช้ชื่อ Brighter Day (2553) ก่อนที่แพทและวง Klear จะเดินทางผ่านผลงานที่ตามมา The Storyteller (2555) Silver Lining (2560) และ Glow In The Dark (2563)

“งานเพลงของวง Klear แบ่งได้ 3 เฟส เฟสแรก ฉันแค่อยากทำ มีความอัดอั้นในใจที่อยากปล่อยออกไป โดยที่ไม่ได้สนใจผู้ฟังด้วยซ้ำ เฟส 2 เราเริ่มเข้าใจว่ามันต้องปรับจูนกันทั้งสองฝ่าย ทั้งเราและคนฟัง ก็เป็นช่วงที่มีเพลงฮิต แต่พอเราสำเร็จประมาณหนึ่ง เรามีงานเยอะ เดินทางเยอะ เราเจอสิ่งซ้ำเดิมทุกวัน มันทำให้เกิดคำถามว่า อาชีพนี้ให้อะไรกับเราและผู้คน นอกจากการเดินทางและเล่นดนตรีกลางคืนไปเรื่อยๆ วิชาชีพนี้มันให้อะไร ซึ่งก็เข้าสู่เฟสที่ 3

“ประมาณอัลบั้มที่ 4 เป็นต้นมา เราเริ่มพบว่าเราสามารถเยียวยาผู้คนผ่านเพลง และผ่านการแสดงบนเวทีของเราได้ เป็นโอกาสที่แพทมองว่ามันไม่ได้เกิดง่ายๆ ที่จะได้รับโอกาสนี้จากคนหลักแสนหลักล้าน ถ้าไม่เข้าใจสิ่งนี้แพทก็อาจไม่สามารถทำมันต่อได้นะ ถ้าทำสิ่งเดิมไปเรื่อยๆ เรามีชื่อเสียง มีเงินทอง เล่นดนตรีไปเรื่อยๆ สำหรับแพทมันไม่พอให้ยึดเป็นวิชาชีพ เราทิ้งอะไรไว้ให้กับโลก พอเราเห็นคุณค่าแพทก็คิดว่ามันยั่งยืนแล้ว”

แพทและวง Klear กำลังทำอัลบั้มใหม่ ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าเธอและเพื่อนจะใช้ชื่ออัลบั้มว่าอะไร แต่ทุกคนต้องมีเพลงร่วมทุกข์ ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นนักร้องและนักแต่งเพลง แต่เชื่อเถอะ เธอต้องมีสักเพลงที่เป็นเพลงร่วมทุกข์

แพทแนะนำว่า เราต้องกล้าที่จะฟังเพลงนั้นของตัวเอง

Credits

Author

  • วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

    Authorนักเขียนและผู้ผลิตสารคดีอิสระ หลงใหลความสัมพันธ์ระหว่างเวลา ความทรงจำ และประวัติศาสตร์ สนใจความแตกต่างของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ