อยากเที่ยวต้องได้เที่ยว! ช่างเสริมสวย LGBT ควงพ่ออัลไซเมอร์เที่ยวแบบอุ่นใจ

“นี่ มึงไป ทำอะไรมา ทำไมหน้าเป็นแบบนี้”

ประโยคคำถามที่เหมือนเป็นคำอุทานของพ่อ เมื่อเห็นหน้าที่ยังมีร่องรอยของเครื่องสำอางและการกันคิ้วของ ‘เซี่ยงไฮ้’ – กฤษ ธาราชีพ ในวัย 13 ปี แล้วคำอุทานนั้นก็ตามมาด้วยการหวดด้วยก้านมะยมจากต้นหน้าบ้าน

“วันนั้นเป็นวันแรกที่พ่อเห็นเราในสภาพแต่งหญิง จำได้ว่าเขาโกรธมาก”

ถึงแม้พ่อจะไม่ได้พูดอะไรมากในวันนั้น แต่เขารู้ว่าพ่อยังไม่ยอมรับ ส่วนตัวเซี่ยงไฮ้เองก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองเช่นกัน เขายังคงแต่งหญิงในช่วงวัยรุ่น ทั้งที่รู้ว่าขัดใจคนในครอบครัว

แต่หลายปีที่ผ่านมานี้ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการที่เซี่ยงไฮ้ทำให้พ่อและคนอื่นๆ ในครอบครัวเห็นว่า ต่อให้เป็นเพศไหนก็สามารถแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้ไม่ต่างจากลูกคนอื่นๆ

ที่มากไปกว่านั้น ทุกวันนี้ ลูก LGBT คนนี้ยังเป็นคนเดียวในหมู่พี่น้องทั้ง 10 คนที่อาสาเป็นคนดูแลพ่ออย่างใกล้ชิด และเมื่อพบว่าพ่อของเขามีอาการเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ คอนเซ็ปต์ในการดูแลพ่อของเซี่ยงไฮ้ก็คือการทำทุกวันที่เหลือให้มีคุณค่าและการสร้างความทรงจำให้ดีที่สุด ซึ่งรวมถึงการเติมความสุขให้พ่อด้วยการเดินทางท่องเที่ยวด้วยกัน

 จากลูกที่พ่อไม่ยอมรับ สู่ลูกที่ยอมรับโรคอัลไซเมอร์ของพ่อ

‘เซี่ยงไฮ้ ซาลอน อยุธยา’ เป็นชื่อร้านเสริมสวยที่มาจากน้ำพักน้ำแรงในการทำงาน 10 กว่าปีที่กรุงเทพฯ ที่ทำให้เซี่ยงไฮ้ได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ ความช่วยเหลือ และเงินทุนตั้งต้นในการเปิดร้านนี้ที่อยุธยาตอนอายุต้น 30

การย้ายกลับมาบ้านเกิดและเปิดร้านของเซี่ยงไฮ้ยังพ่วงการตัดสินใจอีกอย่าง นั่นคือ การอาสาเป็นคนดูแลพ่อเองด้วย

“พี่น้องทุกคนเขามีภาระ บางคนแต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว ที่บ้านเหลือแค่พ่อกับน้องสาวคนสุดท้องที่ยังเรียนอยู่ เราก็เลยบอกตัวเองและทุกคนในบ้านว่า จะขอดูแลพ่อกับน้องเอง

“ตอนแรกพ่อกลัวว่าจะมาเป็นภาระเรา แต่เราบอกว่า เราดูแลได้ พ่อเลยยอมมาอยู่ที่ร้านด้วยกัน ตอนนั้นไม่ต้องมีคำอะไรมาอธิบายแล้วว่าพ่อยอมรับในความเป็นเพศที่สามของเราหรือยัง เราไม่เคยตั้งคำถามเรื่องนี้กับพ่อเลยด้วยซ้ำ เพราะสัมผัสได้ถึงสายตาและการกระทำของพ่อที่มีต่อเราระหว่างที่อยู่ด้วยกัน

“มีอยู่วันหนึ่งที่ทำให้รู้เลยว่าเราเป็นเซฟโซนของเขา คือวันที่มีคนโทรมาบอกว่าพี่ชายเราเสีย ซึ่งพี่ชายคนนี้พ่อรักมาก เราบอกพ่อว่าพี่ชายเสียแล้วนะ เขาก็ถามเรากลับมาเหมือนไม่มีความรู้สึกอะไร ว่าเสียได้ยังไง แต่พอเราหันหน้าหนีไปอีกทาง พ่อก้มหน้าลงแล้วเริ่มเบะปากร้องไห้ แต่ไม่มีเสียงออกมา พอเราหันไปมองเขาก็เงยหน้าขึ้นมาแล้วยิ้มทั้งน้ำตา พยายามกลบเกลื่อนว่าไม่เสียใจ เราเห็นแบบนั้นเราก็เลยบอกพ่อว่า พ่อไม่ต้องห่วงนะ พ่อยังมีหนูอยู่ทั้งคน หนูจะดูแลพ่อเอง คราวนี้พ่อก็ปล่อยโฮออกมาเลย เราไม่เคยเห็นเขาเป็นแบบนี้กับเรามาก่อน ปกติเขาจะไม่แสดงออก แต่วันนั้นเขายอมอ่อนแอให้เราเห็น”

นี่คือคำพูดของลูกชาย LGBT ที่เคยถูกพ่อตีเพียงเพราะลืมลบเครื่องสำอางก่อนกลับบ้านตอนที่ยังเพิ่งเข้าวัยรุ่น จนทำให้ความแตกเรื่องแต่งหญิง

การกลับมาเปิดร้านที่บ้านเกิดนับได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในแง่วิชาชีพ เพราะนับวันร้านเซี่ยงไฮ้ ซาลอน อยุธยา ยิ่งไปได้สวย แต่ละวันมีลูกค้าเข้าร้านไม่ต่ำกว่า 10 คน

“เราทำงานจนบางทีลืมดูว่าเวลาผ่านไปนานแค่ไหนแล้ว พอรู้ตัวอีกที พ่อก็อายุ 80 กว่าแล้ว แขนขาเริ่มไม่มีแรง ต้องใช้ไม้เท้าช่วยเวลาเดิน บางครั้งก็ต้องนั่งวีลแชร์ จะเข้าห้องน้ำหรืออาบน้ำ เราก็ต้องคอยพาไป จากที่เมื่อก่อนพ่อแข็งแรงดี แอคทีฟมาก ตื่นเช้ามาใส่บาตรทุกวัน เวลามีลูกค้าก็คอยเดินไปเปิดประตูให้ ถ้าไม่มีลูกค้าจริงๆ พ่อถึงจะนั่งดูทีวี แต่ตอนนี้พ่อได้แต่นั่งดูทีวีเฉยๆ”

ในวัย 82 ปีของพ่อและวัย 38 ปีของลูก สิ่งที่มาเยือนสองพ่อลูกไม่ได้มีเพียงโรคชรา แต่ยังมีโรคอัลไซเมอร์ด้วย

เขาไม่เคยคิดว่า จะมีวันที่พ่อซึ่งนอนอยู่ในห้องเดียวกันทุกวัน ตื่นขึ้นมาแล้วจำลูกไม่ได้

“ก่อนหน้านี้พ่อไม่เคยมีอาการผิดปกติอะไรเลย จนวันหนึ่งเขาตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วก็นั่งอยู่เฉยๆ เราถามว่าพ่อเป็นอะไร พ่อก็เพ้อ ชี้ไปทางนั้นที ทางนี้ที เหมือนยังไม่ตื่นจากฝัน แล้วก็ถามหาคนนั้นคนนี้ เราก็ถามกลับว่าถามหาใคร แล้วก็ถามพ่อว่า นี่เป็นใครจำได้ไหม เขาก็ทำหน้างงใส่เรา

“เราตกใจมาก ใจหายวาบ พ่อจำลูกตัวเองไม่ได้ จำเราไม่ได้”

หลังจากวันนั้น เซี่ยงไฮ้รีบพาพ่อไปหาหมอ จึงได้รู้ว่าพ่อเป็นอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้น หลังจากวันนั้น อาการของพ่อเริ่มชัดขึ้น รุนแรงขึ้น และถี่ขึ้น การทำความเข้าใจกับโรคนี้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา ซึ่งเซี่ยงไฮ้ยอมรับว่า ช่วงแรกเขาดูแลพ่อได้ไม่ดีนัก

“อาการของพ่อเริ่มหนักขึ้นทุกวันจนบางครั้งเรารู้สึกหงุดหงิด ไม่เข้าใจในสิ่งที่พ่อคิด พ่อทำ บอกอีกอย่างพ่อจะทำอีกอย่าง บางครั้งเราหงุดหงิดจนหลุดคำพูดที่กระทบจิตใจเขาออกมา แต่เราก็มาฉุกคิดว่าเมื่อก่อนพ่อยังอดทนเลี้ยงเรามาได้ แล้วทำไมวันนี้เราจะอดทนเลี้ยงพ่อไม่ได้”

และนับจากวันนั้นเขาก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า

“ต่อไปนี้ ทุกนาทีของเรากับพ่อจะต้องมีแต่ความทรงจำดีๆ ร่วมกัน”

 พ่อ-ลูกนักเดินทาง

ญาติๆ เล่าให้เซี่ยงไฮ้ฟังว่า สมัยวัยรุ่นพ่อของเขาเป็นนักเดินทางตัวยง

เมื่อมาย้อนคิดถึงตัวเอง เซี่ยงไฮ้ก็รู้สึกว่า ถึงเขาจะไม่ได้เดินทางแบบพ่อตอนหนุ่มๆ แต่ชีวิตของเขาก็ผูกพันกับการเดินทางเช่นกัน เพราะต้องช่วยพ่อแม่ขนไก่ขึ้นรถกระบะไปขายที่รังสิตตั้งแต่เด็ก โดยทุกครั้งเซี่ยงไฮ้จะเสียสละให้พี่ๆ น้องๆ นั่งในรถ ส่วนตัวเองยินดีนั่งท้ายรถคนเดียว

ชีวิตของเขาจึงผูกติดกับการเดินทางตั้งแต่เด็ก แม้จะเป็นการเดินทางที่มีเส้นทางเดิม ยานพาหนะเดิม และที่หมายเดิมทุกครั้ง

แต่ในความ ‘เดิมๆ’ เซี่ยงไฮ้ก็ค้นพบความสนุกในนั้นที่กลายมาเป็นภาพจำที่มีความสุขของช่วงวัยเด็ก

“จำได้เลยว่าความสนุกของการไปขายไก่กับครอบครัว นอกจากได้เงินก็คือการนั่งหลังรถกระบะ พอนั่งหลายครั้งเข้า เราก็เริ่มคิดเกมของเราเอง เล่นเอง สนุกเอง เป็นเกมที่ลุ้นว่า เวลาที่พ่อแวะสถานีบริการน้ำมันระหว่างทาง จะใช่สถานีบริการที่เราคิดไว้หรือเปล่า เพราะเวลาเดินทาง ไม่ว่าจะไปขายไก่หรือไปทำธุระที่ไหน พ่อจะต้องแวะเติมน้ำมันที่พีทีที สเตชั่นทุกครั้ง เพราะมีทุกอย่างครบ สะดวก ห้องน้ำสะอาด มีที่ให้นั่งพัก พ่อก็จะถือโอกาสแวะพักรถด้วย พักหายใจหายคอจากการขับรถเป็นเวลานานๆ ด้วย บางครั้งพ่อก็จะให้เงินเรากับพี่ๆ น้องๆ ลงไปซื้อขนม ซื้อน้ำไว้สำหรับกินระหว่างเดินทาง

“เวลาเห็นรถของพ่อเลี้ยวเข้าไปตามที่คิดไว้ มันเป็นความรู้สึกแบบ ‘โป๊ะเชะ!’” เซี่ยงไฮ้อธิบายถึงกติกาง่ายๆ ของเกมเดาใจที่เขาเล่นไม่เคยเบื่อในตอนเด็ก

“เชื่อไหมว่าถึงจะดูเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่เกมนี้มันทำให้เรามีความสุข และกลายเป็นภาพจำของการเดินทางในวัยเด็กทุกครั้งไปแล้ว”

แม้ทุกวันนี้เขาจะทำงานเป็นช่างเสริมสวยเต็มตัวและมีร้านของตัวเอง ชีวิตของเขาก็ยังไม่พ้นเรื่องการเดินทาง เพราะหลายครั้งที่เขารับแต่งหน้านอกสถานที่ที่ไม่ใช่แค่ภายในตัวอำเภอหรือจังหวัด แต่ยังรับงานทั่วประเทศ จนทำให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นนักเดินทางด้วยอาชีพ

เมื่อเห็นว่าการเดินทางคือสิ่งที่พ่อเคยชอบในวัยหนุ่มและตัวเขาเองก็ผูกพันการเดินทางในทุกช่วงวัย หนึ่งในคำตอบของการสร้างความทรงจำในทุกนาทีที่เหลืออยู่ระหว่างเขาและพ่อก็คือ การพาพ่อเที่ยวนั่นเอง

 เติมความอุ่นใจให้กับความทรงจำ

การวางแผนพาพ่อเที่ยวของเซี่ยงไฮ้เริ่มจากทริปง่ายๆ จบได้ในวันเดียวก่อน ช่วงแรกเขาจึงเริ่มด้วยการพาพ่อไปไหว้พระ ทำบุญที่วัดใกล้ๆ ลองเที่ยวในจังหวัดก่อน พอสังเกตว่า นอกจากจะไปได้แล้ว พ่อยังดูสดใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แผนพาพ่อเที่ยวจึงเริ่มขยายไปยังต่างจังหวัด เรียกว่าสองพ่อลูกค่อยๆ เล่นใหญ่ขึ้นทีละนิดในการเที่ยว

“พอเห็นว่าพ่อไปต่างจังหวัดได้ เราเลยพาไปไกลขึ้น พาไปทะเล ไปภูเขา พ่อชอบมาก อยากลงจากรถเร็วๆ เพื่อไปสัมผัสบรรยากาศ เห็นพ่อแล้วเหมือนเวลาเห็นเด็กเจอของเล่นถูกใจแล้ววิ่งเข้าหา พ่อชอบมากจนบางทีเขาลืมว่าตัวเองเดินไม่ค่อยไหว

“ตลอดทางที่เราขับรถ พ่อก็จะชวนคุย นั่งมองวิวข้างทางเป็นเพื่อนเรา ไม่ยอมหลับแล้วปล่อยให้เราขับรถไปแบบเหงาๆ

“ก่อนที่เราจะเริ่มพาพ่อออกไปเที่ยวตามต่างจังหวัด เราก็คิดนะว่าเขาจะไปกับเราได้ไหม ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุของพ่อ กระดูกที่ไม่แข็งแรงทำให้เดินเองไม่ค่อยไหว จำเป็นต้องให้พ่อนั่งวีลแชร์ บางทีด้วยอาการอัลไซเมอร์ พ่อเขาก็จะมีความดื้ออยากจะเดินเองเราก็ต้องยอมไม่งั้นพ่อจะงอแง

“แต่มันเหมือนเป็นสัญชาตญาณที่ผุดขึ้นมาในหัวเลยว่า เราพาพ่อไปได้แน่นอนตราบใดที่ระหว่างทางมีสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น

“เชื่อไหมว่าเรานึกถึงที่นี่เป็นที่แรก เพราะเป็นสถานที่ที่อยู่ในความทรงจำเราตั้งแต่เด็กเวลาไปขายไก่กับพ่อแม่ มันเหมือนซิมโทรศัพท์ที่ใช้มานานจนไม่นึกอยากเปลี่ยนค่าย

“แต่เหตุผลหลักๆ จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องของแบรนด์ในใจ แต่เป็นเรื่องของความอุ่นใจมากกว่า เรารู้สึกว่าเราฝากความอุ่นใจเรื่องความปลอดภัยของพ่อได้ เพราะเขามีที่จอดรถสำหรับคนพิการและผู้หญิง มีห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ในห้องน้ำถ้าเกิดเหตุอะไรร้ายแรงอะไรขึ้นมา หรือต้องการความช่วยเหลือก็มีปุ่มฉุกเฉินให้กดขอความช่วยเหลือได้ มีจุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น พื้นที่ใช้สอยมีทางลาด ทางสโลปสำหรับวีลแชร์ จะเข็นพ่อไปไหนก็สะดวก หรือถ้าพ่อเขาอยากจะเดินเองก็มีราวให้พ่อจับประคองตัวเองไปได้

“และอีก จุดที่เพิ่มความอุ่นใจให้เรากับพ่อตอนเดินทางก็คือ จุดช่วยเหลือเพื่อนเดินทางจะมีพวกอุปกรณ์ซ่อมรถเบา เช่น เติมลม พ่วงแบตเตอรี่ หรืออุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นคอยบริการตลอด พวกนี้ช่วยเราได้จริงๆ เวลาเดินทางไกลๆ แล้วเกิดรถเรามีปัญหาฉุกเฉินขึ้นมา

จะว่าไปแล้วมันเหมือนเป็นบ้านของเพื่อนคนหนึ่งเลยที่เราสามารถแวะเข้าไปขอความช่วยเหลือได้ ไม่ใช่แค่ไปเติมน้ำมัน แต่มันยังช่วยเติมเต็มความสุขให้เรากับพ่อได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ร่วมกัน”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ