สารจากซีรีส์เกาหลีในวันที่ประชากรแก่ตัวลง

(โปสเตอร์ซีรีส์เรื่อง Dear My Friends จากช่อง tvN )

‘ละครทีวี’ นับเป็นสินค้าส่งออกท็อปฮิตอย่างหนึ่งของประเทศเกาหลี หลายๆ คนอาจยังจำช่วงต้นยุค 2000 ได้ ที่พอถึงช่วงหัวค่ำวันเสาร์-อาทิตย์ พวกเราก็ต้องรีบกลับบ้าน ไปนั่ง เฝ้า หน้าจอทีวี รอละคร “แดจังกึม” จอมนางแห่งวังหลวงฉายทางช่องสาม หลังเรื่องแดจังกึมจบ พวกเราก็พบกับการไหลบ่าเข้ามาของละครเกาหลี ไม่ใช่แค่ละครย้อนยุคอย่างแดจังกึม หมอโฮจุน หรือ จูมงเท่านั้น ยังมีละครรักคอมเมดี้สนุกสนานอย่าง Full House (สะดุดรักที่พักใจ – นำแสดงโดยเรนและซงเฮเคียว) หรือ “เจ้าหญิงวุ่นวาย กับ เจ้าชายเย็นชา” (นำแสดงโดยยุนอึนฮเยและจูจีฮุน) นับจากนั้นเป็นต้นมา จะบอกว่าเราเข้าสู่ยุค “กระแสฮันรยู” หรือ “กระแส K-Wave” ก็ว่าได้

ละครเกาหลีไม่ใช่ เพียง สินค้าส่งออกที่นำรายได้มหาศาลมาสู่ประเทศเกาหลีเท่านั้น แต่ ละครเกาหลียังเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมอันทรงอิทธิพลในการปรับภาพลักษณ์ของประเทศเกาหลีในสายตาชาวโลก พวกเราอาจไม่รู้สึกตัวกันมาก แต่สังเกตไหมว่าจากที่สินค้าอะไรๆ ก็ต้องเป็นของญี่ปุ่น เป็นของยุโรป สินค้าจากประเทศเกาหลีเริ่มเบียดแทรกเข้ามาในชีวิตประจำวันของพวกเราทีละน้อย อย่างโทรศัพท์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ แม้กระทั่งร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า

นั่นคือพลังในการเปลี่ยนแปลงของละครเกาหลี

และสิ่งที่ละครเกาหลีเข้ามาเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ได้มีแค่โทรศัพท์ที่เราใช้หรืออาหารที่เรากินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับประเทศอีกด้วย อย่างการผ่านร่างกฎหมาย ‘โดกานี’ ที่ทำให้ผู้ต้องหาคดีกระทำชำเราเยาวชน ที่มี อายุน้อยกว่า 13 ปี และผู้พิการ ให้ ได้รับโทษหนักขึ้น ร่างกฎหมายนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นวงกว้าง หลังละครเรื่อง ‘Silenced’ (นำแสดงโดยกงยู) นำคดีล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนในโรงเรียนผู้พิการที่เกิดขึ้นในปี 2005 มาถ่ายทอดอีกครั้ง

นอกจากนี้ ภายหลังการออกอากาศซีรีส์ Hospital Playlist ซีซั่น 2 ซึ่งเป็นซีรีส์ว่าด้วยชีวิตประจำวันของคุณหมอทั้งห้าคนในโรงพยาบาล มีผลทำให้ ยอดผู้บริจาคอวัยวะในประเทศเกาหลีก็เพิ่มขึ้นอย่างถล่มทลาย เพราะในหลายๆ ตอน ซีรีส์ได้ถ่ายทอดให้เห็นว่าการได้รับบริจาคอวัยวะสามารถมอบความหวังให้กับผู้ป่วยมากเพียงใด

ซีรีส์เกาหลีมีพลังในการเปลี่ยนแปลงมากถึงเพียงนี้ หากซีรีส์เกาหลีหันมาหยิบจับประเด็นสังคมสูงวัยที่กำลังเป็นประเด็นเร่งด่วนของเกาหลีใต้บ้าง จะเป็นอย่างไรกันนะ? และสารที่ละครเกาหลีจะสื่อออกมา ด้วยพลังในการเปลี่ยนแปลงของมันจะเป็นอย่างไร?

วัยชรา = ชีวิตซีซั่น 2
 

(ภาพประกอบจากเรื่อง Hospital Playlist ซีซั่น 2)

เวลาไปตามโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศ หรือโรงเรียนดนตรี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประชากรส่วนใหญ่ดูจะเป็นเด็กน้อยกับบรรดาพ่อๆ แม่ๆ ที่มารอรับ

“อยากเรียนอะไรก็ควรเรียน ตั้ง แต่เด็กๆ” น่าจะเป็นคำพูดที่ใครหลายคนได้ยินบ่อยๆ เพราะสมองของเด็ก ยังเยาว์วัยกว่า สดใสกว่า เปี่ยมด้วยพลังและสมรรถนะในการเรียนรู้มากกว่า หากเราอยากเรียนอะไร ก็ควรเริ่มเรียนตั้งแต่เด็กๆ แต่ว่า หากเราไม่เด็กแล้ว เราจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่ได้เลยหรือ?

ละครเกาหลีไม่คิดแบบนั้น

‘Navillera’ ละครจากช่อง tvN ในปี 2021 เป็นละครที่ว่าด้วยคุณลุง “ชิมด็อกชุล” ในวัย 70 ปี ที่เริ่มเรียน ‘บัลเลต์’ กับนักเต้นหนุ่ม “ลีแชรก” ผู้มากความสามารถแต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ ลีแชรกอายุ 23 ปี ส่วนคุณลุงชิมด็อกชุลอายุ 70 ปี พวกเขาอายุต่างกันถึง 47 ปี

แน่นอน มันคงเป็นภาพแปลกตาไม่น้อย ที่คุณลุงวัย 70 ซึ่งกระดูกกระเดี้ยวไม่น่าจะแข็งแรงแล้ว จะมาเรียนบัลเลต์ที่ต้องอาศัยสมรรถภาพทางกาย ยังไม่นับ ว่า ‘บัลเลต์’ เป็นศิลปะที่ต้องเริ่มฝึกฝนกันตั้งแต่เด็กๆ อีกต่างหาก

ครอบครัวของคุณลุงชิมด็อกชุลเองก็คิดแบบเดียวกัน

“คุณแก่จนเลอะเลือนไปแล้วเหรอ หรือว่าเป็นบ้าไปแล้วกันแน่” ชเวเฮนัม ภรรยาของชิมด็อกชุลกล่าว เมื่อทราบว่าสามีของเธอ ต้องการ ทำตามความฝันที่จะเรียนบัลเลต์

ชิมซองซัน ลูกชายคนโตของชิมด็อกชุล ก็คัดค้านที่คุณพ่อของจะเรียนบัลเลต์อย่างสุดกำลัง

ความจริง คุณลุงชิมด็อกชุลเอง ก็เคยโดนคุณพ่อทัดทานเรื่องนี้ เพราะการเรียนบัลเลต์ “มันไม่สมชาย” เอาเสียเลย

แต่บัลเลต์คือ ความฝันของคุณลุงชิมด็อกชุล และในวัยที่ร่างกายของเขากำลังโรยรา เขาก็เลือกให้มันเป็นหนทางในการต่อสู้กับภาวะสมองเสื่อมของเขา

แล้วไม่ใช่แค่คุณลุงชิมด็อกชุลเท่านั้น

คุณป้าโรซา คุณแม่ของคุณหมออันจองวอนผู้ใจดีจาก Hospital Playlist ก็กลับมาเล่นคีย์บอร์ดอีกครั้ง เมื่อวงดนตรีของลูกชายขาดแคลนมือคีย์บอร์ด อย่าง กะทันหัน ถึงทีแรกคุณป้าจะลังเลว่าตัวเอง “แก่เกินจะมาทำอะไรแบบนี้แล้ว” แต่เมื่อได้แรงผลักดันจากลูกชายสักหน่อย คุณป้าก็ลองมาเล่นคีย์บอร์ดให้วงดูสักครั้ง และ พบว่า สนุกสุดๆ ไปเลย ในตอนจบของซีซั่นที่ 2 คุณป้ายังเตรียมจะริเริ่มอะไร ที่ ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือการออกเดินทางแสวงบุญตามเส้นทาง ‘Camino de Santiago’ ที่ทอดผ่านหลายๆ ประเทศ ในยุโรปทั้งฝรั่งเศส สเปน หรือโปรตุเกสกับเพื่อนของเธอ

นี่ไม่น่าจะใช่กิจกรรมยามว่างของคุณลุงคุณป้าที่คนพยายามบอกเราเท่าไหร่…

แน่นอน ซีรีส์เกาหลีไม่ได้จะบอกว่า คุณต้องไปเรียนบัลเลต์ หรือต้องไปแบ็คแพ็ครอบโลกเพื่อให้ชีวิตของเรามีความหมาย แต่บางที… วัยชราอาจจะไม่ใช่ ‘end credit’ ของชีวิตอย่างที่เราคิดก็ได้ วัยชราอาจเป็น ‘ชีวิตซีซั่น 2’ ของเราก็ได้ ในเมื่อเวลาที่เหลืออยู่ก็ยังเป็นเวลาของเรา ชีวิตที่เหลืออยู่ก็ยังเป็นชีวิตของเรา ถ้าเรายังมีสิ่งที่อยากทำ ยังมีเรื่องที่อยากเรียน ทำไมเราจะทำไม่ได้?

‘ไม่มีใครแก่เกินเรียน’

และแน่นอน… ไม่มีใครแก่เกินจะทำสิ่งที่อยากทำด้วย

บางที นี่อาจเป็นสิ่งที่ละครเกาหลีในตอนนี้พยายามบอกกับเรา และบอกกับประชากรที่กำลังมุ่งหน้าสู่สังคมสูงอายุของพวกเขา

ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะเรียนรู้จากผู้เยาว์

(ภาพประกอบจากเรื่อง Navillera )

สำหรับแนวคิดเรื่องความ ‘seniority’ หรือความ ‘อาวุโส’ จะมีใครมาชนะชาวเอเชียได้อีก ยิ่งเป็นสังคมเอเชียที่มีรากฐานมาจากลัทธิขงจื้ออย่างเกาหลี หากมีเหรียญทองเรื่อง ‘เคารพผู้อาวุโส’ ประเทศเกาหลีคงเป็นตัวเต็งเหรียญทองประเทศหนึ่งเลยทีเดียว

ครั้งหนึ่ง ธรรมเนียมการยึดถือ ‘ผู้อาวุโส’ อย่างเคร่งครัด เคยสร้างโศกนาฏกรรมให้ประเทศเกาหลีใต้มาแล้ว ในปี 1997 สายการบินโคเรียนแอร์ เที่ยวบิน 801 ตกขณะลงจอดยังสนามบินอันโตนิโอ บี. วอน พัท เกาะกวม ส่งผลให้ผู้โดยสาร 229 คนจาก 254 คน และลูกเรือทั้งหมดเสียชีวิต หนึ่งในสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนั้น คือการที่นักบินผู้ช่วย (ซึ่งอาวุโสน้อยกว่า) ไม่อาจทัดทานกัปตันในการนำเครื่องลงจอดได้

ในตอนนี้ที่ประชากรจำนวนมากของเกาหลีใต้กำลังจะกลายเป็น ‘ผู้อาวุโส’ พวกเขากำลังจะมีพีระมิดที่ ‘ยอด’ หนักกว่า ‘ฐาน’ แล้วถ้ายอดทำตัวดื้อด้านไม่ฟังเสียงจากฐาน ฐานจะยังแบกยอดได้ไหวหรือ?

“ผมเชื่อว่าจุดเด่นในความสัมพันธ์ของพวกเขาคือ การที่พวกเขาเป็นคนแก่และคนหนุ่มที่ช่วยเหลือกัน ผมคิดว่าอายุเป็นเพียงตัวเลขที่คนเราได้มาเมื่อใช้ชีวิตไปหลายปีเท่านั้น แทนที่จะใช้อายุเหล่านั้นเป็นข้ออ้างในการทำตัวหัวแข็งไม่ฟังใคร ด็อกชุลเลือกที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่จากคนหนุ่ม และแสดงให้เห็นว่าการร่วมมือกันสามารถนำไปสู่ความสำเร็จที่งดงามได้” นั่น คือบทสัมภาษณ์พัคอินฮวาน นักแสดงวัย 76 ปีผู้แสดงเป็นชิมด็อกชุล กับเว็บไซต์ pinkvilla เกี่ยวกับตัวละครชิมด็อกชุลและลีแชรก

อีกหนึ่งข้อความอันล้ำค่าจากเรื่อง Navillera ที่ไม่ใช่แค่ ‘ไม่มีใครแก่เกินเรียน’ เท่านั้น แต่ยังเป็น ‘ไม่มีใครแก่เกินจะเรียนรู้จากคนรุ่นหลัง’ ด้วย

ในวัฒนธรรมที่คำพูดของ ‘ผู้อาวุโส’ ถือเป็นประกาศิต Navillera พยายามแสดงให้เห็นว่า “การเรียนรู้จากคนที่เด็กกว่าก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย” แน่นอนว่าข้อความนี้ไม่ได้บอกแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เพราะขณะที่ชิมด็อกชุลได้เรียนบัลเลต์จากลีแชรก ลีแชรกก็ได้เรียนรู้อะไรต่างๆ จากชิมด็อกชุลเช่นกัน

คนแก่ไม่ควรมองว่าการเรียนรู้จากเด็กเป็นเรื่องน่าอายอย่างไร เด็กๆ ก็ไม่ควรมองว่า “คนแก่พวกนี้เชย ล้าหลัง ไม่เข้าใจความรู้สึกของพวกเราหรอก” ด้วยเหมือนกันอย่างนั้น เพราะสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นดวงตาที่เห็นโลกมาจนฝ้าฟางของคนแก่ หรือดวงตาที่ยังเจิดจ้าของเด็กๆ ก็ไม่มีใครมองเห็นหลังหัวของตัวเองได้อยู่ดีไม่ใช่หรือ?

มีคนมาช่วยมองดูหน่อยจะเป็นอะไรไป?

อิทธิพลของสื่อไม่ใช่แค่การส่งข้อความออกไปแล้วจบแค่นั้น เพราะไม่แน่ว่าข้อความนั้นที่สื่อออกไป อาจสร้างแรงกระเพื่อมและการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในสังคมอีกก็ได้

การบอกผู้สูงอายุว่าพวกเขายังไม่แก่เกินกว่าจะริเริ่มอะไรใหม่ๆ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่ใช่แค่การผลักดันให้พวกเรา ‘ไม่ยอมแพ้’ ที่จะหาความสุขและสร้างความหมายให้ชีวิตตัวเองเท่านั้น แต่การได้ใช้ชีวิตที่ ‘แอคทีฟ’ ได้ออกไปทำกิจกรรม ได้ผูกมิตรกับคนรอบตัว ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการมี ‘สุขภาพกาย’ ที่แข็งแรงเช่นเดียวกับ ‘สุขภาพใจ’ อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการปรับทั้งทัศนคติและปรับพฤติกรรมของผู้รับสารในการเข้าสู่วัยชราไปพร้อมๆ กัน

ก้าวสู่วัยชราอย่างองอาจ

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้มีแค่ในประเทศเกาหลี อย่างในประเทศสิงคโปร์เอง ก็เริ่มมีรายการวาไรตี้และละครที่ดาวเด่นเป็นนักแสดงรุ่นใหญ่ในบทสูงอายุ และผลตอบรับของรายการเหล่านั้น คือการที่ผู้ชมของพวกเขาเริ่มมีแรงบันดาลใจที่จะลองอะไรใหม่ๆ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่อยากถูกจำกัดอยู่แต่ในบ้านอีกต่อไป

การได้เห็น “คนที่เหมือนกับเรา” เป็น “ดาวเด่น” อยู่ในทีวี ไม่ได้เป็นเพียงสารที่ส่งไปยังผู้สูงอายุ แต่คนหนุ่มสาวเมื่อได้เห็นผู้สูงอายุยังออกไปทำโน่นทำนี่ ทำสิ่งที่พวกเขาชอบได้อยู่แม้จะเข้าสู่วัยชราแล้ว ก็อาจจะรู้สึกชื่นชม มีกำลังใจ และส่วนหนึ่งอาจจะรู้สึก ‘เบาใจ’ อยู่ลึกๆ ด้วยเหมือนกัน

“ถึงละครเรื่องนี้ ( Dear My Friend ) จะเต็มไปด้วยดราม่า -ความป่วยไข้ , การทำร้ายร่างกาย , และโศกนาฎกรรม- แต่ความรู้สึกในแง่บวกจากละครเรื่องนี้ทำให้ฉันหวาดกลัวการแก่ตัวน้อยลง มันสามารถเป็นเหมือนวัยหนุ่มสาวครั้งที่สอง ละครเรื่องนี้ยังช่วยให้ฉันเข้าใจญาติผู้ใหญ่ได้มากขึ้นด้วย”

เอเดรียน เซอร์ ผู้ชมวัย 28 ของละครเรื่อง ‘Dear My Friend’ อีกหนึ่งละครน้ำดีว่าด้วยกลุ่ม ‘เพื่อนสาว’ ในวัย 60+ ของประเทศเกาหลี กล่าวเอาไว้ในบทความโดย Gewndolyn Ng จาก The Straits Times

เอกสารอ้างอิง

K – drama ’ s new attraction : Senior Citizens : www.straitstimes.com

Korean Wave (Hallyu) – The Rise of Korea’s Cultural Economy & Pop Culture : martinroll.com

National Assembly Passes ‘Dogani Law’ www.koreatimes.co.kr

Navillera Star Park In Hwan opens up about learning ballet, his first impression of Song Kang & More : www.pinkvilla.com

ละครเกาหลี พลังแฝงสร้างประเทศ : workpointtoday.com

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ