เริ่มจาก “เสื้อเปียก” นำทาง จันทร์ตรา ลู่วีระพันธ์ สู่สนามวิ่งเทรล 34 กิโลเมตร และการค้นพบวิญญาณนักสู้ในตัวเอง

มนุษย์ต่างวัยคุยกับ จันทร์ตรา ลู่วีระพันธ์ ผู้อำนวยการ สถานีเนชั่นทีวี ถึงเส้นทางนักวิ่งของเธอ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ด้วยเหตุผลด้านสรีระ เพราะอยากคล่องตัว และทะมัดทะแมง ก่อนหน้านั้นตอนออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน เวลาเห็นคนวิ่งทีไร เธอนึกในใจเสมอว่า “ฉันจะไม่ยอมเหนื่อยแบบนั้นแน่นอน” เพราะการปั่นจักรยานมีจังหวะชิลได้ ผ่อนขาได้ สัมผัสกับลมเย็น ๆ ได้ ขณะที่การวิ่งต้องใช้กำลังตัวเองล้วน ๆ ไม่มีเครื่องทุ่นแรงใด ๆ

แต่แล้ว เมื่อเธอได้กลับมาสวมรองเท้าวิ่งอีกครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายที่เธอสวมคือตอนแข่งวิ่ง 4×100 ตอนเรียนมัธยม พอกลับมาวิ่งใหม่ที่สวนสาธารณะแถวบ้าน 4-5 รอบ รอบละ 500 เมตร จึงรู้สึกว่าเหนื่อยแทบขาดใจ “เราตัวเล็ก ปอดเล็กมั้ง ตอนเด็ก ๆ วิ่งแข่งได้ เพราะระเบิดแรงทีเดียวจบ แต่การวิ่งระยะไกล คนละเรื่องเลย”

แล้วเธอทำอย่างไรจึงสามารถพิชิตสนามมาราธอนที่ 42.159 กม. และสนามเทรลที่ 34 กม.ได้ แถมการวิ่งยังเปลี่ยนแปลงเธอด้วย !!

เสื้อเปียกไม่พอ ขอตัวเปียกเลย

“วิ่งครั้งแรกเหนื่อยมาก แต่ไม่หยุด เพราะเราเห็นคนอื่นวิ่งกันจนเสื้อเปียก ทำไมเขาเสื้อเปียก เราอยากตัวเปียกแบบนั้นบ้าง ถ้าอย่างนั้นเราต้องวิ่งเยอะกว่านี้ไหม และใช่เลย เราวิ่งจนตัวเปียก ซึ่งฟินมาก พอวิ่ง 5 กม. เสื้อเริ่มเปียก วิ่ง 10 กม. เสื้อยิ่งเปียก และในที่สุดเราก็ทำได้ คือการวิ่งจนตัวเปียกมันเป็นแบบนี้นี่เอง”

จันทร์ตราเล่าถึงความฟินในการเป็น “นักวิ่งเสื้อเปียก” จากการลงสนามจริง โดยเริ่มจาก Fun Run ที่ 5 กม. ขยับเป็นมินิมาราธอน 10 กม. ฮาร์ฟมาราธอน 21 กม. ฟูลมาราธอน 42.195 กม. รวมทั้งวิ่งเทรลที่ 34 กม. ซึ่งทำให้เธอพบความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ อีกทั้งคนรอบตัวยังทักด้วยว่า ทำไมดูแข็งแรงจัง

เป้าหมายนักวิ่งคือเส้นชัย

การไต่ระดับการวิ่งของจันทร์ตราเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป จนลงสนามฮาร์ฟมาราธอนที่ 21 กม. แบบไม่ทันตั้งตัว ไม่ได้ซ้อม ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้กิน ไม่ได้นอน เพราะปล่อยตัวตอนตีสาม กลัวจะไม่ตื่น เธอเล่าว่า การวิ่งแม้จะไปพร้อมกัน แต่พอลงสนามก็ต่างคนต่างวิ่ง แรงใครแรงมัน เจอกันที่เส้นชัยตอนจบ

“ไปถึงเส้นชัยเหลืออีกหนึ่งนาทีพอดี มันมาจากจิตใจที่เรากัดฟันสู้ แม้ระหว่างวิ่งจะคิดตลอดว่าไม่น่าเลย แต่เราไม่เคยหยุด เพราะจะไม่ยอมถูกคัตออฟเด็ดขาด ถ้าวิ่งไม่จบจะอายคนอื่นไหม เราไม่เคยคิดว่าจะไม่จบ ระหว่างวิ่งเราอยู่กับตัวเอง คุยกับตัวเอง จดจ่อ และในสนามวิ่งไม่มีใครสนใจใคร ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือเส้นชัย”

แรงดึงดูดที่ทำให้จันทร์ตราไม่หยุดวิ่ง เพราะมีความสุข โดยเฉพาะตอนเหงื่อออกจนเสื้อเปียก เหนื่อย แต่สดชื่น และยังเห็นการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจด้วยที่สอนให้รู้ว่า เธอคือนักสู้คนหนึ่งที่ไม่ยอมแพ้ แม้บางครั้งต้องเดิน แต่จะไม่เดินตลอด “บอกกับตัวเองเพราะเรามาวิ่ง มันก็ต้องวิ่งสิ” นอกจากนี้ ยังฝึกให้เป็นคนอดทน และใจเย็นเลย ซึ่งค่อย ๆ ซึมซับโดยไม่รู้ตัว เมื่อเจอปัญหาอะไรก็ตามในชีวิต ด้วยความใจเย็น จะทำให้จัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิ่งเทรลคือการผจญภัย

จากฮาร์ฟมาราธอน 21 กม. และจบด้วยเวลา 2.22 ชม. ทำให้จันทร์ตราเริ่มอยากลองฟูลมาราธอนที่ 42 กม.บ้าง เพราะกลายเป็นเป้าหมายใหม่ไปแล้ว ทำให้เธอต้องหมั่นซ้อมเพื่อให้รู้กำลังตัวเอง และสะสมกำลังขาไว้ จนในที่สุดสามารถวิ่งโดยจบที่เวลา 6.30 ชม. และ 5.30 ชม. ตามลำดับ แต่สิ่งที่หลงรักจริงจัง กลับเป็นการวิ่งเทรล จากพื้นฐานที่เป็นคนชอบเดินทางท่องเที่ยวตั้งแคมป์เดินป่า และชอบวิ่ง ซึ่งรวมทั้งหมดอยู่ในการวิ่งเทรล

เธอบอกว่าเมื่อได้ลอง วิ่งเทรลคือการผจญภัยอย่างหนึ่ง เพราะไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเจออะไร จะเจอน้ำ เจอเนิน หรือต้องปืนป่ายหรือไม่ และสนามที่จุดประกายคือสนามมินิเทรลของกองทัพเรือที่ 14 กม. ในพื้นที่ป่าที่ต้องโรยตัวด้วยเชือกเหมือนการฝึกทหาร และสุดท้ายจบเข้าเส้นชัยบนชายหาดริมทะเล

“โอโห ฟินมาก ชอบมาก เพราะเราชอบอะไรที่มันโลดโผน วิ่งเทรลสนุกกว่าวิ่งบนถนนเยอะ เพราะได้เจอสิ่งไม่คาดฝัน วิ่งไปเจอน้ำตก เจอหมอก เจอสันเขื่อนสวย ๆ ได้ยืนบนยอดเขาสูง ๆ เห็นวิวสุดลูกหูลูกตา ไม่วิ่งแล้วบนถนนมีแต่ควันรถ เข้าป่าดีกว่า ได้นอนเต็นท์ด้วย” (หัวเราะ)

กีฬาที่ทำให้รู้ซึ้งถึงคุณค่าทางจิตใจ

แรงดึงดูดที่ทำให้จันทร์ตราวิ่งเทรลได้ระยะทางไกลขึ้น จากมินิเทรล 10 กม. ไป 25 กม. และ 34 กม.ได้ คือทิวทัศน์ เธอเล่าว่า พอดูรูปของตัวเองก็สวยดี แต่พอเห็นของคนอื่น ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมเราไม่เจอวิวแบบนี้ ถ้าอยากได้วิวแบบนี้ แปลว่าต้องวิ่งให้ไกลกว่านี้ใช่ไหม เพราะของดีมักอยู่ลึก ๆ และไปยาก จึงเกิดความท้าทายว่า ต้องวิ่งไปให้ถึงจุดที่วิวสวย ๆ ให้ได้

นอกจากนี้ การได้อยู่ในป่า ได้เจอเพื่อนร่วมทางในสนามที่ไปด้วยกัน เวลาเหนื่อยก็เดินคุยกัน และต่อให้ตอนเริ่มวิ่งไปพร้อมบัดดี้ แต่ในบางระยะของเนินชัน ๆ ก็ต้องไต่ระดับไปเงียบ ๆ ไปเจอกันที่เส้นชัยอยู่ดี เธอเล่าว่า ทุกครั้งที่วิ่ง จะเจอเพื่อนรออยู่ที่เส้นชัยเสมอ และเพื่อนก็บอกว่า มั่นใจว่าเธอจะต้องไปถึง

“คือการวิ่ง เราไม่อยากเป็นภาระใคร ไม่อยากให้คนที่มากับเราไม่ได้พิสูจน์ฝีเท้าตัวเอง เลยต้องโบกมือให้เพื่อนไปก่อน แล้วไปเจอกันที่เส้นชัย การวิ่งเทรลเป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่งเลย เราได้อยู่กับธรรมชาติ และทุกครั้งที่วิ่งก็ท้อทุกสนามนั่นแหละ คิดตลอดว่ามาทำไม พื้นดินพื้นทรายพื้นป่าก็เหมือนกันหมดทุกสนาม เช้าวันอาทิตย์นอนอยู่บ้านดีกว่าไหม ไม่เหนื่อยด้วย แต่สุดท้ายเราก็พาร่างมาอยู่ในดงป่า (อีกแล้ว) และสุดท้ายพอวิ่งจบ เราก็ได้รู้ซึ้งถึงคุณค่าความเหนื่อยเลยว่า เราผ่านมันมาได้ เราทำได้ (เว้ย)”

ซ้อม 7-20 กม. เพื่อสะสมกำลังขา

แม้จะเป็นคนรูปร่างเล็ก แต่ใจเธอไม่เล็ก เพราะวิ่งเทรลต้องแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ กำลังขาต้องดี แล้วต้องดูแลตัวเองให้ดี เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่า ทำให้บางสนามจะคัดเฉพาะนักวิ่งที่มีคะแนนวิ่งสะสมเท่านั้น จันทร์ตรา บอกว่า การวิ่งเทรลต้องประมาณตัวเอง หากไม่ไหว อย่าฝืนเป็นอันขาด เพราะอาจสร้างภาระให้ทีมงาน และเพื่อนร่วมสนามได้

“ไม่มีอะไรปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ นักวิ่งต้องรู้ตัวเองว่าไหวแค่ไหน ดูแลตัวเองให้ดี เพื่อจะทำสิ่งที่ท้าทายนี้ ทำให้ต้องซ้อมเพื่อสะสมกำลังขา ในระยะ 7-20 กม.อย่างสม่ำเสมอ”

จันทร์ตราให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ เพราะเธอตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่หยุดทำงาน แม้อายุจริงจะ 55 แล้ว แต่ความแข็งแรงทำให้คำว่าเกษียณอยู่ไกล และเมื่อวันนั้นมาถึงจริง ร่างกายและจิตใจก็ยังพร้อมที่จะทำอะไรต่าง ๆ ได้อีก นอกจากนี้ การวิ่งยังเปลี่ยนให้เธอเป็นคนใจเย็น และเปิดกว้างที่จะมีเพื่อนใหม่ ๆ เสมอ โดยเฉพาะเพื่อนร่วมสนามวิ่ง ซึ่งพอเหนื่อย ก็เดินคุยกัน พอหายเหนื่อยก็ไปต่อ ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้เรื่องความเอื้ออาทรต่อกันด้วย นอกจากนี้ การวิ่งเทรลยังซึมซับความอึด ถึก ทน ที่นำมาปรับใช้ในการทำงานได้ดีมาก ๆ ในยามที่เจอโจทย์ยาก ๆ ก็สามารถฝ่าฟันสถานการณ์นั้นมาได้

“เราวิ่งไป ๆ ก็ไปอยู่กับกลุ่มนักวิ่งอายุหลากหลาย 20 กว่า 30-40 กว่า ได้ แปลว่าอายุไม่เป็นอุปสรรคแล้ว ไปด้วยกัน คุยกัน ให้กำหลังใจกัน ชูมือกันเข้าเส้นชัย เจอคนเป็นตะคริว เราก็หยุดให้ความช่วยเหลือกัน นี่คือมิตรภาพ และสะท้อนความหมายของการไปด้วยกัน เรารู้สึกอยากขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจลุกขึ้นมาวิ่ง และขอบคุณจิตใจตัวเองที่แม้จะเหนื่อย แต่เราก็ยังวิ่งต่อไป ขอบคุณบัดดี้ที่ทั้งผลักทั้งดันจนไปถึงเส้นชัยทุกสนาม ไม่ทิ้งกัน”

จันทร์ตรายังเล่าประสบการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เธออีกว่า เคยเจอคุณป้าท่านหนึ่งอายุ 70 ปี มาวิ่งเทรล และยืนอยู่จุดเดียวกับคนอายุ 25 ยืนได้ ทำให้เธออยากร้องตะโกนว่า “คุณป้าคะคุณป้า 70 แล้ว คุณป้ามาทำอะไรที่นี่ หนูอยากเป็นอย่างคุณป้ามากค่ะ” จันทร์ตรา ลู่วีระพันธ์ เล่าพร้อมหัวเราะจนดวงตาของเธอเป็นประกาย เพราะเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่อยากทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายตัวเองต่อไป

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ