เมื่อ “สุขภาพดีสร้างมูลค่าได้” เตรียมทุกคนให้พร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

คาดคะเนว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ทำให้หลายพรรคการเมืองเริ่มนำเสนอนโยบายหาเสียงให้กับประชาชน และหนึ่งในนโยบายที่แทบทุกพรรคหยิบยกมาเรียกคะแนนเสียงก็คือ นโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ แต่คำถามก็คือเพียงแค่การเพิ่มเบี้ยยังชีพรายเดือนให้กับผู้สูงวัยจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้นได้จริงหรือ หรือยังมีอีกหลายสิ่งที่รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งควรลงมือทำอย่างเร่งด่วน เพื่อรับมือกับการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย

มนุษย์ต่างวัยชวนฟังความคิดเห็นจากศาสตราจารย์จอห์น หว่อง (Prof. John Wong) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และประธานร่วมสถาบันการแพทย์สหรัฐอเมริกา ถึงแนวทางการสนับสนุนผู้สูงวัยที่รัฐบาล (ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน) ก็ควรต้องทำ เพราะการเพิ่มจำนวนขึ้นของผู้สูงวัยที่สวนทางกับอัตราการเกิดของคนทั่วโลกที่ลดลงถึงร้อยละ 50 จะทำให้เกิดผลกระทบในหลากหลายมิติ

“โครงการสวัสดิการของรัฐถือเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย และต้องเริ่มลงมือทำอย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะหากไม่เริ่มวันนี้ สิ่งที่ตามมาคือปัญหาความยากจนที่มากขึ้น และปัญหาสุขภาพที่มากขึ้น รัฐบาลจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งไม่เพียงแค่โครงการรัฐสวัสดิการต่าง ๆ แต่ยังต้องนำนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วย”

“การมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีเป็นหน้าที่ของรัฐบาล” เพื่อทำให้ “ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีคือรากฐานของทุกคน” เพราะนี่คือเป้าหมายความยั่งยืนของโลก

โรดแมพสู่การเป็นสังคมสูงอายุที่มีคุณภาพ

จะเกิดอะไรขึ้น หากคนเราจะมีอายุยืนยาวขึ้นอีก 20 ปี และเกษียณอายุที่ 80 ปี แทนที่จะเป็น 55-60 ปี เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งช่วงเวลา 20 ปี ที่เพิ่มขึ้นมานี้เองเรียกว่า “Health-created value” หรือการมีสุขภาพดีสร้างมูลค่าได้ แต่มูลค่าที่ว่านั้นคืออะไร และการที่จะสร้างมูลค่านี้ เราต้องเตรียมตัว หรือต้องได้รับการสนับสนุนอย่างไร

“มนุษย์ต่างวัย” ชวนทุกท่านมาหาคำตอบในประเด็นเหล่านี้กับศาสตราจารย์จอห์น หว่อง (Prof. John Eu-Li Wong ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และประธานร่วมสถาบันการแพทย์สหรัฐอเมริกา) และศาสตราจารย์ฮิโระยุกิ ฟุจิตะ (Hiroyuki Fujita ผู้ก่อตั้งบริษัท Quality Electrodynamics, หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีบริษัท Canon Medical Systems Corporation, สมาชิกคณะกรรมการผู้ว่าการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโอะกินาว่า) จากเวทีเสวนาระดับนานาชาติ “AHWIN Forum 2022” (Asian Health and Wellbeing Initiative) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ต้นทุนมนุษย์คือความมั่งคั่งสูงสุด และไม่มีอะไรมีมูลค่ามากไปกว่าการมีสุขภาพดี

ศาสตราจารย์ฮิโระยุกิ ฟุจิตะ ได้ให้มุมมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า ความเจ็บป่วยคือความสูญเสียของประเทศชาติ เนื่องจากการมีสุขภาพดีหมายถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้มนุษย์สามารถเพิ่มผลผลิตได้

“ต้นทุนมนุษย์คือความมั่งคั่งสูงสุด จนไม่อาจสูญเสียได้ ไม่ว่าจะด้วยปัญหาสุขภาพที่เสื่อมโทรม หรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” ศ.ฟุจิตะกล่าว พร้อมประเมินว่า คนเราจะเกษียณที่ 67-75 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมดุลแล้วระหว่างการทำงานและการพักผ่อน นอกจากนี้ การยืดอายุเกษียณยังเพิ่มผลผลิตได้สูงถึงร้อยละ 20 ต่อคนด้วย ซึ่งหากตีเป็นมูลค่าจะสูงถึง 2-4 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อคน

“หากทำงาน 5 ปี จะมีเงินเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และถ้าทำงานต่อไปอีก 10 ปี จะมีเงินเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นี่คือประเด็นสำคัญ ซึ่งไม่มีสิ่งใดมีมูลค่าสูงสุดเท่าการมีสุขภาพดีอีกแล้ว” ศ.ฟุจิตะกล่าว

ศ.ฟุจิตะยังมองต่อไปอีกว่า หากสามารถทำให้อัตราการเสียชีวิตของคนลดลงจาก 9.2 : 1,000 คน เหลือเพียง 2.3 : 1,000 คน นั่นหมายความว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้น 170 ล้านคน ภายในปีพ.ศ. 2593 ซึ่งจะยิ่งเพิ่มผลผลิต และมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ พร้อมกันนี้ ยังกล่าวว่าหากคนวัย 55 ปี ทำงานเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี จีดีพีจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 และหากคิดเป็นมูลค่าแล้วก็มากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเลยทีเดียว

อายุยืนอย่างเดียวไม่พอ หัวใจคือการมีสุขภาพที่ดี

ในด้านของศาสตราจารย์จอห์น หว่อง มองว่าด้วยจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แม้จะเป็นเรื่องที่ควรเฉลิมฉลองให้กับปาฏิหาริย์ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็อดกังวลใจไม่ได้ว่าอีก 100 ปีต่อไป เราจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อย่างไร หรือการออกแบบเมืองให้เป็นมิตรต่ออายุที่ยืนยาวจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่

นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังมีเป้าหมายให้ทศวรรษนี้ (พ.ศ. 2564-2573) เป็นทศวรรษแห่งการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีด้วย เนื่องจากตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ผู้สูงวัยอายุ 60 ปี มีอัตราเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับอัตราการเกิดของคนทั่วโลกที่ลดลงถึงร้อยละ 50 ทำให้สถานการณ์ดังกล่าว เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต โครงสร้างครอบครัว และสังคม

ที่สำคัญคือเรื่องของงบประมาณ และโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้นั้น จะมีประสิทธิภาพมากเพียงใด เช่น โครงการประกันสังคม โครงการเกษียณอายุ โครงการด้านที่อยู่อาศัย ไปจนถึงการสร้างพื้นที่สาธารณะ ระบบรักษาพยาบาล และอีกมากมาย ดังนั้น คำถามคือเราจะเตรียมตัวอย่างไร และจะทำอย่างไรเพื่อจะมีสุขภาพดีตลอดชีวิตได้ หรืออย่างน้อยก็ชีวิตที่เหลือนับจากนี้

“การมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีนั้นเกี่ยวข้องกับทุกด้านของชีวิต ซึ่งต้องเริ่มจากการมีสุขภาพที่ดีก่อน ตามมาด้วยหน้าที่การงานที่มั่นคง การมีรายได้ที่เพียงพอ และโอกาสทางสังคมเพื่อพัฒนาตนเองให้สามารถยืดอายุการทำงานให้ยาวขึ้นได้” ศ.หว่องสรุปความหมายทั้งหมด และยังเพิ่มเติมอีกว่า ก็เพื่อเตรียมทุกคนให้พร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

รัฐบาลคือตัวแปรสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย

“โครงการสวัสดิการของรัฐถือเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย และต้องเริ่มลงมือทำอย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะหากไม่เริ่มวันนี้ สิ่งที่ตามมาคือปัญหาความยากจนที่มากขึ้น และปัญหาสุขภาพที่มากขึ้น” ศ.หว่องกล่าว

ศ.หว่องมองถึงสถานการณ์ปัจจุบันด้วยว่า ปัญหาเรื่องความยากจน และสุขภาพที่ย่ำแย่ ท่ามกลางบรรยากาศทางสังคมที่ผู้คนยังคงต่างคนต่างอยู่ และขาดการพึ่งพากัน คือปัจจัยที่ทำให้ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) ลดต่ำลง และสิ่งที่ตามมาคือ คนเราจะไม่สามารถมีสุขภาพดีตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้นได้

รัฐบาลจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งไม่เพียงแค่โครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ แต่ยังต้องนำนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วย ตามที่สถาบันการแพทย์แห่งชาติ (National Academy of Medicine) กำหนดให้ “การมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีเป็นหน้าที่ของรัฐบาล” เพื่อทำให้ “ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีคือรากฐานของทุกคน” เพราะนี่คือเป้าหมายความยั่งยืนของโลก

โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย ศ.หว่องมองว่า ความสำคัญเร่งด่วนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐมีหลายเรื่อง ตั้งแต่การสนับสนุนให้ผู้สูงวัยรู้สึกมีความสุขในชีวิต โดยไม่ปล่อยให้พวกท่านโดดเดี่ยว รัฐต้องจัดหาพื้นที่กิจกรรมให้ผู้สูงวัยมีที่ทางของตัวเองในการร่วมกิจกรรมกับเพื่อนฝูง รวมทั้งดึงครอบครัว และคนหนุ่มสาวเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเรื่องวัยที่แตกต่างกัน และอยู่ร่วมกัน โดยไม่แบ่งแยกให้พวกท่านรู้สึกไร้ความหมาย

ศ.หว่องยังมองไปถึงกลุ่มผู้สูงวัยในระบบทำงานด้วย เพราะหากผู้สูงวัยเหล่านั้นมีความสุขได้ ประสิทธิภาพในการทำงานย่อมดี และย่อมเพิ่มโอกาสให้สามารถยืดอายุการทำงานออกไปอีก 10-20 ปี ตามแนวโน้มได้

“การทำงานคือการสร้างจุดมุ่งหมาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐบาลจึงต้องสร้างและผลักดันนโยบายเพิ่มความสุขนี้ เพื่อให้เกิดการร่วมมือในภาคธุรกิจให้ได้” ศ.หว่องกล่าว

ด้วยเหตุนี้ การลงทุนในมนุษย์จึงสำคัญ เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถเพิ่มต้นทุนทางสังคม และทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลควรต้องออกแบบระบบการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อให้รองรับการทำงานตลอดชีวิต รวมทั้งลดการกีดกันทางอายุ เพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วม และเพิ่มขีดความสามารถให้ได้

อีกประเด็นที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ คือการสนับสนุนให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของวัย และสนับสนุนความมั่นคงทางการเงิน โดยเฉพาะระบบการเงินจากองค์กรนายจ้าง รวมถึงดอกผลต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอายุที่ยืนขึ้นด้วย ส่วนเรื่องสุขภาพ รัฐต้องลงทุนด้านสาธารณสุข โดยเปลี่ยนระบบดูแลสุขภาพให้คนเข้าถึงได้ และพัฒนาระบบให้ผู้ใช้เป็นศูนย์กลางเพื่อวัดผลความสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังต้องสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในด้านผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น รวมถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อให้ทุกคนมีสุขภาพดี และทำงานได้นานขึ้นตามช่วงวัยที่ยาวขึ้น

ศ.หว่องเน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมยุคใหม่มากเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในสังคมผู้สูงวัย โดยนำระบบประชาชนเป็นศูนย์กลางมาใช้ เพื่อรับฟังความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงวัย พร้อมอุดช่องว่างเรื่องความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันต้องเพิ่มความยุติธรรมให้มากขึ้น โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล รวมถึงการออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เหมาะสม เช่น ที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะ ความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ไปจนถึงระบบขนส่งมวลชน

อย่างไรก็ตาม การหวังพึ่งรัฐอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับชีวิตยุคใหม่ เพราะเราต้องพึ่งพาตัวเองด้วย เราสามารถเตรียมพร้อมด้วยการมีหรือกลับมามีสุขภาพที่ดีให้ได้ก่อน ทั้งร่างกายและจิตใจ ทัศนคติที่ดีของเรา การพัฒนาตัวเองของเรา การปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างรู้เท่าทันโลก โดยไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ยึดโลกเป็นศูนย์กลาง

และเมื่อนำมาผสมผสานกับสิ่งที่ ศ.ฮิโรยุกิ ฟุจิตะ กล่าวว่าสุขภาพดีสร้างมูลค่าได้ รวมกับ ศ.จอห์น หว่อง กล่าวว่า เราจะมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีได้อย่างไร ก็จะทำให้เราพร้อมที่จะก้าวสู่วัย 60+ 70+ 80+ ที่ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้ เมื่อทำได้แบบนี้แล้ว ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการนำภาษีประชาชนไปลงทุนเรื่องนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ทุกคนได้รับความสะดวกสะบายอย่างมีมาตรฐาน สมกับที่เป็นสังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ และ Win-Win กับทุกฝ่าย

ขอบคุณภาพจาก

  • pexels
  • AHWIN FORUM 2022

Credits

Author

  • นัธพร ศิริรังษี

    Author"มนุษย์โลกสวยที่เคารพความแตกต่างของผู้คน เพราะเชื่อว่านี่คือสีสัน และความหลากหลายในการดำรงชีวิต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และโลกที่กำลังขับเคลื่อนไปสู่สิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจหมายถึงความท้าทายใหม่ๆ ที่รอเราทุกคนอยู่ด้วย"

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ