“ให้ป่าเยียวยาใจเรา” ชวนเปิดบ้านกลางป่าของป้าแอ๊ด-ทิพวัน ถือคำ วัย 68 ปี ผู้ค้นพบความสุขของชีวิตจากการอาบป่า

“ดีใจที่ป้าเป็นคนแก่ที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แล้วสิ่งที่ตัวเองรักมีประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย” สิ่งที่ ป้าแอ๊ด-ทิพวัน ถือคำ รัก จนทำให้เธอปิติยินดีกับชีวิตในวัย 68 นั่นก็คือการอาบป่า

เพียง 2 ชั่วโมงเศษจากกรุงเทพมหานคร ก็จะได้พบ ‘บ้านกลางป่า’ ของป้าแอ๊ด ที่ซ่อนตัวอย่างสงบในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ที่นี่ต้อนรับผู้มา ‘อาบป่า’ เพื่อถอดตัวเองออกจากชีวิตประจำวัน และเชื่อมต่อชีวิตเข้ากับธรรมชาติ เป็นทั้งการพักผ่อน เยียวยา และบำบัดร่างกายและจิตใจ

หญิงคนหนึ่งตื่นแต่เช้า อาศัยอยู่ในบ้านกลางป่า และมีเจ้าหมาชื่อเอธิโอเปียคอยรับแขก ถ้าพร้อมแล้ว เราจะเดินเข้าไปในป่าด้วยกัน

คนอาบป่า ป่าโอบคน

อาบป่า (Forest Bathing) มีต้นกำเนิดจากภาษาญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘ชินริน-โยคุ’ (Shinrin-yoku) ชินริน แปลว่าป่า โยคุ แปลว่าการอาบ หลายคนอาจนึกภาพถึงการไปแช่น้ำในสระหรือไปเล่นน้ำตกทำนองนั้น แต่เปล่าเลย การอาบป่าไม่ใช่เป็นการไปอาบน้ำในป่าในเขาแต่อย่างใด แต่เป็นการพาร่างกายที่เหน็ดเหนื่อยไปพักผ่อนโดยการเข้าใกล้เพื่อสัมผัสธรรมชาติมากขึ้น เป็นหนทางเยียวยาร่างกายและจิตใจอย่างหนึ่ง

การอาบป่าเป็นการบำบัดทางการแพทย์ในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1980 โลกของเรากำลังตระหนักถึงผลกระทบด้านลบของความซึมเศร้า ฟุ้งซ่าน และเหนื่อยล้า ผลกระทบเหล่านี้เกิดกับคนหนุ่มสาวในเมืองต่างๆ ทั่วโลก

“กลุ่มที่มาอาบป่ากับเรากลุ่มแรกๆ คือคนหนุ่มสาวที่ทำงานหนัก แต่เป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงข้อมูล เขารู้จักการอาบป่า เป็นแนวทางที่เขาสามารถเลือกที่จะใช้ธรรมชาติเยียวยา เขาทำงานหนักและเครียด ก็อยากมาบำบัด” ป้าแอ๊ด เล่าถึงกลุ่มคนที่เดินทางมายังบ้านกลางป่าแห่งนี้ นอกจากคนรุ่นใหม่ ยังมีครอบครัวที่ต้องการพาเด็กมาสัมผัสกับธรรมชาติ

“อาบ” เป็นกิริยาที่ทำให้เรานึกถึกการชโลมร่างกาย ทำให้ร่างกายเปียกชุ่ม การอาบป่าน่าจะมีความหมายในการทำให้จิตใจและร่างกายถูกชโลมด้วยธรรมชาติ

“จริงๆ แล้ว การอาบป่าก็คือการเข้ามาอยู่ในป่า เราจะเข้ามาทำกิจกรรมอะไรก็ได้ค่ะ แต่ขอให้เป็นความเรียบง่ายและสงบ แนวคิดการอาบป่าเป็นแนวคิดจากญี่ปุ่น เป็นกิจกรรมที่ใช้ผัสสะของเราเชื่อมโยงกับธรรมชาติในป่า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะออกแบบกิจกรรมในการเข้าไปอาบป่าอย่างไร”

“บางคนต้องการแค่มาเดินเฉยๆ มาปลดปล่อยอารมณ์ หรือปล่อยวางเรื่องราวหนักๆ ที่เขาเจอมา ป้าก็ปล่อยเขาเดินเฉยๆ แต่บางคนต้องการทำความรู้จักกับธรรมชาติ เขาจะถามเรา ป้าครับ ต้นอะไรครับ ถ้าเขาสนใจเรื่องต้นไม้ เรื่องพืชพรรณ เราก็แลกเปลี่ยนกัน เขาก็ได้ใช้ตาดู หูฟัง จมูกดม เด็ดผักมาเคี้ยว การใช้ผัสสะเหล่านี้ในป่า มันทำให้เขาลืมเรื่องโลกภายนอกไว้เบื้องหลัง มาอยู่กับธรรมชาติ เขาจะรู้สึกสบาย โปร่งโล่ง ไม่มีอะไรมารบกวนชั่วขณะเหล่านั้น” ป้าแอ๊ดเล่าให้ทีมมนุษย์ต่างวัยฟัง

ป้าแอ๊ดบอกว่ามีงานวิจัยศึกษาในประเทศญี่ปุ่นยืนยันว่า ป่าสามารถช่วยบำบัดร่างกายและจิตใจได้ดี มีการนำแนวคิดชินรินโยคุไปศึกษาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และมีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับให้เป็นวิธีการรักษาเชิงป้องกัน (Preventative healthcare) ที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น

ผลการศึกษาระบุว่า การอาบป่าส่งผลให้อารมณ์ คุณภาพในการนอนหลับ และการทำสมาธิดีขึ้น รวมทั้งสามารถลดฮอร์โมนความเครียด อารมณ์ซึมเศร้า และความดันเลือดได้ นอกจากนี้ ต้นไม้ในป่ายังปล่อยสารเคมีชื่อว่าไฟทอนไซด์ (Phytoncide) สามารถช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย

“คนหนุ่มสาวสมัยนี้ต้องแข่งขันสูง คนรุ่นใหม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากันมาก ความเครียดมันหลั่งมาจากสารเคมีในสมอง ซึ่งธรรมชาติเยียวยาได้ ป้าอยากให้เรื่องการอาบป่าแพร่กระจายในวงกว้าง เพราะป่ามีประโยชน์ต่อเราจริงๆ” ป้าแอ๊ดบอก

Into the Forest, Find My Soul

แอลเซอารดฺ บุฟฟิเยร์ เป็นตัวละครในหนังสือคนปลูกต้นไม้ (The Man Who Planted Trees) ซึ่งตามข้อมูลบอกว่า เขาย้ายไปอยู่ในดินแดนทุรกันดารเปลี่ยวร้างของแคว้นโปรวองซฺ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส หลังจากสูญเสียภรรยาและลูกชายไป เขาอยู่ตามลำพังกับฝูงแกะและสุนัขในกระท่อมหินหลังหนึ่ง และเริ่มงานอย่างมุ่งมั่น งานปลูกเมล็ดพันธุ์โอ๊กวันละ 100 เมล็ด เป็นการงานที่บุฟฟิเยร์ทำตลอดชีวิตของเขา ดินแดนทุรกันดารเขียวชอุ่มและมีชีวิตขึ้นมา

“นี่คือหนังสือในดวงใจของป้า ป้ามีความรู้สึกหลังอ่านว่า เมื่อเรารักอะไร เราต้องลงมือทำ” ป้าแอ๊ดเล่าถึงคนปลูกต้นไม้ และแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้คนๆ หนึ่งตัดสินใจใช้ชีวิตกับสิ่งที่รัก

หลายปีก่อนป้าแอ๊ดทำโฮมสเตย์ด้วยแนวคิดรักธรรมชาติ จนกระทั่งแขกที่มาพักทักว่าสิ่งที่ป้าแอ๊ดทำมีแนวทางคล้ายกับการอาบป่าในประเทศญี่ปุ่น จากนั้นป้าแอ๊ดก็เดินทางไปอาบป่าที่ญี่ปุ่น หลงใหล ศึกษา และกลับมาเริ่มต้นชวนคนมาทำกิจกรรมอาบป่าที่บ้านกลางป่า

“สิ่งแรกที่เราต้องทำคือการแนะนำความเป็นมาของแนวคิดการอาบป่า อยากให้เขากระจ่างก่อน แล้วพาเขาเข้าไปในป่า เราก็ตกลงกันว่า เวลาเดินเราจะเงียบสงบ ใช้ผัสสะทั้งห้า เป็นการอาบป่าในลักษณะเยียวยา เราลองวัดความดันก่อนอาบและหลังอาบ ว่าส่งผลอย่างไร ป้าไม่มีข้อสรุปนะว่าความดันหลังอาบป่าดียังไง แต่ป้าอยากทดลอง จดบันทึกเป็นข้อมูล จดไว้ตลอดว่า คนนี้ก่อนอาบป่าความดันเท่านี้ หลังอาบป่าความดันเท่านี้ แต่ตอนนี้ทันสมัยกว่าเดิม เพราะมีนาฬิกาวัดความเครียด

“ครั้งหนึ่ง มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งนอนลงไปบนพื้นแล้วเขาบอกเล่าประสบการณ์ของเขาว่า วันนี้ผมรู้สึกเหมือนอยู่บนโลก วันอื่นผมอยู่ในโลก แต่วันนี้ผมอยู่บนโลก”

จากนั้นมาการอาบป่าก็ได้รับความสนใจ และมีการพูดถึงมากขึ้น มีการสร้างเครือข่ายกันในพื้นที่อื่นๆ เป็นแนวร่วมในการผลักดันให้การอาบป่าเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

“ตอนนี้ป้าร่วมกับน้องๆ ที่ทำเรื่องอาบป่าในพื้นที่ต่างๆ รวมเป็นเครือข่าย ป้าแก่ที่สุดในบรรดาคนที่ทำกิจกรรมอาบป่า เราจะคุยกันระหว่างคนต่างวัยที่สนใจในเรื่องเดียวกัน เราควรจะปรับปรุงอย่างไร สำหรับกลุ่มที่ทำเรื่องอาบป่าด้วยกัน เป็นกลุ่มเล็กๆ เราได้ข้อสรุปว่า แต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างตามแต่ลักษณะของแต่ละคน แต่ละคนจะมีสไตล์ต่างกัน แต่ทุกคนก็อยู่ในบรรยากาศของการอาบป่าอย่างมีความสุข”

“สำหรับป้าความสุขของชีวิตคือกิจกรรมนี้ เรามีความสุข เราพบความหมายของมัน วัยขนาดนี้น่าจะทำอะไรให้ตัวเองมีความสุข ซึ่งตรงนี้มีความสุข แล้วยังให้ประโยชน์กับคนอื่นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่วัยอย่างเราควรจะทำ มันเหมาะกับชีวิตบั้นปลาย”

อะไรคือความสุขของการได้อาบป่า ความสุขของการได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านกลางป่าแบบนี้

“ความสุขจากการเป็นผู้ให้และผู้รับ ดีใจที่เป็นคนแก่ที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แล้วสิ่งที่ตัวเองรักมีประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย”

นี่คือความสุขของหญิงวัย 68 ที่อาศัยอยู่บ้านกลางป่า เธอเชื้อเชิญผู้คนให้เดินเข้ามาในป่าเพื่อค้นหาสิ่งที่อยู่ลึกในตน

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ