เทรนด์ใหม่ของเหล่ามนุษย์ทำงาน เมื่อ ‘ความสุข’ สำคัญมากกว่าแค่ ‘มีงานทำ’

จะเกิดอะไรขึ้น! ถ้าคน Gen Z และคน Gen Y ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนตลาดแรงงานในปัจจุบัน เลือกที่จะลุกขึ้นมาลาออก หรือยอมว่างงานทันทีที่พวกเขารู้สึกไม่มีความสุขในการทำงาน กระแส Quiet Quitting กับค่านิยมที่เปลี่ยนไปในหมู่คนทำงานรุ่นใหม่ อาจเป็นจุดที่ทำให้หลายองค์กรต้องปรับตัว หากต้องการรักษาคนเก่งให้ยังคงอยู่ในทีม

ตามรายงานผลการสำรวจล่าสุดของ Randstad บริษัทจัดหาบุคลากรยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก บอกว่า 56% ของคน Gen Z ยอมลาออกจากงานมากกว่าจะทำงานให้กับบริษัทที่พวกเขาไม่มีความสุข และคน Gen Y 43% จัดอันดับให้ไลฟ์สไตล์และความสุขมาเป็นลำดับต้นๆ ตามมาด้วยค่านิยมที่จะไม่เลือกองค์กรที่ไม่ส่งเสริมความหลากหลายของการอยู่ร่วมกัน

มนุษย์ต่างวัยชวนมาทำความรู้จักกับ SC Asset หนึ่งในองค์กรที่ได้รับเลือกว่าเป็น ‘องค์กรในฝัน’ ของคนทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์ และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุด ในอันดับที่ 17 ใน ปี 2023 เปิดแนวคิด ‘Freedom to Be Our Best’ ทำงานดี เต็มที่ในแบบของตัวเอง ที่เต็มไปด้วยความอิสระและรู้ใจคนทำงาน พร้อมด้วยสวัสดิการ 3 ดี ได้แก่ สมดุลดี สังคมดี อนาคตดี เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ตอบโจทย์คนทำงานทุก Gen โดยพูดคุยกับพนักงานหลากเจเนอเรชัน ตั้งแต่ X ,Y, Z ไปจนถึงระดับผู้บริหาร ที่จะช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไม ‘ความสุข’ จึงมีค่ามากกว่า ‘การมีงานทำแต่ต้องแลกมากับชีวิตพัง ๆ’

Inside SC – เทรนด์การทำงานยุคใหม่ที่เข้าใจคนทุก Gen
คำสารภาพจาก Gen X, Y, Z
Gen X (อายุ 44-54 ปี) งานที่ดีต้องมาพร้อมกับ Work Life Balance ที่ดี

“เดอะแบกอย่างเราให้ความสำคัญกับงานและครอบครัวเท่า ๆ กัน แต่ที่ผ่านมาพี่ติดอยู่กับค่านิยมเดิม ๆ คือต้องทำงานให้หนักเพื่อองค์กร เราจะได้เติบโตไปด้วย จนขาด Work Life Balance”

เมื่อเทรนด์การทำงานเปลี่ยนไป ค่านิยมของการทำงานในคนแต่ละ Gen ก็เปลี่ยนไปตาม พี่โบว์-สราพร เจนกุลประสูตร Lead learning solution provider Gen X เป็นคนแรกที่ขอมาแชร์ประสบการณ์การทำงานของตนเองในช่วงชีวิตที่ผ่านมา

“พี่เติบโตมากับการทำงานที่อยู่ในกรอบ ต้องมีพิธีรีตอง ยึดติดกับรูปแบบการทำงานที่เคยเป็นมา ค่านิยมในการทำงานของคนอายุ 25 ในยุคนั้นคือต้องขยันทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อเงินเดือนที่สูงขึ้น หรือโอกาสเติบโตในสายงาน ส่วนค่านิยมของคนที่รุ่นใหญ่กว่า ที่พี่ต้องทำงานด้วย ส่วนใหญ่ก็มีความเชื่อว่า ต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน คือทำงานหนักตลอดชีวิตเพื่อชีวิตหลังเกษียณที่สบาย

“แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เราในวัยกลางคนได้เข้ามาอยู่ในองค์กรที่ค่อนข้างให้อิสระทางความคิด มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง มันแตกต่างจากที่เราเคยเจอ แต่มันสบายใจมากขึ้น เรามีสมดุลชีวิตการทำงาน Work Life Balance ที่ดีขึ้น มีความสุขกับการทำงานมากขึ้น ไปถึงเป้าหมายได้โดยไม่ต้องกดดันตัวเองมากเกินไป”

ผู้บริหาร Gen Y (อายุ 23-38 ปี) อายุไม่เกี่ยวกับความสามารถ

“ก่อนที่ผมจะตัดสินใจเข้ามาทำงานที่ SC Asset ภาพที่มองจากมุมข้างนอกที่นี่เป็นองค์กรที่ค่อนข้างน่าสนใจ แต่ก็อดที่จะกังวลเรื่องการทำงานไม่ได้ เพราะเป็นองค์กรที่อยู่มานานกว่า 20 ปี คนที่จะเข้ามาทำงานต้องพิสูจน์ตัวเองขนาดไหนถึงจะได้รับการยอมรับ ผมจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานของตนเองได้เต็มที่ไหม และเรื่องของการอยู่ร่วมกัน เพราะต้องทำงานร่วมกับคนที่อายุเยอะกว่า แต่ว่าตำแหน่งเราอาจจะสูงกว่า คนที่เขาอยู่มานานจะโอเคหรือเปล่า เขาจะยอมรับเราหรือเปล่า”

คุณวิน-พงษ์เทวิน คุณาวัฒโนทัย Head of Business Transformation ผู้บริหาร Gen Y เล่าประสบการณ์ในช่วงก่อนที่จะตัดสินใจเข้ามาทำงานที่ SC Asset

“แต่พอได้เข้ามาทำงานจริง ๆ ผมไม่รู้สึกเลยว่าที่นี่ปิดกั้น หรือมองว่าผมเป็นแค่เด็ก ทำให้ค่อนข้างมั่นใจที่จะพูดคุย สบายใจที่จะสื่อสารกับคนหลากหลายวัย หลายแผนกที่มีความแตกต่างกัน ทำให้ผมและทีมสามารถทำในสิ่งที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่

“ตลอดการทำงาน 3 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเป็นประสบการณ์ที่สนุกมาก เหมือนที่นี่ปลูกฝังมายด์เซ็ตเรื่องความเท่าเทียมกัน และการยอมรับซึ่งกันและกัน ตั้งแต่วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร เพราะตอนสัมภาษณ์งาน ผมก็มีโอกาสสัมภาษณ์กับ CEO ซึ่งเขาไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเข้ามาแล้วจะต้องทำแค่ หนึ่ง สอง สาม สี่ ตามที่เขาเคยทำมา แต่เราสามารถสร้างสรรค์งานได้เต็มความสามารถ โดยทุกคนมองไปที่เป้าหมายเดียวกัน คือความก้าวหน้าขององค์กร”

พนักงาน Gen Y ‘ความสามารถ’ ต้องมาพร้อมกับ ‘โอกาส’

“การทำงานเดิมจนเป็นมืออาชีพเป็นเรื่องดี แต่ถ้าต้องได้ทำแต่งานนั้นซ้ำ ๆ ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับเราเสมอไป สิ่งที่เราต้องการคือ โจทย์ใหม่ ๆ ที่ท้าทาย และโอกาสที่ทำให้สามารถมุ่งไปสู่การพัฒนาตัวเอง เพื่อเติบโตในสายงาน”

เมย์-ภัทราภัณ์ ศรีเมืองลพ Community Manager Gen Y ประจำบ้านโครงการ SC Asset ผู้ผ่านงานด้านอสังหาฯ มาหลากหลายรูปแบบกับหลายองค์กร เล่าให้เราฟังว่า

“ตอนนี้เราอายุสามสิบต้น ๆ ยังไม่มีลูก ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องดูแลพ่อแม่ สิ่งที่เราต้องการคือ ได้ทำงานที่ท้าทายเพื่อโอกาสเติบโตในสายงานตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งตลอด 3 ปี ของการทำงานที่นี่ค่อนข้างตอบโจทย์

“ความที่เราเป็นคนมีแนวทางในการทำงานของตัวเองชัดเจน ชอบที่จะแสดงความคิดเห็น ซึ่งทุกครั้งที่พูดออกไป ความคิดเห็นของเราได้รับการตอบสนองเสมอจากเพื่อนร่วมงาน จากหัวหน้างาน และแทบจะทุกเรื่องที่ถูกนำไปทดลองลงมือทำร่วมกัน เรียกได้ว่าที่นี่ค่อนข้างเปิดกว้างให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็น

“ที่ประทับใจมากเลยคือ อยู่ที่นี่ทุกคนมีสิทธิ์พิสูจน์ผลงานเพื่อความก้าวหน้าในสายงาน ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ ตำแหน่งอะไร ทุกคนถูกวัดด้วยฝีมือเท่าเทียมกัน อยู่ที่ว่าใครจะคว้าโอกาสให้ตัวเองได้ก่อน

“จากเมื่อก่อนเรารับผิดชอบโครงการเล็กสุดมีบ้านอยู่ไม่กี่หลัง เราก็พิสูจน์ฝีมือตัวเองเต็มที่เมื่อมีโอกาส ไม่ว่าบ้านแบบไหน ขนาดเท่าไหร่ เราก็ทำได้ จนปัจจุบันมีโอกาสได้ดูแลบ้านในโครงการต่าง ๆ ของ SC Asset กว่าสี่ร้อยหลัง รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ท้าทายมาก และเป็นโอกาสที่เราจะได้เติบโตไปอีกขั้นตามที่ตั้งใจ ที่สำคัญเลยก็คือ เรารู้สึกว่าการทำงานที่นี่เรามีตัวตน มีคุณค่า ต่อให้เราเจอปัญหาเราก็ยังอยากตื่นมาทำงานทุกวัน”

น้องใหม่ Gen Z ความ ‘สบายใจ’ สำคัญกว่า ‘งานในฝัน’

บรีส-ชัชพิมุข ท้วมวงษ์ Site Engineer อายุ 22 ปี น้องใหม่ Gen Z เล่าว่า “สารภาพว่าวันแรกของการมาทำงานคือเกร็งมาก กดดันว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องปรับตัวขนาดไหนในการทำงานครั้งแรก เรียกว่าผมเป็นน้องเล็กสุดคนเดียวในทีม ซึ่งคนในทีมก็มีตั้งแต่ วิศวกร รุ่นพี่วิศวกร หัวหน้างาน ผู้จัดการโครงการ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ทุกคนมีทั้งความหลากหลาย ไม่ว่าจะอายุ ตำแหน่งงาน ประสบการณ์ ในขณะที่ผมเพิ่งเริ่มเรียนรู้สิ่งแวดล้อมใหม่ ไม่รู้ว่าจะต้องเข้าหาพี่ ๆ ในทีมยังไง ต้องวางตัวยังไง แต่พอถึงเวลาต้องเรียนรู้งานจริง ๆ พี่ ๆ เขาก็ค่อนข้างที่จะเปิดใจ หลังจากเสร็จงานเขาก็ชวนคุยเรื่องอื่น ถามไถ่ชีวิต แลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวกัน ทำให้จากที่เกร็ง ๆ ก็เริ่มรู้สึกสบายใจ พอต่างคนต่างได้เปิดใจคุยกัน เราก็เหมือนพี่เหมือนน้องกันเลยทันที

“ในมุมมองของผม ผมว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่อย่างพวกเรากลัว คือการที่ไม่สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมได้ แต่ที่นี่ค่อนข้างที่จะเปิดใจ และพร้อมให้โอกาสพวกเราในการค่อย ๆ ปรับตัว ทำให้อย่างน้อยเราได้มองเห็นว่าองค์กรนี้ก็มีพื้นที่สำหรับเรา ทำให้มีกำลังใจฮึดสู้ในการทำงาน อยากทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ และอยากที่จะเรียนรู้งานต่อไปเรื่อย ๆ”

พี่โบว์เล่าต่อว่า นอกจากทัศนคติในการทำงานของน้อง ๆ ในองค์กรที่แม้จะมีความแตกต่างกันอยู่หลายข้อ แต่เห็นได้ชัดว่ามีหนึ่งสิ่งที่เหมือนกันคือ ‘ความสบายใจ’ ในการทำงาน ที่ส่งผลต่อความสุขในการทำงาน

ยิ่งหลังช่วงวิกฤตโควิดที่ทำให้เทรนด์การทำงานใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น Work from Home ก็ยิ่งเป็นเหมือนตัวกระตุ้นครั้งใหญ่ที่ทำให้ SC Asset หันมาให้ความสำคัญกับพนักงานและการทำงานแบบ Hybrid โดยนำหลัก Empathy Culture มาปรับใช้ในงาน HR จนเป็นที่มาของแนวคิด ‘Freedom to Be Our Best’ ทำงานดี เต็มที่ในแบบของตัวเอง เพื่อรักษาพนักงานเก่าให้อยู่ไปได้นาน ๆ และสร้างเสน่ห์ดึงดูดคนใหม่ ๆ ให้หันมาสนใจจนอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม

“ก่อนที่เราจะมีแนวคิดสร้างความสุขให้กับคนทำงาน เราทำการจัดเวิร์กช็อป และทำโฟกัสกรุ๊ปในพนักงานทุกระดับ รวมถึงนักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่แบบจริงจัง แล้วเราก็พบว่า สิ่งที่พวกเขาแต่ละคนมองหาในชีวิตการทำงานคือ อิสรภาพในการเป็นตัวเอง ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว วัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง และการสนับสนุนทุกความแตกต่างหลากหลายไม่ว่าเรื่องเพศ หรืออายุ

“ทำให้เรามองเห็นว่า นอกเหนือจากวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องปรับตัว เรื่องของสวัสดิการก็เป็นอีกส่วนที่จะช่วยตอบโจทย์ชีวิตและสร้างความสุขให้กับน้อง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ใน Gen ไหนก็ตาม”

สวัสดิการในองค์กร สะท้อนวิธีคิด คุณค่าและวัฒนธรรมในองค์กร

พี่โบว์บอกว่า “สวัสดิการเป็นเรื่องพื้นฐานที่องค์กรต้องมีเพื่อดูแลพนักงานอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้มีสวัสดิการที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตคนทำงานยุคใหม่ และมองไปถึงภาระข้างหลังที่เขามีด้วย จึงเป็นที่มาของนโยบาย สมดุลดี สังคมดี อนาคตดี ที่มุ่งสร้างให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ยืดหยุ่นในการทำงานและปรับให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของพนักงานที่มีความแตกต่างหลากหลาย

เริ่มจากสวัสดิการ สมดุลดี ที่มีคอนเซ็ปต์คือ เน้นให้พนักงานมีอิสระในการจัดสรรเวลาตามหน้างาน มาจากแนวคิดการทำงานแบบ Hybrid Workplace เช่น พนักงานที่จำเป็นต้องเดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศสามารถที่จะ Work from anywhere ได้สัปดาห์ละ 2 วัน คือวันจันทร์กับวันศุกร์ หลีกเลี่ยงปัญหารถติด หรือสิทธิลาวันเกิด และยังมองไปถึงคนที่กำลังสร้างครอบครัว อย่างพ่อมือใหม่ ที่นี่ก็มีสวัสดิการให้ลาไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูกได้แบบ Work from Home 30 วัน

สังคมดี คอนเซ็ปต์ของสวัสดิการนี้ก็คือ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน ผูกสัมพันธ์กันอย่างจริงใจ เพื่อให้บรรยากาศการทำงานมีแต่คำว่าพี่น้อง รวมไปถึงการสนับสนุนความเท่าเทียม สวัสดิการคนโสดสำหรับคนที่อายุ 45 ขึ้นไปแต่ยังสถานะโสด ก็มีเงินให้ สวัสดิการสมรสเท่าเทียม

ส่วน อนาคตดี คือ การมอบสวัสดิการที่ส่งเสริมให้คนทำงานได้พัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อโอกาสเติบโตในสายงาน หรือผู้บริหารระดับสูงที่อยากจะ Reskill เพื่อเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด องค์กรก็มีงบสำหรับศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือหากใครอยากพัฒนาด้านไหนก็สามารถมาคุยไอเดียกัน ๆ ได้ เพื่อให้ตอบโจทย์คนที่ต้องทำงานจริง ๆ

ซึ่งถ้าถามว่ามีสวัสดิการไหนอีกบ้างที่คนแต่ละ Gen รู้สึกประทับใจ พี่โบว์เล่าในมุมของตนเองว่า “สำหรับในวัยของพี่คือเรื่องสุขภาพ อย่างตัวพี่อยู่ในวัยกลางคน ร่างกายถูกใช้งานมาเยอะแล้ว เราจะตรวจแค่สุขภาพพื้นฐานไม่ได้แล้ว การที่มีสวัสดิการให้เราสามารถเพิ่มการตรวจโรคที่คนในแต่ละช่วงวัยเสี่ยงจะเจอ เป็นเรื่องที่ดีและสำคัญมาก เพราะพี่มีภาระที่ต้องดูแลคนในครอบครัวด้วย ต้องดูแลให้ตัวเองแข็งแรงไว้ก่อน”

“ส่วนเมย์ ชอบสวัสดิการ Flexi-Benefits มากที่สุด เพราะเป็นสวัสดิการที่ให้งบเรามาดูแลตัวเองตามไลฟ์สไตล์ที่ชอบ เป็นเหมือนกำลังใจในการทำงาน ซึ่งเมย์ก็นำงบส่วนนี้ไปเลือกทำอะไรที่ช่วยให้เราดูดีขึ้น เช่น ซื้อเครื่องสำอาง เสื้อผ้า เข้าคอร์สความงาม เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง”

ส่วนบรีสบอกว่า “ลักษณะงานของผมคือออกไปทำงานตามไซต์งาน เรื่องความยืดหยุ่นเราได้ใช้ประจำอยู่แล้ว แต่ที่ผมรู้สึกว่ามันดีมาก ๆ คือ สวัสดิการอบรม เพิ่มความรู้ให้กับพนักงาน เพราะการทำงานจริงไม่เหมือนกับตอนเรียน ผมรู้สึกว่ายังมีทักษะอีกหลายอย่างมาก ๆ ที่ผมต้องการจะเรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงานจริง”

ส่วนคุณวิน แชร์ว่า ปัจจุบันหลาย ๆ องค์กรขาดแคลนคนทำงานโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ๆ และพยายามที่จะรักษาคนทำงานเดิมให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ แต่แค่เรื่องของการให้อิสระกับคนทำงาน หรือสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ไม่พอ จากประสบการณ์ตรงของเขาเอง วัฒนธรรมองค์กรที่ตรงปกกับภาพลักษณ์ที่องค์กรสื่อสารออกไป

และความยั่งยืนที่เกิดจากคนภายในองค์กรช่วยกันส่งเสริมต่างหากที่ทำให้ไม่ว่าพนักงานปัจจุบัน หรืออนาคตอยากที่จะร่วมงานด้วย

และเมื่อถามว่าแล้ว ‘องค์กรในฝัน’ ของแต่ละคนหน้าตาเป็นแบบไหน ทั้ง 4 คนตอบเหมือนกันว่า “องค์กรที่อยู่แล้วมีความสุข เป็นตัวของตัวเองได้ และรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า”

ถ้าองค์กรสามารถมอบสิ่งนี้ให้กับเหล่ามนุษย์ทำงานได้ พวกเขาก็พร้อมที่จะคิด สร้างสรรค์ผลงาน และพัฒนาตนเองให้เป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด โดยมองไปที่เป้าหมายเดียวกันคือ ‘คุณค่าที่ลูกค้าและความก้าวหน้าของตัวเองและองค์กร’

ชี้เป้าชวนเหล่ามนุษย์ทำงานที่กำลังมองหาความสุขและชีวิตดีๆ จากการทำงาน ไปร่วมงานกับ SC Asset ได้ที่ https://m.scasset.com/BcTE 

 อ้างอิงข้อมูล GEN Z AND MILLENNIALS PREFER TO BE UNEMPLOYED THAN BE UNHAPPY AT WORK 

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ