จากอาตี๋สู่อาหมวย LGBTQ+ คนแรกในครอบครัวคนจีน เมื่ออากง อาม่าและครอบครัว พร้อมเป็นลมได้ปีก

ต้อนรับเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) มนุษย์ต่างวัยขอชวนไปสัมผัสกับเรื่องราวชวนอบอุ่นหัวใจของ ชินณรัตน์ รักประกอบกิจ หรือ “เบิร์ด” วัย 24 ปี TikToker แห่งช่อง bbirdmill และ ครอบครัว “รักประกอบกิจ” ครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกในครอบครัวกว่า 40 คน และการก้าวผ่านช่วงเวลาสำคัญที่หลานชายคนเล็กของบ้านเปิดเผยว่าตัวเองเป็น LGBTQ+

สำหรับครอบครัวเชื้อสายจีนแล้ว การที่ลูกหลานในบ้านเปิดเผยตัวว่าเป็น LGBTQ+ โดยเฉพาะกับหลานชายแล้ว อาจไม่ใช่เรื่องที่คนในครอบครัวยากจะยอมรับ โดยเฉพาะในบ้านที่ยังคงมีอากง-อาม่าในวัยเกือบ 90 ปีที่เป็นเจอเนอเรชันเก่าแก่ แต่นั่นไม่ใช่กับขอบครัวของเบิร์ด

ป๊า-ม้า-อากง-อาม่า กับการเปิดใจรับฟัง และแรงสนับสนุนที่ให้ไม่มีวันหมด

“เราเริ่มสังเกตเขามาตั้งแต่เล็ก ๆ แล้ว เขาจะชอบบาร์บี้ เจ้าหญิงแอเรียล ตอนนั้นคิดว่าเขาคงชอบตามประสาเด็ก มารู้จริง ๆ ก็ตอนเขาอยู่ม. 3 เราเจอตลับแป้งในกระเป๋านักเรียน บอกตรง ๆ ว่าในช่วงแรกม้าก็รู้สึกไม่ดี แต่ก็พยามบอกทุกคนในบ้านให้เข้าใจเขา พยายามดึงเขาให้กลับมาอยู่กับครอบครัว

“ส่วนสมัยป๊าเรียนหนังสือ เราก็เคยเห็นเพื่อนเป็นแบบนี้ มันมีตั้งนานแล้ว แต่ตอนพวกเราเด็ก ๆ มีอะไรก็ไม่กล้าบอกพ่อแม่หรอก ทำอะไรก็ต้องแอบ ๆ เราไม่อยากให้ลูกเป็นแบบนั้น เลยพยายามเอาใจใส่ คุยกับเขาบ่อย ๆ ถามไถ่ว่าเป็นยังไง อยากเรียนอะไร อยากทำอะไร พยายามดึงให้เขาใกล้ชิดกับครอบครัว

“กว่าเราจะรับได้ก็ใช้เวลาเป็นปีเหมือนกัน จนตอนนี้เขาจะไปซื้อแป้งหรือน้ำหอมจะมีม้ากับพี่สาวไปด้วยตลอด (ยิ้ม) สำหรับบ้านเราแล้ว ไม่เคยคิดว่าการที่เขาเป็นแบบนี้เป็นสิ่งไม่ดีเลย นั่นมันตัวเขา ไม่ใช่ตัวเรา เราบังคับจิตใจเขาไม่ได้หรอก ลูกจะเป็นแบบไหนก็ได้ ขออย่าใปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น

“ตอนนี้เวลาเจอญาติ ๆ ก็จะบอกว่าเขากลายเป็นลูกสาวแล้วนะ ไม่เคยอายหรือปิดบังเลย บ้านเราจะบอกเขาเสมอว่า สิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาเป็นมันไม่ได้ผิดนะ ป๊าเคยถามเขาเหมือนกันว่าเลือกดีแล้วใช่ไหม ต่อจากนี้ลูกต้องอยู่กับชีวิตที่เลือกเองให้ได้นะ พอเราเห็นเขามั่นใจ พวกเราก็โอเคด้วย แต่สิ่งที่เรากังวลมากที่สุดคืออากง-อาม่า เราสองคนปรึกษากัน จนสุดท้ายป๊าบอกว่า ยังไงเขาก็เป็นลูกเรา เป็นหลานอากง-อาม่า ยังไงเราก็ต้องรับเขาให้ได้” คุณแม่ศิรินทิพย์ วจีเกตุฉวกาญ อายุ 58 ปี และ คุณพ่อวีระศักดิ์ รักประกอบกิจ 56 ปี กล่าว

LGBT อากง อาม่าไม่รู้จักแต่เขาจะเป็นอะไรเขาก็คือหลานของเรา

“อากงไม่เคยเรียนหนังสือ ไม่ได้ออกไปไหน คำว่า LGBT ก็เพิ่งรู้จักนี่แหละ แต่เราไม่เคยเรียกเขาว่ากะเทยเลยนะ เราจะเรียกเขาว่าอาเจ๊ (ไม่ใช่อาเฮีย) เขาก็ดีใจ ตอนนี้เขากลายเป็นอาหมวยเล็กของบ้านไปแล้ว (หัวเราะ) สำหรับบ้านคนจีน เป็นธรรมดาที่อยากได้ลูกชายมาสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้คิดอย่างนั้นแล้ว โลกมันเปลี่ยนไป เขาเป็นลูกหลานของเรา ต่อให้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็เหมือนกัน ยังไงเราก็รักเขาอยู่ดี ไม่เคยอายเลยที่หลานเป็นแบบนี้” อากงวิภาส และ อาม่าไซ้เกียว รักประกอบกิจ ในวัยเกือบ 90 ปีกล่าวเสริม

ถึงคนภายนอกจะยอมรับ แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับครอบครัว

“ตอนยังเด็ก เราไม่เคยรู้สึกว่าการเป็นแบบนี้ของเรามันผิด เราเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่ชอบตัวเองแบบนี้ แต่ก็กังวลมาตลอดว่าที่บ้านจะรับได้ไหม ถ้าบอกไปเขาจะโอเคหรือเปล่า เราเลือกที่จะไม่พูดมาตลอดแล้วให้เวลามันช่วยพาไปเอง แต่ที่บ้านเขาคงเริ่มสังเกตมาเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งเขาก็เรียกเรามาคุย

“ความรู้สึกแรกเลยคือ เขารู้ได้ยังไงว่าเราเป็น ตั้งแต่วันนั้นเลยเหมือนเราได้ปลดล็อกว่าเป็น LGBTQ+ และด้วยความที่เราอยู่ครอบครัวใหญ่ แต่ละสัปดาห์ก็ต้องมารวมตัวกัน พวกเขาก็เข้ามาถามเราทุกครั้งว่า เป็นเหรอ ? ทำไมต้องเป็น ? มันเป็นอย่างนี้นานกว่า 2 ปีเลยนะ แต่เขาดูเป็นห่วงเรามากกว่า เราได้เห็นเขารับฟังแล้วเข้าใจ มันช่วยเติมเต็มใจเรามาก ตอนนี้กลายเป็นว่าไม่ว่าจะทำอะไรทุกคนก็พร้อมสนับสนุนไปหมด

“สำหรับอากง-อาม่าที่อายุเยอะแล้ว เขาอาจไม่เข้าใจที่เราเป็น ช่วงแรกกังวลมากเพราะเรายังเด็กเกินไปที่จะคุยกับเขาเรื่องนี้ แต่มีอาโกว ป๊า และม้าคอยเป็นคนกลางที่ค่อยๆคุยกับเขาให้

“เราเคยเจอเพื่อนอากง-อาม่า เขาเข้ามาพูดกับเราทำนองว่า “ทำไมลื้อเป็นแบบนี้ ?” แต่อากง-อาม่ากลับปกป้องเรา เขาตอบเพื่อนไปว่าที่เราเป็นอย่างนี้ไม่เห็นจะผิดเลย ตอนนั้นมันเติมใจให้เรามาก เขาไม่เคยอายในตัวเราเลย เรารู้สึกดีมาก ทำให้เราเห็นว่าครอบครัวสำคัญมากจริง ๆ”

“สำหรับทุกคนในครอบครัว ลูกหลานเขาไม่สามารถเลือกได้หรอกว่าเขาจะเป็นชายจริง หญิงแท้ การเป็น LGBTQ+ มันไม่ใช่ความผิด แต่มันเป็นรสนิยม เป็นความชอบ การเป็น LGBTQ+ แล้วต้องออกมาเปิดตัวมันเป็นเรื่องกดดันมาก ๆ นะ แต่เมื่อเขาเป็นแล้ว ทุกคนควรหันหน้ามาคุยกันด้วยเหตุผล มันอาจเข้าใจยากสำหรับแต่ละช่วงวัย แต่ต้องใช้เวลา เข้าหากันคนละครึ่ง เราเชื่อว่าการมีพื้นฐานพลังใจจากบ้านที่ดีจะหล่อหลอมให้คน ๆ หนึ่งออกมาเป็นคนที่ดีได้อย่างแน่นอน เพราะมีบ้านที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย

เราเป็น LGBTQ+ คนแรกของบ้านในจำนวนญาติพี่น้อง 40 กว่าคน ถึงเราเป็นครอบครัวใหญ่และเป็นคนจีน แต่เรากลับโชคดีที่มีครอบครัวพร้อมสนับสนุนเต็มร้อย วันรวมญาติไม่เคยเป็นฝันร้ายเลยของเราเลย แต่เป็นเหมือนการรวมพลังใจต่างหาก” เบิร์ดกล่าวด้วยรอยยิ้ม

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ