ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช กับการเตรียมความพร้อมเพื่อความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงวัยไทย

ยกระดับทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน

กับงาน “ WE ARE READY ศิริราช Expo 2024” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4-5 พฤษภาคม 2567 ณ ไอคอนสยาม งานที่รวบรวมเอาเทคโนโลยีทางการแพทย์และความล้ำหน้าทางด้านการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลศิริราชมาจัดแสดงให้คนไทยได้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสถาบันทางการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ในการพัฒนาบริการและการเสริมสร้างสุขภาวะให้กับประชาชนชาวไทยทุกช่วงอายุ.

โดยในงานนี้ นอกจากวิทยาการล้ำหน้าทางการแพทย์แล้ว ยังมี 2 เวทีเสวนาที่น่าสนใจจากศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราชที่มาชวนพูดคุยถึงการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทั้งในฐานะผู้สูงวัย ผู้ดูแล ผู้ส่งเสริมศักยภาพผู้สูงวัย และตัวศูนย์วิทยาการเวชศาตร์ผู้สูงอายุศิริราชเอง ที่เริ่มเปิดให้บริการบางส่วนไปเมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ในการทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมความรู้ และการค้นคว้าวิจัย ที่จะช่วยให้บริการ ให้คำปรึกษา และให้องค์ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยอย่างยั่งยืน

โดยมีแขกรับเชิญในการร่วมเสวนา ได้แก่ ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ชาคิต พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของยังแฮปปี้ YoungHappy, แม่เม้า – สุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ, ดีเจพี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล จากคลื่นวิทยุ Greenwave, พี่หน่อย -ชุติมา แสนนนท์ Influencer เจ้าของเพจแต่งให้สวย Style 50+ และผศ. พญ. ฐิติมา ว่องวิรยะวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย โรงพยาบาลศิริราช ดำเนินวงเสวนาโดย ประสาน อิงคนันท์ ผู้ก่อตั้งเพจมนุษย์ต่างวัย
วงเสวนาแรกจากศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช ในหัวข้อเรื่อง “Siriraj Ready เพื่อสังคมสูงวัย เตรียมความพร้อมเพื่อความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงวัย” มีผู้ร่วมวงเสวนา 3 ท่าน ได้แก่ ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ชาคิต พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของยังแฮปปี้ YoungHappy และแม่เม้า-สุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ ที่มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัย

“เราพบว่ามีผู้สูงอายุมารับบริการที่ศิริราชเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้นถึง 4-5 เท่า เมื่อเทียบกับคนวัยหนุ่มสาว และเราพบว่าคนไข้เหล่านี้มักจะนอนโรงพยาบาลนานกว่า

“ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ดูแลคนไข้หนักมาก และสามารถปล่อยให้คนไข้กลับบ้านได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีคนไข้เฉียบพลันที่ต้องการเข้ารับการรักษาอีกมากและเข้าโรงพยาบาลไม่ได้

“เพราะฉะนั้นศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุสิริราช ที่จ.สมุทรสาคร
จะเป็นโมเดลที่เป็นโซ่ห่วงกลางให้คนไข้ที่จุดนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลใหญ่แล้วแต่ยังไม่พร้อมที่จะกลับบ้าน มาเข้ารับการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟู เราก็จะฟื้นฟูให้คนไข้แข็งแรงก่อนกลับไปอยู่บ้าน รวมทั้งให้ลูกหลานมาดูแล และเรียนรู้ว่าวิธีการดูแลคุณพ่อคุณแม่อย่างไรให้ถูกต้อง เพื่อให้คนไข้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมเมื่อกลับบ้านแล้ว

“จริง ๆ แล้วศิริราชมีการวางแผนเรื่องการดูแลผู้สูงอายุมากว่า 30 ปี สิ่งที่เราเชื่อมั่นคือผู้สูงอายุเป็นสมบัติของประเทศชาติ ผู้สูงอายุต้องมีสุขภาพที่ดี มีคุณค่า มีสิทธิและสวัสดิการที่เหมาะสม

“นโยบายเรื่องผู้สูงอายุเราครอบคลุมหมด ทั้งการส่งเสริม ป้องกันรักษา และฟื้นฟูบำบัด สิ่งที่เราเตรียมความพร้อมทั้งหมดมันไม่ใช่แค่เรื่องของการรักษา แต่หน้าที่ของเราคือการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนและสังคม”

“ปีนี้อายุ 79 ปีแล้ว ทุกวันนี้ยังขับรถได้ ถ้าหลงทางก็เปิด GPS ดูโลกทุกวันนี้ก้าวไปเร็ว คนแก่ต้องเรียนรู้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหากับเด็ก

“อยากบอกผู้สูงอายุว่าอย่าเพิ่งรีบบอกว่าทำอันนั้นไม่ไหว ทำอันนี้ไม่ไหว ทุกวันนี้ดิฉันยังออกไปทำงาน จัดตารางการทำงานเองได้โดยไม่ต้องมีผู้จัดการ ทำงานบ้านเอง กวาดห้องเอง ถูห้องเอง มันไม่ได้หนักหนาสาหัส

“และสำหรับเรื่องการดูแลจิตใจ อยากให้มองว่าโลกนี้สวยงาม อะไรที่มันขุ่นข้องหมองใจให้เก็บมันไว้ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ แก้ไข เชื่อว่าทุกสิ่งมีทางออก แก้ได้ไม่มีอะไรยาก นอกจากคุณทำให้มันยากเอง

“และที่สำคัญอยากให้คนสูงวัยดูแลตัวเองให้ดีจะได้ไม่ต้องไปหาคุณหมอ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย สุขภาพใจ อย่างการร้องเพลงช่วยให้คุณมีความสุขได้”

“คนเราเกิดมาแล้วจะเจอปัญหาสังคมสูงวัย 2 ครั้ง ครั้งแรกคือตอนที่ยังเป็นเด็ก เติบโตกันมาคนละยุคกับผู้สูงวัยที่บ้าน มีความไม่เข้าใจกัน เกิดเป็นปัญหาช่องว่างระหว่างวัย พออายุมากขึ้นบางคนอาจมีภาระดูแลพ่อแม่ที่เป็นผู้สูงวัย เพราะฉะนั้นสังคมสูงวัยไม่ได้เกิดตอนที่เราอายุ 60 แต่มันเกิดเมื่อเรามีคนรอบข้างอยู่ในภาวะสูงวัย

“ตัวผมก็เจอเรื่องนั้นเหมือนกันเพราะพ่ออยู่ในวัยเกษียณ ในฐานะลูกที่ดีเราอยากให้พ่ออยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร แต่ผ่านไปเกิดปัญหาพ่อเหงา พ่อเบื่อ พ่อเศร้า นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมอยากลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเพื่อสังคม หากิจกรรมที่อยากให้พ่อทำ

YoungHappy มาช่วยเติมเต็มให้ผู้สูงอายุออกมาทำกิจกรรม เราส่งเสริมเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เมื่อผู้สูงวัยอายุมากขึ้น มีช่วงชีวิตที่ยาวนานขึ้น คำถามคือทำอย่างไรให้เขายังคงแข็งแรงอยู่ คำตอบคือต้องมีเพื่อน มีสังคม มีกิจกรรม ทำให้สนุกผ่านกิจกรรม มีคุณค่าโดยการได้ออกไปช่วยเหลือสังคม และสุดท้ายคือการพึ่งพาตัวเองให้ได้เพราะไม่มีใครอยากเป็นภาระคนอื่น

“อีกหน่อยกำลังแรงงานในสังคมก็จะลดลง ลูกหลานทุกวันนี้จึงต้องมีบทบาทสำคัญ ในการช่วยเหลือสังคม สิ่งที่ภาคสังคม หรือภาคครอบครัวช่วยกันได้ในตอนนี้คือช่วยให้ผู้สูงวัยที่บ้านแข็งแรงให้นานที่สุด”

อีกหนึ่งเวทีเสวนาที่น่าสนใจเป็นการชวนคนวัย 50+ มาคุยกันถึงการเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้สูงวัยในอนาคต รวมถึงบทบาทของการเป็นผู้ดูแลผู้สูงวัย ในหัวข้อ “WE ARE READY พร้อมสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี และพร้อมดูแลคนที่เรารักให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี” กับ ดีเจพี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล จากคลื่นวิทยุ Greenwave , พี่หน่อย – ชุติมา แสนนนท์ Influencer เจ้าของเพจแต่งให้สวย Style 50+ และ ผศ. พญ. ฐิติมา ว่องวิรยะวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย โรงพยาบาลศิริราช

“การเตรียมตัวสำหรับการเป็นผู้สูงวัยที่ดีควรเริ่มตั้งแต่อายุเท่าไหร่?” จริง ๆ แล้วควรเตรียมตั้งแต่วัยเด็กถ้าทำได้ แต่สำหรับวัยที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเรื่องการดูแลสุขภาพคือวัยผู้ใหญ่ หรือวัย 40-60 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สำคัญมาก หากเราไม่มีโรค ไม่มีความดัน ไม่มีไขมันสูง ไม่มีเบาหวาน และรู้จักออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเมื่ออายุมากขึ้นก็จะกลายเป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรง หรือถ้าอายุมากแล้วก็ไม่ต้องคิดว่าสายเกินไปจริง ๆ เราเตรียมตัวได้ตลอด เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มรู้สึกตัวแล้ว ให้เริ่มต้นดูแแลตัวเองได้เลย

“การออกกำลังกายที่แนะนำคือ การออกกำลังกายแบบ Aerobic Exercise คือการออกกำลังกายที่ช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้น ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องรวดเดียว แต่ขอให้ทำอย่างสม่ำเสมอ ทำจนติดเป็นนิสัย ในอนาคตเราก็จะเป็นคนที่ชอบออกกำลังกายมากขึ้น

“เรื่องของใจก็สำคัญ จริง ๆ แล้วจิตใจกับร่างกายคุยกันตลอด ถ้าใจมีความสุข ร่างกายก็จะดีขึ้น เพราะว่าฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความสุขจะหลั่งออกมาในปริมาณที่พอเหมาะ ฮอร์โมนความเครียดก็จะลดลง ส่งผลต่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด

“คนไข้ที่มีโรคสมองเสื่อม พื้นเดิมอาจจะเป็นคนที่เครียด มีความกังวลมาก และอาจเป็นคนที่ใจร้อน แต่ในคนที่สูงวัยแล้วยังความจำดี สมองดี สุขภาพแข็งแรง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าพื้นเดิมเป็นคนจิตใจดีมาก อารมณ์ดี ร่าเริง คิดบวก บางคนต่อให้สมองเสื่อมแล้วก็จะเป็นคนสมองเสื่อมที่อารมณ์ดี น่ารัก ถ้าเราเตรียมกายใจตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เวลาอายุเยอะขึ้นมันก็จะติดตัวเราไป เราก็จะอยู่กับคนรอบข้างได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

“จริง ๆ มีผู้สูงอายุส่วนหนึ่งที่พอเกษียณแล้วซึมเศร้า และมีจำนวนที่พอ ๆ กับวัยอื่น ๆ สำหรับคนอายุน้อย ๆ เวลาเป็นซึมเศร้า เขาก็จะบอกได้เลยว่ารู้สึกเศร้า รู้สึกไม่มีคุณค่า แต่ผู้สูงอายุจะไม่พูดแบบนั้น แต่จะมีลักษณะหงุดหงิด โมโหง่าย หรือมาด้วยอาการความจำไม่ดี หลงลืม อาจจะไม่ได้เป็นอัลไซเมอร์ แต่จริง ๆ แล้วเป็นโรคซึมเศร้า ให้ลูก ๆ ลองสังเกตดูว่าพ่อแม่มีอาการสมาธิสั้นลงไหม นอนหลับแล้วตื่นง่ายหรือเปล่า หรือมีอาการฉุนเฉียวง่าย อาจเป็นอาการของโรคซึมเศร้า

“อายุมากเป็นแค่ความเสี่ยงให้ป่วยมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคทุกคน ดังนั้นถ้าเจอความผิดปกติ แนะนำว่าให้มาปรึกษาหมอก่อนว่าสิ่งนี้เป็นความผิดปกติ หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงตามวัย ถ้าเราเจอความผิดปกติแต่เนิ่น ๆ และได้รับการรักษาเร็ว สุขภาพก็ดีขึ้น ในระยะยาวภาวะผู้สูงวัยที่อยู่ในขั้นพึ่งพิงก็จะน้อยลง ความเจ็บป่วยทางกาย ทางใจ ก็จะน้อยกว่า ดีกว่าปล่อยติดเตียงไปแล้ว คนไข้มีอาการหนักแล้วถึงมารักษา หมอก็จะรักษาไม่ทัน

“สำหรับโปรเจคล่าสุดที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเรื่องสังคมสูงวัย ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช ที่มีแนวคิดหลัก คือการทำอย่างไรให้สูงวัยไปด้วยกันอย่างมีคุณภาพ เริ่มตั้งแต่การคัดกรอง ในวัยที่ยังไม่เกษียณ มาตรวจคัดกรองสุขภาพ เพื่อที่เราจะได้ให้คำแนะนำ และวิธีการดูแลตัวเองต่อไปให้อายุที่มากขึ้นเป็นแค่ตัวเลข

“มีกลุ่มอาการผู้สูงอายุที่พบบ่อย เช่น เดินไม่ค่อยมั่นคงหรือเดินช้า อย่างการเดินควรมีอัตราเร็วให้เกิน 1 เมตรต่อวินาที หรือการลุกนั่งที่เก้าอี้ ถ้า 5 ครั้ง ใช้เวลาเกิน 12 วินาที ถือว่าผิดปกติ หากตรวจเจอก่อน ทางศูนย์ ฯ ก็มีการให้คำแนะนำ โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ

“และศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราชยังรองรับในส่วนของ Intermediate Care หรือการดูแลในระยะกลาง เราสร้างศูนย์ฯ นี้ขึ้นมาเพื่อเติมเต็มห่วงโซ่ที่มันหายไป ศิริราชตั้งใจว่าจะทำให้สังคมเราสูงวัยไปด้วยกันอย่างมีคุณภาพ และเป็นต้นแบบให้ที่อื่น ๆ ทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน มาดูเป็นตัวอย่าง และนำโมเดลนี้ไปใช้ เพื่อให้สังคมเราอยู่กันได้อย่างมีความสุขทุกวัย”

“ตัวเองมีบทเรียนจากคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อเป็นมะเร็งไทรอยด์อยู่ระหว่างการฟื้นฟู ส่วนคุณแม่เป็นลมชักตั้งแต่เด็ก ผ่าตัดบ่อย และมีอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ ตอนที่เราดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่เจ็บป่วย เรามักจะพูดกับตัวเองเสมอว่า ‘วันหนึ่งก็เป็นเรา’ เลยทำให้เรานึกย้อนกลับไปว่า ถ้าเราจะชะลอทุกอย่างให้เสื่อมน้อยที่สุดได้เราจะทำอย่างไร

“เพราะฉะนั้นลูก ๆ ต้องดูแลตัวเองให้แข็งแกร่งก่อน พอเราแข็งแรงเมื่อไหร่ เราจะภาคภูมิใจในตอนที่เราได้ดูแลคนที่เรารัก สิ่งหนึ่งที่บอกตัวเองเสมอ คือดูแลตัวเองได้เป็นเรื่องปกติ ดูแลคนอื่นได้เป็นเรื่องของความภาคภูมิใจ

“หลักการที่เอาไว้ดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านคือ ดูแลความเป็นอยู่และต้องเป็นสุขด้วย และอย่าใช้ไม้บรรทัดของเราไปตัดสิน มาตรฐานของเราอาจจะคิดว่าทำได้ แต่จริง ๆ เขาอาจจะไม่มีความสุข อย่าเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ให้เราร่วมมือกัน

“เราห้ามความสูงวัยไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะเป็นคนสุขภาพดีตามวัยได้ อย่าเพิ่งรังเกียจความสูงวัยของตัวเอง เวลาคนถามอายุจงตอบอย่างภาคภูมิใจ การที่คน ๆ หนึ่งดูแลชีวิตตัวเองมาถึงทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้มีโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างที่สามารถทำลายชีวิตเราได้ แต่ถ้าเราอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ จงภาคภูมิใจว่าเราเก่งมากพอ ที่เราสามารถประคองตัวเองมาถึงวันนี้ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกกับความสูงวัยของเราในทางบวก เราจะเริ่มต้นสนุกกับมัน”

“จริง ๆ ไม่ใช่คนที่แต่งตัวมาก่อน แต่โดนทักว่าทำไมดูแก่จัง ก่อนหน้านี้เป็นคนที่ทำแต่งานแล้วไม่ค่อยได้ดูแลตัวเองเท่าไหร่ พอมีคนทักก็รู้สึกเฟลไปหลายวัน กลับไปบ้านไปมองกระจกก็รู้สึกว่าเราโทรมแบบนั้นจริง ๆ สุขภาพก็ไม่ได้ไม่กระฉับกระเฉงเพราะทำแต่งานทั้งวัน อยู่กับความเครียด

“จุดเปลี่ยนคือไม่อยากให้เขามาว่า ว่าเราดูสูงวัย ทั้ง ๆ ที่เราตอนนั้นก็อายุยังไม่ถึง 50 เลย หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง ตอนแรกคิดแค่ว่า ‘ชีวิตคนเราแค่ทำงานประสบความสำเร็จก็โอเคแล้ว’ แต่ลืมนึกถึงเรื่องสุขภาพ เรื่องบุคลิกภาพ เรื่องการแต่งตัว ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

“พอเริ่มหันมาดูแลตัวเอง เริ่มแต่งตัวให้มีสีสัน เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อนฝูงก็ทักว่าทำไมดูดี ดูสดใส กระชุ่มกระชวย เวลาเราสดใส คนรอบตัวเราก็มีความสุข หลังจากนั้นก็เลยรู้สึกอยากเอาสิ่งที่เราทำ ไปเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนวัยเกษียณ หรือคนที่เขาไม่ได้ดูแลตัวเองเหมือนกับเราในสมัยก่อนก็เลยทำเพจแต่งให้สวย Style 50+ เพราะเรามีความสุขมาก ที่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง

“ทุกวันนี้มีเป้าหมายคืออยากเป็นคนที่อยู่ในวัยเกษียณ และยังแข็งแรงมากๆ ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่เป็นภาระลูกหลาน ตอนนี้พยายามออกกำลังกายทุกวัน และที่สำคัญคืออยากเป็นผู้หญิงที่ยังสวยและแซ่บอยู่”

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ